แปลและเรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ริชาร์ด เลอวอนทิน เพิ่งถึงแก่กรรมด้วยวัย 92 ปี เป็นนักพันธุศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งในรุ่นราวคราวเดียวกัน และเขายังเป็นนักปฎิวัติสังคมนิยมทั้งแนวคิดทฤษฎีและปฏิบัติอีกด้วย
ในช่วงที่ผู้เขียน (จอห์น แพริงตัน) เป็นนักศึกษากลางทศวรรษ 1980s มีสหายนักศึกษาได้แนะนำให้ผู้เขียนอ่านหนังสือ “ไม่ได้อยู่ในพันธุกรรมของเรา” (Not in our Genes) เขียนโดยเลอวอนทิน, ริชาร์ด เลวินส์ และสตีเวน โรส และนั่นทำให้เขาตระหนักถึงสติปัญญาของการวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์ หนังสือเล่มนี้ได้โต้แย้ง และทำลายแนวคิด “สังคมชีววิทยา” ที่มองว่าพฤติกรรมของมนุษย์และสังคมสามารถวิเคราะห์ในเชิงหลักชีววิทยาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และได้กลายเป็นหนังสื่อที่โด่งดังจากข้อโต้แย้งนี้
เลอวอนทินและนักเขียนคนอื่นๆ ที่ร่วมงานกันได้แสดงให้เห็นว่า มุมมองเกี่ยวกับพันธุกรรมของนักสังคมชีววิทยาอย่างริชาร์ด ดอว์กินส์ และเอดเวิร์ด วิลสัน ไม่ได้เป็นเพียงข้อโต้แย้งทางการเมือง แต่ยังเป็นวิทยาศาสตร์หลักลอยไร้แก่นสารด้วย
นักสังคมชีววิทยาที่ว่านั้นสร้างสมมติฐานว่า มียีนส์ที่ทำให้คนมีพฤติกรรมต่างๆ มาแต่กำเนิด เช่น เห็นแก่ตัว ชอบวิวาท เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ หรือ เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) แต่ว่าสมมติฐานเหล่านั้นกลับมีคำอธิบายความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันระหว่างยีนส์และอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายไว้น้อยมาก และไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างยีนส์และสภาพแวดล้อมเลย
ในหนังสือเล่มถัดมาที่เลอวอนทินเขียนร่วมกับริชาร์ด เลวินส์ คือ “นักชีววิทยาวิภาษวิธี” (The Dialectical Biologist) หรือหนังสือที่เขาเขียนเองอย่าง “ก้นหอยสามชั้น” (The Triple Helix) เลอวอนทินได้สร้างทฤษฎีชีววิทยาเชิงสังคมนิยมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของคาร์ล มาร์กซ์และฟรีดริช เองเกลส์
เขาได้เพิ่มมุมมองใหม่ๆ ในการมองว่า DNA ทำหน้าที่เป็นเพียง “แบบร่าง” (หรือเค้าโครง) แต่ก็ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากสภาพแวดล้อมของเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย ไปจนถึงสิ่งที่ร่างกายนั้นรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า และระบบสังคมที่มนุษย์คนนั้นดำรงอยู่ ซึ่งเป็นการโต้แย้งแนวคิดที่ว่า พฤติกรรมมนุษย์ถูกกำหนดมาจากยีนส์ตั้งแต่แรก และเลอวอนทินยังเพิ่มข้อโต้แย้งอีกว่า อารยธรรมสังคมมนุษย์นั้นได้วิวัฒนาการมาเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ด้วยชีววิทยาเท่านั้น
วิถีปฏิบัติและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนชีวิตคนในสังคม ทำให้ระบบสังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าสปีชีส์อื่นๆ สภาพแวดล้อมของสังคมแต่ละสังคมที่มนุษย์เติบโตมายังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและศักยภาพของคนๆ นั้นนอกเหนือจากความแตกต่างทางพันธุกรรม
กล่าวง่ายๆ คือ การที่แต่ละบุคคลจะตระหนักและนำศักยภาพที่แท้จริงของตนเองออกมาใช้ขึ้นอยู่กับสถานะในระบบชนชั้นของสังคมมากกว่ารหัสพันธุกรรมของตัวเอง
พันธุศาสตร์สามารถมีอิทธิพลต่อความอ่อนแอการเจ็บป่วยของเราไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางร่างกาย เช่น โรคหัวใจหรือโรคเบาหวาน หรือภาวะทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือโรคจิตเภท
นอกจากนี้ ความแตกต่างทางพันธุกรรมที่แสดงออกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเราเป็นอย่างมาก
ดังนั้น การเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานจึงได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการอดอาหารที่ผิดและความเครียดในที่ทำงาน และความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคจิตเภทนั้นก็ขึ้นอยู่กับแรงกดดันทางจิตใจอย่างรุนแรงภายใต้ระบบทุนนิยม
แง่มุมในชีวิตของเลอวอนทินที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจต่อนักสังคมนิยมปัจจุบันคือความจริงที่ว่าเขาไม่ใช่แค่นักทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังเป็นนักเคลื่อนไหวอีกด้วย
นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการพัฒนาจิตสำนึกของมนุษย์ แนวคิดของเลอวอนทินได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ตรงของเขา ซึ่งหล่อหลอมมาจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองต่อต้านสงความเวียดนามในยุค 1960s-70s และเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก่คนผิวสี ผู้หญิงและกลุ่มคนรักร่วมเพศ
เขายังใช้หลักการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์หักล้างข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ นักวิทยาศาสตร์ฝ่ายซ้ายเป็นเพียงเงาของสิ่งที่เป็นอยู่ในยุคอดีตที่ก้าวหน้า
ทว่าในวิกฤตทางสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอาจทำให้เกิดคลื่นการต่อสู้คลื่นใหม่ที่เข้มข้น และในการเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายในอนาคต แนวคิดของเลอวอนทินจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งแหล่งหนึ่ง
แปลและเรียบเรียงจาก John Parrington. Richard Lewontin—the Marxist geneticist. จากเว็บไซต์พรรคสังคมนิยมแรงงานอังกฤษ https://socialistworker.co.uk/art/52079/Richard+Lewontin+the+Marxist+geneticist?fbclid=IwAR0zJvTwP9486X5I0WNEGflOjzCe_SrSkh6PgC4DBM73wNjG1oXrZ01lXLc