Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ก้าวหน้าของประเทศเปรู

แปลและเรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายเปโดร คาสตีโญ แห่งเปรู เป็นกำลังใจให้ฝ่ายซ้ายทั่วโลก

โซฟี สไควเออร์ แบ่งปันมุมมองประวัติศาสตร์การต่อสู้และเตือนถึงเหตุการณ์ในอนาคต

“ไม่มีคนจนในประเทศที่ร่ำรวยอีกต่อไป” คือสโลแกนหาเสียงของผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งเปรู นายเปโดร คาสตีโญ ซึ่งสโลแกนนี้ถูกอกถูกใจประชาชนนับล้านที่นับวันลำบากยากแค้นลง แม้จะอาศัยในประเทศที่อุดมไปด้วยสินแร่

สโลแกนนี้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เปรูซึ่งผ่านยุคล่าอาณานิคมอย่างล้มลุกคลุกคลานและถูกผลักดันด้วยความโลภของกลุ่มชนชั้นปกครองและนายทุน

นักล่าอาณานิคมชาวสเปน นายฟราสซิลโก ปิซาร์โร เป็นชาวยุโรปรายแรกที่ยกทัพมาพิชิตเปรูเมื่อได้ทราบว่าที่นี่อุดมไปด้วยสินแร่ทองคำ

ดินแดนที่กลายมาเป็นเปรูในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองคืออาณาจักรอินคา ซึ่งเกิดจากการพิชิตและควบรวมดินแดนของเผ่าต่างๆ ในพื้นที่

อาณาจักรอินคากินพื้นที่เป็นแนวยาวพาดผ่านทวีปละตินอเมริกา ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ประเทศโบลิเวีย เอกวาดอร์ ชิลี โคลัมเบีย อาร์เจนตินา ไปจนถึงเปรู

หลังจากที่นักล่าอาณานิคมปิซาร์โรล้มเหลวในการยึดดินแดนที่จะกลายมาเป็นเปรูถึงสองครั้ง เขาก็ได้เคลื่อนพลครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1531 นักรบอินคานับพันเข้าต่อสู้ปกป้องดินแดนของตน ถูกทหารชาวสเปนสังหารอย่างโหดเหี้ยม เมืองต่างๆ ถูกปล้นสะดมและทำลายเพื่อนำทองออกไปเป็นจำนวนมหาศาล

ยุคอาณานิคม

เมื่ออาณาจักรอินคาตกเป็นอาณานิคม ชาวสเปนเข้ากดขี่ขูดรีดแรงงานชาวพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง

ก่อนยุคอาณานิคม ชนชั้นปกครองอินคาในระบบไมตา (คล้ายระบบไพร่) ให้ผู้ชายอายุเกิน 15 ปีขึ้นไปทุกคน ต้องมาทำงานให้กับชนชั้นปกครองช่วงหลายวันในแต่ละปี

ในปี ค.ศ.1605 ชาวสเปนได้สร้างระบบแรงงานทาสขึ้นเพื่อบังคับใช้ชาวพื้นเมืองให้ทำงานในเหมืองทอง เงิน และปรอท ซึ่งการใช้แรงงานทาส สงคราม และโรคระบาดที่มากับชาวสเปน ทำให้ในช่วงเวลาเพียง 100 ปี เกิดการล้มตายของประชาชนหลายล้านชีวิต จากแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ประมาณการไว้ว่า ประชากรในเปรูลดลงถึง 93% ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม

และตัวเจ้าอาณานิคมเองก็กล่าวอ้างว่า การสังหารชาวพื้นเมืองเพราะว่าชนพื้นเมืองเป็นพวกคนเถื่อนที่จะมาแย่งผลประโยชน์จากการปกครองของสเปน

เมื่อจำนวนแรงงานลดลง ชาวสเปนก็นำแรงงานทาสแอฟริกันเข้ามาแทน ชาวพื้นเมืองไม่เคยยอมจำนนต่อเจ้าอาณานิคมเข่นฆ่าพวกเขามาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ จึงพยายามโค่นล้มการปกครองของเจ้าอาณานิคมหลายต่อหลายครั้ง

การลุกฮือครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1780 ในยุครุ่งเรืองของอาณานิคมที่พวกสเปนเข้ามาควบคุมการซื้อขายอย่างเข้มงวด ทำให้ชาวบ้านประสบภาวะอดอยากหนักขึ้นไปอีก

กลุ่มกบฎชาวพื้นเมืองนำโดยโฮเซ เกเบรียล ทูพัค อมารู ได้ลักพาตัวและฆ่าผู้ปกครองท้องถิ่นในเขตตินตา หลังจากนั้น อมารูและพวกพ้องของเขาได้เดินทางไปทั่วเปรูเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกระบบแรงงานทาสและให้มีการปฎิรูปการปกครอง

กลุ่มกบฎได้ยึดพื่นที่ในเขตตินตา กัลกา ควิสปิกันชิส และโกตาบัมบาส สังหารกลุ่มเจ้าอาณานิคมและปล้นสะดมที่ดินของพวกนั้น

