โดย พัชณีย์ คำหนัก
เมื่อปี 2563 ได้ปรากฎการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตลอดจนอนาคตของพวกเขา เพราะไม่อาจทนกับการถูกล้างสมองและกดขี่ของพวกอนุรักษ์นิยมและเผด็จการทหารได้อีกต่อไป
สถานการณ์ของผู้เรียน
ด้วยมีนักเรียนถูกทารุณกรรมจากระบบจารีตอนุรักษ์ เช่น จากระเบียบวินัยที่เข้มงวดและไร้เหตุผล ได้แก่ บังคับตัดผมสั้น ใส่เครื่องแบบถูกต้องทุกระเบียดนิ้ว ถูกปฏิบัติทางเพศไม่เท่าเทียมกัน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ พวกเขาจึงลุกฮือ ออกมาเรียกร้องความปลอดภัยและเสรีภาพในการแสดงออกในโรงเรียน เบญจมาภรณ์ นิวาส นักกิจกรรมจากกลุ่มนักเรียนเลวได้สะท้อนว่า “นักเรียนกำลังถูกผลิตออกมาเป็นหุ่นยนต์รับใช้ระบบชนชั้นทางสังคมและทุนนิยม” และท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 นักเรียนยากจนหลายคนต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะการเรียนออนไลน์เป็นเวลานานที่กระทรวงศึกษาธิการไม่สนับสนุนอุปกรณ์การเรียน ไม่ช่วยลดค่าเทอมให้ผู้ปกครอง รวมถึงนักเรียนอื่นๆ ที่ทุกข์ทรมานกับการเรียนออนไลน์ด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้
จากความกล้าหาญของคนหนุ่มสาวที่ออกมาต่อต้านการกดขี่ และปกป้องตัวเองจากระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนและประเทศ ก็ทำให้นึกถึงคนทำงานในโรงเรียนเช่นครูว่า ทำไมจึงเกิดปัญหาผลกระทบกับผู้เรียนเช่นนี้ เมื่อสัมภาษณ์ปรากฏว่าพวกเขาก็ถูกทำให้ไร้อำนาจในแง่ของการจ้างงาน ภาระงานและการปฏิบัติตามคำสั่งโดยปราศจากการมีส่วนร่วม
สถานการณ์ของคนทำงานในโรงเรียน
ปัจจุบันการจ้างงานคนทำงานในโรงเรียนของรัฐ (เช่น ครู ธุรการ) ไม่แตกต่างจากภาคเอกชน รวมทั้งการบริหารมีลักษณะอำนาจนิยมสั่งการจากบนลงล่าง นอกจากนี้ มีการปฏิบัติต่อคนทำงานแตกต่างกันภายในหน่วยงานของรัฐ คือ ผู้บริหารในหน่วยงานขนาดใหญ่มักปฏิบัติต่อคนทำงานมีมาตรฐานที่ดีกว่าหน่วยงานขนาดเล็ก ทั้งมีความแตกต่างกันระหว่างคนทำงานในเรื่องของสภาพการจ้าง ไม่เพียงแต่ช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงานเท่านั้น จากการที่ระบบการบริหารภาครัฐมีโครงสร้างลำดับชั้นที่แข็งแกร่ง เราจะพบเห็นทั่วไปว่าข้าราชการในระบบราชการของไทยใช้อำนาจในทางที่ผิดและทุจริตได้ เช่น ทหาร ตำรวจ ที่เข้าควบคุมคนจนไร้อำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พนักงานบางส่วนจากสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการและภารโรงแห่งประเทศไทยและนักเรียนมัธยมปลายได้เปิดเผยเรื่องราวของพวกเขา ดังนี้
การจ้างงานเหลื่อมล้ำหลายมาตรฐานกับการต่อต้าน
มีคนทำงานโรงเรียนของรัฐประมาณ 400,000 คน ทำงานในโรงเรียนราว 50,000 แห่ง จ้างงานหลากหลายรูปแบบตามตำแหนง ได้แก่ ผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่ธุรการ คนขับรถและภารโรง คนตำแหน่งสูงกว่าได้รับการว่าจ้างเป็นข้าราชการประจำ พนักงานสัญญาจ้างประจำ ส่วนคนทำงานระดับล่างจ้างงานผ่านผู้รับเหมาบริการหรือเป็นพนักงานชั่วคราว นอกจากนี้ การจ้างงานมาจากแหล่งงบประมาณของรัฐบาลสองแหล่ง ได้แก่ งบบุคลากรของงบประมาณแผ่นดิน (สำหรับพนักงานประจำ) และงบดำเนินงาน (สำหรับพนักงานชั่วคราว) ส่งผลให้มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากในด้านสิทธิประโยชน์ สภาพการทำงาน และคุณภาพชีวิต หน่วยงานราชการและกระทรวงปฏิบัติต่อพวกเขาแตกต่างกันตามสถานะในโครงสร้างลำดับชั้น
