Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

80 ปีการเสียชีวิตของ ลีออน ตรอทสกี้

Leon

โดย กองบรรณาธิการ

ลีออน ตรอทสกี้ คือนักปฏิวัติรัสเซีย เป็นแกนนำร่วมกับ เลนิน ในการปฏิวัติ 1917 และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาคนงาน “โซเวียด” ที่เมืองเพทโทรกราด ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียในยุคนั้น ต่อมา ตรอทสกี้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองทัพแดง ซึ่งเป็นกองทัพปฏิวัติที่ต้องออกมาปกป้องสังคมใหม่ที่เกิดจากอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพ และในที่สุด ตรอทสกี้ นำกองทัพแดงสู่ชัยชนะด้วยยุทธศาสตร์การใช้การเมืองนำการทหาร ซึ่งทำให้ทหารเข้าใจว่าเขารบเพื่อชนชั้นตนเองและสังคมนิยม

ตรอทสกี้ เป็นนักมาร์คซิสต์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกู้แนวทางมาร์คซิสต์สังคมนิยม จากปัญหาความผิดเพี้ยนของเผด็จการ สตาลิน เพราะข้อวิจารณ์ของ ตรอทสกี้ เป็นรากฐานกำเนิดความคิดสังคมนิยมสมัยใหม่ที่กลับไปศึกษา มาร์คซ์ กับ เลนิน จนเป็นกระแสหลักที่เราพบในโลกปัจจุบัน หลังที่บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกล่มสลาย

ตรอทสกี้ ยืนยันว่าสังคมนิยมเป็นสิ่งที่กรรมาชีพรากหญ้าต้องสร้างเอง ผ่านการปฏิวัติที่มีกลไกประชาธิปไตยของกรรมาชีพเอง เขายืนยันว่ากรรมาชีพไม่ต้องไปประนีประนอมกับนายทุนในการต่อสู้

ทฤษฏีการปฏิวัติถาวร และการพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ ที่ ตรอทสกี้ เสนอ อธิบายว่าทุกส่วนของโลกถูกลากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกันแต่ละพื้นที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการเข้าใจโลกที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน และแตกต่างจากมุมมองที่เสนอว่าประเทศด้อยพัฒนายังไม่เป็นทุนนิยมเต็มใบ

ปัญหาลัทธิสตาลิน

ชัยชนะของกองทัพแดงในการปกป้องการปฏิวัติรัสเซีย ได้มาด้วยราคาสูง คนงานก้าวหน้าล้มตายจำนวนมาก และสภาพเศรษฐกิจก็ตกต่ำ เลนิน เตือนว่าในสภาพเช่นนี้การปกครองของชนชั้นกรรมาชีพจะสูญหายไป และข้าราชการจะเข้ามาแทนที่และทำลายสังคมนิยม ในปี 1921 หลังชัยชนะในสงครามกลางเมือง รัสเซียมีข้าราชการ “แดง” 5.9 ล้านคน แต่กรรมกรภาคการผลิตแค่ 1.25 ล้านคนเอง หลังจากที่ เลนิน เสียชีวิต ตรอทสกี้ ต้องเปิดศึกสู้กับพวกข้าราชการแดง

ในปี 1929 ตรอทสกี้ อธิบายว่า “พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ซึ่งตั้งตัวเหนือกรรมาชีพธรรมดา มักจะมีทัศนะทางการเมืองที่อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว นี้คือฐานมวลชนของ สตาลิน”

ตรอทสกี้ เตือนว่า สตาลินกำลังทำลายความใฝ่ฝันทุกอย่างของนักปฏิวัติ 1917

สตาลิน ต้องการทำลายความคิดปฏิวัติ แบบมาร์คซิสต์ ที่เชื่อว่าคนธรรมดาปกครองตนเองได้ และกรรมาชีพเป็นพลังสำคัญที่สุดในการสร้างสังคมนิยม เพราะ สตาลิน ต้องการพัฒนารัสเซียในรูปแบบรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ หรือที่เรียกว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” เพื่อแข่งขันกับมหาอำนาจตะวันตกทั้งในเรื่องอุตสาหกรรมหนักและอาวุธ รัฐข้าราชการของ สตาลิน ใช้การขูดรีดแรงงานอย่างสุดขั้วและอำนาจทหารในรูปแบบจักรวรรดินิยม เขาปฏิเสธแนวของ เลนิน และตรอทสกี้ ที่จะส่งออกการปฏิวัติเพื่อให้กรรมาชีพสหรัฐและยุโรปตะวันตกมีส่วนในการปฏิวัติสากล และหันมาเสนอว่า “สังคมนิยม” สร้างในประเทศเดียวได้ พร้อมกันนั้น สตาลิน สั่งให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับชนชั้นในทุนในประเทศต่างๆ เพื่อปกป้องไม่ให้นายทุนเหล่านั้นคิดจะโจมตีรัสเซีย ข้ออ้างในการทำแนวร่วมกับนายทุนคือการเสนอ “ขั้นตอน” ปฏิวัติไปสู่ “ประชาชาติประชาธิปไตย” ก่อนที่จะไปสู่ “สังคมนิยม”