แม้ว่าอมารูจะถูกกลุ่มชาวสเปนจับกุมและประหารชีวิตในปี ค.ศ.1781 ขบวนการลุกฮือก็ยังคงดำเนินต่อไปแต่ถูกตัดตอนอย่างโหดเหี้ยมในปีต่อมา

การปกครองของชาวสเปนจบลงในปี คศ.1826 หลังสงครามแห่งอิสรภาพในเปรู ซึ่งกลุ่มชนชั้นสูงบางส่วนต่อสู้เพื่อแยกตัวออกจากอาณาจักรสเปน แต่ชีวิตของชาวเปรูก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากยุคอาณานิคมเท่าไหร่

ยังมีการใช้ระบบการสืบทอดอำนาจเดิมที่วางชนชั้นปกครองชาวยุโรปไว้บนสุด ส่วนชาวพื้นเมืองและคนผิวดำไว้ล่างสุด ซึ่งเมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 20 ก็เกิดยุคเข็ญของการต่อสู้ของเหล่าชนชั้นแรงงานในระบบอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

กลุ่มอนาธิปไตยเป็นแกนนำนัดหยุดงานทั่วประเทศ กลุ่มกรรมกรสิ่งทอในปี ค.ศ.1919 และจากการนัดหยุดงานนี้เองทำให้มีนโยบายชั่วโมงทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง

แต่พวกนายทุนก็ยังปฏิเสธการขึ้นค่าแรงตามคำขอ การนัดหยุดงานจึงดำเนินต่อไป มุ่งเรียกร้องให้อดีตประธานาธิบดีนายเอากุสโต บี เลกียาในเวลานั้นกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง โดยเชื่อว่าเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อนายเลกียากลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง แทนที่เขาจะเห็นชอบกับความเคลื่อนไหวของกรรมกรที่รวมตัวกัน เขากลับยับยั้งความเคลื่อนไหวนี้ และขับเคลื่อนเปรูไปสู่ระบอบเผด็จการ

ซึ่งในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่ง เขาพยายามที่จะควบคุมสื่อของฝ่ายซ้าย และทำให้ผู้บริหารสำนักข่าวเหล่านั้นพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งหนึ่งในผู้บริหารสื่อเหล่านั้นก็คือนายโฮเซ คาร์ลอส มาราเตกี

นายมาราเตกีเป็นนักประวัติศาสตร์ นักข่าว และนักจัดตั้งสหภาพแรงงาน และยังเป็นนักมาร์กซิสต์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในทวีปละตินอเมริกา

เขาได้ศึกษาประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของเปรูทั้งก่อนและหลังยุคอาณานิคม และเสนอบทวิเคราะห์สำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของการล่าอาณานิคมต่อภูมิภาคนี้ มาราเตกียังกล่าวไว้เกี่ยวกับช่องว่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และชนชั้นในแง่ความสำคัญต่อการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมด้วย

เขาได้เขียนไว้ในปี 1927 ว่า การปกครองระบอบสังคมนิยมจะมีการจัดลำดับ และให้ความสำคัญของประชาชนคนส่วนใหญ่ (มวลชน) และชนชั้นกรรมาชีพมาก่อน ซึ่งในเปรูมีประชากรเป็นชนพื้นเมืองถึงสี่ในห้าส่วน ดังนั้น สังคมนิยมของเราจะต้องประกาศเจตจำนงสมานฉันท์กับกลุ่มชนพื้นเมือง

มาราเตกียังเชื่อว่าแนวคิดมาร์กซิสต์ไม่ใช่แนวคิดที่ตายตัวหรือปรับแก้ไม่ได้ เขาเชื่อว่ามันคือเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ใช้ในการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่เพื่ออิสรภาพที่แท้จริง

และหลายๆ ครั้ง นายมาราเตกีก็เน้นย้ำว่าหัวใจสำคัญของการโค่นล้มระบบเดิม คือการลุกขึ้นสู้ของมวลชนคนพื้นเมือง

การต่อสู้

มาราเตกีไม่ได้มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐสามารถโจมตีได้ง่ายกว่า การนัดหยุดงานในพื้นที่เป็นวงกว้างทั่วละตินอเมริกา หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1930 ฝ่ายขวาก็พยายามที่จะกลบฝังแนวคิดนี้ให้หายไป แต่ก็กลับมาในช่วงการต่อสู้ของชนพื้นเมืองในทศวรรษ 1960s

ซึ่งช่วงนี้เองเป็นชนวนเริ่มต้นของสงครามกองโจรที่กินเวลามาถึงสามทศวรรษ โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้าย ซึ่งรวมไปถึงกลุ่ม Shining Path ที่เป็นสังคมนิยมสายเหมา และกลุ่มปฏิวัติมาร์กซิสต์เลนินนิสต์ ทูพัค อมารู

กลุ่มเหล่านี้ทำการต่อสู้นองเลือดกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และคร่าชีวิตทั้งทหาร นักรบ และพลเมืองไปกว่า 70,000 ชีวิต

