Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

แรงงานมีพลังพิเศษในระบบทุนนิยม

โดย วัฒนะ วรรณ

ทุนนิยมสร้างชนชั้นสำคัญขึ้นมาสองชนชั้น “ชนชั้นแรงงาน” ทำงานรับจ้างขายแรงงาน กับ “ชนชั้นนายทุน” ผู้ถือครองปัจจัยการผลิต

ทั้งสองชนชั้นมีความขัดแย้งกันตลอดเวลา เพื่อดึง “มูลค่าส่วนเกิน” ของสินค้ามาเป็นของตน ถ้าฝ่ายหนึ่งได้มากอีกฝ่ายก็ได้น้อยลง โลกทุนนิยมสุดขั้วที่ขบวนการแรงงานอ่อนแอ แรงงานจะได้ส่วนแบ่งเพียงพอต่อการยังชีพเท่านั้น

มูลค่าส่วนเกิน เกิดจากการใช้กำลังแรงงานมาแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินค้า

ทรัพยากรบางอย่างอาจจะมีคุณค่า เช่น อากาศ น้ำ แต่ไม่มีมูลค่าส่วนเกิน จนกว่าจะมีกำลังแรงงานไปแปรรูปมัน เช่น นำไปบรรจุขวด

นายทุน จะเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมเสมอ แต่มีอำนาจมาก เพราะถืออำนาจรัฐ

พวกเขาสร้างรัฐสำหรับทุนนิยมขึ้นมา สร้างกฎหมาย สำหรับกีดกันการรวมตัวต่อรองของชนชั้นแรงงาน สร้างวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำให้คนเชื่อว่าระบบการจ้างงานที่เป็นอยู่ปัจจุบันคือธรรมชาติของสังคมมนุษย์ ทั้งๆ ที่ความจริงมันถูกสร้างมาไม่นาน

แต่เมื่อสังคมเกิดวิกฤติความเชื่อดั้งเดิมมักจะถูกท้าท้าย เมื่อแรงงานถูกเลิกจ้าง ตกงาน อดยาก แต่นายทุนกลับอยู่สุขสบาย

ถ้าเกิดจิตสำนึกร่วมทางชนชั้นแรงงาน เช่นที่เกิดขึ้นกับนายทุน จะเกิดการนัดหยุดงานทั่วไป เกิดการยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของชนชั้นผู้ทำงาน มูลค่าส่วนเกินจะถูกนำกลับมาเป็นของผู้ทำงาน ด้วยชนชั้นแรงงานคือคนกลุ่มใหญ่ของสังคมความเท่าเทียมที่แท้จริงจึงเกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เรียกว่าการ “ปฏิวัติของชนชั้นแรงงาน”

การปฏิวัติเช่นนี้ชนชั้นอื่นทำแทนไม่ได้ ต้องเป็นการกระทำของชนชั้นแรงงานเองเท่านั้น เพราะระบบทุนนิยมได้สร้างให้ชนชั้นแรงงานมีพลังพิเศษ ด้วยอยู่ใจกลางของระบบการผลิต พวกเขาจึงสามารถยึดปัจจัยการผลิตเพื่อมาผลิตสินค้าตอบสนองสังคมได้ทันที

ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นปฏิวัติ การต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ของแรงงานก็มักจะสร้างความหวั่นวิตกให้กับนายทุนทั้งชนชั้นได้เสมอๆ พวกเขาจะสามัคคีกัน เพื่อหยุดการต่อสู้เหล่านั้นไม่ให้ลามทุ่ง เขาจะใช้สื่อกระแสหลัก ประชาสังคม รวมถึงกฎหมายเป็นเครื่องมือหยุดการต่อสู้เหล่านั้น

ส่วนพวกนักปฏิวัติสังคมจะทำสิ่งตรงข้าม พวกเขาจะเร่งแรงลมพัดไฟการต่อสู้ปฏิวัติให้ลุกลามขยายวงกว้างมากที่สุด

ชนชั้นแรงงานจึงเป็นคู่ต่อกรเดียวเท่านั้น ที่จะสู้กับรัฐทุนนิยมได้ สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ที่เป็นประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง

สังคมพัฒนาปัจจุบันล้วนเกิดจากการต่อสู้ทางชนชั้นในอดีตทั้งสิ้น

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com