โดย พัชณีย์ คำหนัก
ก่อนการล้มล้างการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎร นำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) รัฐไทยเริ่มเป็นรัฐทุนนิยมที่ผูกขาดภายใต้การปกครองของกษัตริย์รัชกาลที่ 5 คือ มีการสะสมทุนแบบกรรมสิทธิ์เอกชนโดยพวกเจ้าขุนมูลนาย มีการผลิต การค้าข้าวกับต่างประเทศ สร้างระบบขนส่ง รถไฟ ขุดคูคลอง เพื่อให้ทุนและรัฐเข้าถึงหมู่บ้านที่ห่างไกล ขนย้ายทรัพยากรออกจากหมู่บ้าน ก่อเกิดชนชั้นกระฎุมพี พ่อค้าคนกลาง นักค้าข้าว นายทุนเงินกู้ การกำหนดเป้าหมายของระบบการศึกษาไทยให้ผลิตคนออกมารับใช้ระบบราชการ สร้างแรงงานรับจ้างที่มีประสิทธิภาพในการทำงานให้แก่รัฐทุนนิยม จัดงบประมาณพัฒนาการศึกษาให้แก่คนชั้นล่าง
การมองรัฐในมุมมองเศรษฐกิจการเมืองแบบรัฐรวมศูนย์ในยุคแรกของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ช่วยให้เราเห็นความเป็นจริงในเรื่องการเมืองกับผลประโยชน์ทางชนชั้น หน่ออ่อนของระบบทุนนิยมช่วงนี้สอดคล้องกับระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กษัตริย์อย่างเบ็ดเสร็จเพื่อสถาปนาระบบทุนนิยมที่ผูกขาดอย่างมั่นคง จากนั้นระบบความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานก็เริ่มเข้ามาแทนที่ระบบอุปถัมภ์-จงรักภักดี-เมตตาปราณี เพราะเมื่อมีทุนก็ต้องมีการจ้างงาน การแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาด การแบ่งสรรกำไรส่วนเกิน ค่าจ้าง สวัสดิการ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน ระบบความสัมพันธ์แบบใหม่นี้ได้สร้างความขัดแย้งและการต่อสู้ของขบวนการแรงงานต่อมา
ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาที่ต้องการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยอ้างถึง การอภิวัฒน์ทางอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบวิสาหกิจต้องการแรงงานสมัยใหม่ที่มีความสามารถในการทำงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงเห็นสมควรเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ลูกจ้างมีเสรีภาพมากขึ้นในการทำงาน (ซึ่งคือปลดปล่อยพลังการผลิต)
และกล่าวต่อว่า เมื่อทัศนคติว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมเปลี่ยนไป ก็เห็นกันว่า ความสัมพันธ์ภายในระบบการเมืองก็ควรที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เมื่อไทยเปิดประเทศมีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญ ทัศนะทางสังคมของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจึงเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย มีผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาสู่ระบอบ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ตามแบบการปกครองในประเทศยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ที่กำลังเจริญก้าวหน้าภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี. (ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. (24 มิถุนายน พ.ศ.2564). คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ ?. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2560. https://www.silpa-mag.com/history/article_49539)
หากดูบริบทโลกก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พบว่า เกิดการถดถอยของเศรษฐกิจโลก และอิทธิพลของอุดมการณ์ฟาสซิสต์ การเติบโตของนาซี ในช่วงปี 1929 และ 1935 จากการที่เศรษฐกิจเป็นอัมพาต ตลาดหุ้นพังทลาย โรงงานปิดตัว คนงานเดือดร้อนเพราะถูกเลิกจ้าง ว่างงานเป็นจำนวนมาก และค่าจ้างตกต่ำ สั่นคลอนระบบการเมืองในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ สเปน สหรัฐอเมริกา ทำให้คนงานอ่อนแอขาดความมั่นใจ แต่หลังจากนั้น 5 ปีเมื่อวิกฤติผ่อนคลายลงบ้างในปี 1934 การต่อต้านของคนงานระเบิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและจากนั้นในฝรั่งเศสและสเปน การจัดตั้งสหภาพแรงงานในอังกฤษได้ถูกรื้อฟื้น ในสหรัฐอเมริกาปี 1934 มีการฟื้นคืนของการปฏิบัติการทางอุตสาหกรรม (industrial action) ที่กระตุ้นคลื่นนัดหยุดงานนำไปสู่การจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม ความเติบโตทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้แก่ชนชั้นแรงงานและฝ่ายซ้าย (เดฟ เชอรี่. (ก.พ. 2010). Occupy!: A Short History of Workers’ Occupations. ลอนดอน : สำนักพิมพ์ Bookmarks.) ซึ่งกระแสเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อประเทศสยาม
ความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทย : การรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร การนัดหยุดงาน การจัดทำหนังสือพิมพ์เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา ขบวนการแรงงานไทยมีพัฒนาการการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมมายาวนาน จากการรวมตัวจัดตั้งองค์กรแรงงาน องค์กรแรกของสยาม คือ สมาคมคนงานรถราง พ.ศ.2440 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในยามทุกข์ยาก แต่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับนายจ้าง จากนั้นมีการต่อสู้ด้วยการนัดหยุดงานในลักษณะที่เป็นไปเองเพื่อต่อต้านการถูกเอารัดเอาเปรียบของนายจ้าง เช่น การต่อต้านนายจ้างชาวเดนมาร์กด้วยการนัดหยุดงานของกรรมกรรถราง เมื่อปี 2463 จำนวน 64 คน เนื่องจากนายจ้างออกกฎข้อบังคับและลงโทษกรรมกรอย่างรุนแรง และนัดหยุดงานอีกในปี 2465 ด้วยจำนวนมากขึ้นคือ ประมาณ 300 คน การนัดหยุดงานของกรรมกรรถรางนี้ได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชน กรรมกรรถรางรุ่นเก่า ปัญญาชนและประชาชนทั่วไปนอกจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมแล้ว ยังมีกลุ่มปัญญาชนที่เข้าร่วมต่อสู้ด้วย กลุ่มปัญญาชนที่โดดเด่น คือ คณะกรรมกร ซึ่งเป็นคณะทำงานของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรรมกร ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีพ.ศ.2465 ปัญญาชนสำคัญคนหนึ่ง คือ นายถวัติ ฤทธิเดช คณะกรรมกรนี้มีบทบาทสำคัญ คือ เป็นปากเสียงให้แก่กรรมกรผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเรียกร้องสิทธิของกรรมกร เช่น สิทธิในการนัดหยุดงาน ส่งเสริมหน้าที่พลเมืองของกรรมกร รวมทั้งต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของบรรดาขุนนางไทย (พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย. (4 ต.ค.57). หนังสือพิมพ์กรรมกร สืบค้นจากเว็บไซด์ http://thailabourmuseum.org/?p=219 )
หนังสือพิมพ์ฉบับแรกได้วิพากษ์ชนชั้นนายจ้างและสถาบันกษัตริย์ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ถูกอิทธิพลของศักดินากดดันและเพ่งเล็ง จนต้องปิดตัวไปในปี 2467 และนายถวัติหันมาทำหนังสือพิมพ์ใหม่คือ ปากกาไทย ในปี 2468 แต่มีปัญหาอุปสรรคเช่นเดิมคือ อำนาจรัฐคุกคาม เช่น เจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกใบอนุญาตทำหนังสือพิมพ์และคณะทำทัณฑ์บนว่า จะไม่ตีพิมพ์ข้อความที่เป็นการเสื่อมเสียแก่ราชการ มิฉะนั้นจะไม่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม นายถวัติยังดำเนินงานจัดทำหนังสือพิมพ์ต่อไป และสามารถทำให้คนธรรมดาตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐมากขึ้น
นอกจากนี้ นายถวัติและเพื่อนร่วมอุดมการณ์จัดตั้งสถานแทนทวยราษฎร์ ในปี 2468 เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรรมกร คนยากจนที่ได้รับการกดขี่จากนายจ้าง รับรักษาพยาบาล หางานให้ทำ เป็นต้น แต่ต้องประสบอุปสรรคด้านการเงิน เพราะสมาชิกของสถานแทนทวยราษฎร์ส่วนใหญ่เป็นคนจน ไม่สามารถจ่ายค่าบริการต่างๆ ได้ นายถวัติจึงนำทุนส่วนตัวมาจนทำให้ครอบครัวลำบาก ในที่สุดต้องปิดตัวลง
ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 : การเบ่งบานของประชาธิปไตยแรงงาน
ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายถวัติ ฤทธิเดช และเพื่อนยังไม่ค่อยมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงร่วมกับคณะราษฎร กล่าวคือ เมื่อคณะราษฎรอนุญาตให้มีการจัดตั้งสมาคมที่มีลักษณะพรรคการเมืองได้ คนงานรถรางขอให้นายถวัติมาร่วมต่อสู้เพื่อเป็นปากเสียงให้กรรมกร จึงได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม และ นายถวัติเป็นประธานสมาคม และได้รับการรับรองโดยคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2475 เป้าหมายของสมาคมคือ รวมตัวกรรมกรรถรางและกรรมกรที่เกี่ยวข้องกับกิจการรถรางมาแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างจิตสำนึกความสามัคคีของชนชั้นกรรมกร และช่วยเหลือกรรมกรที่ทุกข์ยาก นับจากนั้นก็มีบทบาทในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่กรรมกร และใช้ยุทธวิธีการนัดหยุดงานซึ่งเป็นวิธีที่สามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของคนงานสำเร็จ
เมื่อเกิดกบฎบวรเดช นายถวัติและเพื่อนได้นำพลังกรรมกรรถรางไปทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญในฐานะกองกำลังรักษาความสงบภายในพระนครและเป็นกองทหารอาสา และได้รับชัยชนะ เมื่อเป็นระบอบใหม่ ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา กรรมกรทุกกลุ่มอาชีพตื่นตัวอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การเคลื่อนไหวของสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม การสไตร์คงานของกรรมกรรถไฟมักกะสัน การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของกรรมกรขนข้าว การนัดหยุดงานของกรรมกรหญิงทอผ้าที่คัดค้านการตัดค่าแรงของนายจ้าง กรรมกรลากรถ (คนจีน) จำนวน 6,000 คน นัดหยุดงาน 5 วันเพื่อขอลดค่าเช่ารถ ในปี 2477 พนักงานขับรถโดยสารสายเชียงรายและลำปางนัดหยุดงาน 1 วัน เพื่อขอเพิ่มค่าแรง ในปี 2478 กรรมกรขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ประท้วงขอเพิ่มค่าแรง ปี 2479 กรรมกรเหมืองแร่ 200 คนในจังหวัดยะลานัดหยุดงานประท้วงการตัดค่าแรง ในปี 2484 กรรมกรสามล้อนัดหยุดงานเพื่อคัดค้านการถูกจับกุมในความผิดเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น จนรัฐบาลคณะราษฎรต้องให้ความสนใจในประเด็นแรงงาน และรัฐบาลสั่งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกรรมกร เมื่อวันที่ 27เมษายน 2477 เพื่อทำหน้าที่ศึกษาปัญหากรรมกรในประเทศสยาม โดยมีนายถวัติทำงานเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ มีข้อเสนอสำคัญ 2 ประการคือ การมีกองทุนเงินบรรเทาทุกข์กรรมกร และพระราชบัญญัติแรงงานแบบสหภาพแรงงาน
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย นายถวัติและนายวาส สุนทรจามร เพื่อนร่วมอุดมการณ์นำพลังกรรมกรเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นเต็มที่โดยตั้งเป็นองค์การจัดตั้งลับ เมื่อสงครามยุติลงก็เริ่มบทบาทต่อสู้เพื่อปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการและรณรงค์ให้ได้มาซึ่งสิทธิในการจัดตั้งองค์การกรรมกร รวมพันธมิตรทั่วด้าน และเคลื่อนไหวต่อสู้ นัดหยุดงานโรงงานหลายแห่งมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งใหญ่ที่สุดคือหยุดงานนาน 63 วัน มีกรรมกรโรงสี โรงข้าวสาร กรรมกรขนส่งทางน้ำและกุลีท่าเรือเพื่อขอปรับปรุงค่าแรงและสวัสดิการ สิทธิการจัดตั้งกลุ่ม จากเหตุการณ์นี้ทำให้กรรมกรรวมตัวกันได้จำนวนมากและมีมติร่วมกันจัดตั้งเป็นองค์การสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันระดับชาติ ประธานองค์การคือ นายเธียรไท อภิชาตบุตร และจัดงานวันเมย์เดย์ 1 พฤษภาคม 2490 มีแรงงานร่วมชุมนุมประมาณ 1 แสนคน โดยมีนายถวัติ ฤทธิเดช วาศ สุนทรจามร สุ่น กิจจำนงค์ เข้าร่วมชุมนุมด้วย
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของกรรมกรที่ได้นำเสนอมาจะเห็นว่า มีการกดขี่ขูดรีดผู้ใช้แรงงานโดยนายทุนและการท้าทายของแรงงานทั้งในขอบเขตสถานที่ทำงานและการเมืองระดับประเทศมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเป็นยุคที่รัฐและทุนเริ่มพัฒนาระบบทุนนิยม และแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ระบบเศรษฐกิจยังเป็นระบบทุนนิยมภายในระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อีกทั้งพิสูจน์ได้ว่าแรงงานไทยมีศักยภาพในการรวมตัวจัดตั้งและสู้กับความไม่เป็นธรรม และแรงงานคือประชาชนผู้สร้างชาติและรักษาประชาธิปไตย @@@