ถึงแม้จะมีการเสียสละมากมาย แต่การจับอาวุธต่อสู้ ก็ยังไม่ได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่เปรูเท่าไรนัก

ความรุนแรงในเปรูมาถึงจุดสูงสุดในทศวรรษ 1980-90 และหลังจากนั้น รัฐบาลและฝ่ายขวาาก็เริ่มนำมาตรการที่โหดเหี้ยมอำมหิตมาใช้กับนักรบฝ่ายซ้าย

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำมหาศาลในเปรูทำให้ฝ่ายซ้ายไม่เคยที่จะลดราวาศอกและยอมจำนน และในที่สุด ฝ่ายซ้ายก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการต่อสู้ผ่านการเลือกตั้ง

ในปี 2011 นายออลลันตา ฮูมาลา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จากการสนับสนุนของสหภาพแรงงานและกลุ่มเคลื่อนไหวชนพื้นเมือง หลังจากที่เขาได้ประกาศ “หลักการสังคมนิยม” ของเขา

นอกจากนั้น เขายังได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มผู้นำในภูมิภาคละตินอเมริกาในยุค ”คลื่นสีชมพู” ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้นำนักสังคมนิยมประชาธิปไตย (แนวปฏิรูป) ต่างก็ได้ตำแหน่งในรัฐบาลในช่วงทศวรรษ 2000s

แต่คำสัญญา การปฏิรูป และการเปลี่ยนแปลง ก็กลายเป็นเพียงความฝัน ประชาชนในยุคสมัยของฮูมาลาต้องพบกับการกดขี่ขูดรีดไม่ต่างกับสมัยรัฐบาลฝ่ายขวาที่ผ่านๆ มา

ในปี ค.ศ. 2012 นายฮูมาลาออกคำสั่งสลายการชุมนุมต่อต้านการสร้างเหมืองใหม่ของบริษัท นิวมอนท์ สัญชาติอเมริกา และประชาชนถูกสังหารในการต่อสู้มากมาย ตั้งแต่สมัยนายฮูมาลา เปรูก็ถูกปกครองโดยรัฐบาลฝ่ายขวามาเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละรัฐบาลต่างก็มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวการทุจริตมาตลอด ในขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของขบวนการกรรมกรก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

ในการนัดหยุดงานของแรงงานครูที่นำโดยนายเปโดร คาสตีโญ ทำให้ระบบการศึกษาในเปรูหยุดนิ่งเป็นเวลาถึง 2 เดือน และมีครูกว่า 200,000 คน เข้าร่วมการนัดหยุดงานครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังการนัดหยุดงานทั่วประเทศของกลุ่มกรรมกรเหมืองแร่เพื่อเรียกร้องสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมถึงการนัดหยุดงานของกลุ่มแพทย์พยาบาลในช่วงต้นปีเพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น

จากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนนี้เองที่ทำให้นายคาสตีโญที่ไม่เป็นที่รู้จัก กลายเป็นบุคคลผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปได้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ดี เปรูยังมีบทเรียนที่เจ็บปวดและต้องตระหนักไว้ว่า นักการเมืองที่อ้างว่าตัวเป็นเป็นฝ่ายซ้ายสามารถตระบัดสัตย์หักหลังประชาชนผู้สนับสนุนในภายหลังได้ ไปจนถึงเหตุการณ์ช่วงหลัง “คลื่นสีชมพู” ที่ฝ่ายขวากลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง

การเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ต่อต้านกระแสเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ผลักดันให้ผู้นำฝ่ายซ้ายได้รับตำแหน่งในสภา ทั้งในประเทศเอกวาดอร์ เวเนซุเอลาและโบลิเวีย ซึ่งทำให้ชนชั้นปกครองต่างหวาดหวั่น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของผู้นำฝ่ายซ้ายเหล่านี้ก็เกื้อหนุนทั้งนายทุนและจักรวรรดินิยม ซึ่งเป็นผลพวงของความเชื่อผิดๆ ที่ว่า สังคมนิยมจะสามารถทำงานผ่านระบบรัฐสภาได้

จุดอ่อนของแนวคิดนี้คือ การไม่ขุดรากถอนโคนรัฐทุนนิยมออกเสียก่อน และเมื่อปะทะกับอำนาจของฝ่ายนายทุน ก็จะต้องพ่ายแพ้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่พลังประชาชนของฝ่ายกรรมกรสามารถเอาชนะและเรียกร้องสิทธิต่างๆ ได้ในหลายครั้งหลายโอกาสทั้งในเปรูและทั่วภูมิภาคละตินอเมริกามากกว่าแค่การที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้ง

ประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่และต่อสู้อันยาวนานของชาวเปรูนั้น ทำให้เราได้เห็นว่า ความทุกข์ของประชาชนจะระงับลงได้อย่างแท้จริงก็ด้วยการโค่นล่มระบบอำนาจเก่าลงทั้งระบบเท่านั้น

แปลและเรียบเรียงจาก: Socialistworker – Peru – a radical history of resistance
https://socialistworker.co.uk/art/51939/Peru+a+radical+history+of+resistance

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com