เมื่อ สตาลิน ยึดอำนาจในรัสเซีย เขาขับไล่ ตรอทสกี้ ออกจากประเทศ และหลังจากนั้นมีการส่งฆาตกรให้ไปไล่ฆ่า ตรอทสกี้ และครอบครัว จนในที่สุดตามฆ่า ตรอทสกี้ ได้ที่เมคซิโกได้ ส่วนในรัสเซียมีการตัดต่อภาพและลบรูป ตรอทสกี้ ออกจากประวัติศาสตร์ทางการ มีการห้ามอ่านงานเขา และนโยบายนี้กระจายสู่พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ตรอทสกี้ สรุปว่า “การสสถาปนาเผด็จการสตาลินทำได้เพราะมีการสร้างเหตุการณ์นองเลือดมหาศาล จนอุดมการณ์ทั้งหมดของการปฏิวัติ 1917 จมหายไป”

ตรอทสกี้ สู้ตลอดชีวิตเพื่อปกป้องอุดมการณ์สังคมนิยมและความเชื่อว่ากรรมาชีพสร้างสังคมใหม่ได้

งานเขียนสำคัญของ ตรอทสกี้ มีมากมาย เช่น

  1. งานประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซีย และการทำลายอุดมการณ์สังคมนิยมภายใต้รัฐข้าราชการของ สตาลิน
  2. งานที่อธิบายความสำคัญและวิธีการในการสร้าง “แนวร่วม” ระหว่างนักปฏิวัติกับนักปฏิรูป ท่ามกลางการขึ้นมาของฮิตเลอร์ในเยอรมัน โดยมีการวิจารณ์นโยบาย “ซ้ายจัด” ของ สตาลิน
  3. งานที่วิเคราะห์ความสำคัญในการปกป้องจุดยืนมาร์คซิสต์ของพรรคคอมมิวนิสต์ แทนที่จะสลายเข้าไปในพรรคชาตินิยมของนายทุน อย่างที่ สตาลิน ทำในจีน จนพรรคคอมมิวนิสต์เกือบสูญพันธ์ไปในปี 1926
  4. ทฤษฏีปฏิวัติถาวร และการพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ
  5. งานเขียนเรื่องวรรณคดี และศีลปะ

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ

“กฎแห่งการพัฒนาในรูปแบบองค์รวมและต่างระดับ เห็นได้ชัดเจนที่สุดในประวัตศาสตร์และลักษณะของอุตสาหกรรมรัสเซีย อุตสาหกรรมรัสเซียเติบโตขึ้นมาหลังที่อื่นแต่ไม่ได้ซ้ำรอยการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศที่เจริญ เพราะสามารถแทรกเข้าไปในขั้นตอนล่าสุดของการพัฒนาในประเทศที่เจริญโดยเอาการพัฒนาสมัยใหม่มาดัดแปลงใช้กับความล้าหลังของรัสเซียได้”

“ในปี 1914 35%ของคนงานสหรัฐทำงานในธุรกิจขนาดย่อมที่มีคนงานน้อยกว่า 100 คน แต่ในรัสเซียคนงานแค่ 17.8%ทำงานในธุรกิจขนาดย่อม…… ในเขตเมืองเพทโทรกราด และ 44.4% ของคนงานทำงานในโรงงานที่มีคนงานมากกว่า 1000 คนขึ้นไป”

“ชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียมิได้ค่อยๆเติบโตจากกลุ่มช่างฝีมือในเมือง อย่างในประเทศอังกฤษ แต่เติบโตอย่างรวดเร็วจากเกษตรกร…. สิ่งนี้ บวกกับการกดขี่อย่างหนักภายใต้พระเจ้าซาร์ ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียเปิดรับความคิดปฏิวัติแบบก้าวหน้าและกล้าหาญที่สุดได้ง่าย เหมือนกับอุตสาหกรรมล้าหลังของรัสเซียที่สามารถเปิดรับวิธีการผลิตระดับล่าสุดของระบบทุนนิยมได้”

[Trotsky The history of the Russian Revolution (1977) Pluto Press p 30]

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com