จากโครงสร้างลำดับชั้นที่เข้มแข็ง เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน บวกกับนโยบยเสรีนิยมใหม่และการแปรรูปกิจการของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว งานไม่มั่นคงขยายตัวไปหลายเขตพื้นที่ ดังนี้
1.ข้าราชการประจำ อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของโครงสร้างลำดับชั้น ได้แก่ ผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่ธุรการในโรงเรียนขนาดใหญ่มีความมั่นคงและได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นตามระดับ เงินเดือนพื้นฐานของข้าราชการจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 15,000 บาท การขึ้นเงินเดือนครูอยู่ที่อัตรา 2.5%-3% บาทต่อปี ยังมีค่าตำแหน่งและอื่นๆ พวกเขาจึงได้รับสวัสดิการที่ดีและผลประโยชน์ครอบคลุมครอบครัว แต่ครูในโรงเรียนขนาดเล็กมีสภาพการทำงานแย่กว่าในโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากโรงเรียนในไทยกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนครู ครูหลายคนได้รับมอบหมายให้ผลัดกันปฏิบัติหน้าที่อื่น เช่น อยู่เวรทุกวัน ขาดความปลอดภัยกรณีครูผู้หญิงถูกสั่งให้อยู่เวรตอนกลางคืน ปัญหาทั่วไปของครูในโรงเรียนมักเป็นเรื่องภาระงานที่หนัก ครูไม่เพียงแต่สอนเท่านั้น แต่ยังทำงานเกี่ยวกับเอกสารและรายงานสำหรับการประเมินภายนอกและภายในประจำปีและโครงการเฉพาะอีกด้วย ยิ่งโรงเรียนอยู่ห่างไกล สภาพการทำงานยิ่งแย่ลง
จากสภาพการทำงานของครูข้างต้น ครูที่มีความคิดก้าวหน้าบางคนได้จัดตั้งกลุ่ม เช่น ครูขอสอน รณรงค์ปรับปรุงสภาพการทำงาน พื้นที่ปลอดภัยของนักเรียนและเสรีภาพในการพูด ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย
2.ลูกจ้างสัญญาจ้างประจำ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ ผู้ช่วยครู ครูอัตราจ้างและภารโรง เงินเดือนพื้นฐานอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท โดยไม่มีค่าตอบแทนอื่นเพิ่มเติม สิทธิประโยชน์ของพวกเขามาจากกองทุนประกันสังคมซึ่งคล้ายกับคนงานอุตสาหกรรมในภาคเอกชน รัฐบาลและลูกจ้างสัญญาจ้างจะจ่ายเงินสมทบกองทุนร้อยละ 5 ของเงินเดือน ระบบประกันสังคมนี้ไม่ครอบคลุมถึงครอบครัวของลูกจ้างสัญญาจ้าง และไม่มีแผนพัฒนาวิชาชีพใด ๆ ที่จะพัฒนาให้คนกลุ่มนี้
ปัญหาทั่วไปของพวกเขาคือ ไม่มีการขึ้นเงินเดือน พวกเขาต้องเซ็นสัญญาหนึ่งปีและต่ออายุทุกปีซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกขาดความมั่นคง ในสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก สัญญาเปลี่ยนเป็นระยะ 3 เดือน นอกจากนี้ภาระงานของพวกเขาหนักเกินไป เจ้าหน้าที่ธุรการหลายคนถูกขอให้ทำงานอื่นๆ เช่น เก็บขยะ และบางคนก็ขอให้สอนลูกศิษย์ มีพนักงานสัญญาจ้างราว 15,000 คนทั่วประเทศ
3.ลูกจ้างจ้างทำของ คนทำงานกลุ่มนี้จ้างด้วยงบดำเนินงานของงบประมาณแผ่นดินเช่นเดียวกับงานเอ๊าท์ซอร์ส กระทรวงศึกษาธิการต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ดังนั้น เจ้าหน้าที่ธุรการประมาณ 18,000 คน และภารโรงซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามต่างจังหวัดในชนบท กำลังประสบปัญหาจากการจ้างรูปแบบนี้ แม้ว่างานของพวกเขาจะเหมือนกับลูกจ้างข้อสองข้างต้น แต่สามารถถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา เงินเดือนพนักงานธุรการต่ำกว่า 10,000 บาท ไม่มีการขึ้นเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการใดๆ ยกเว้นไปสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคม หรือใช้บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แม้ว่าส่วนใหญ่จะจบปริญญาตรีแล้วก็ตาม พวกเขายังไม่มีสิทธิ์ลา มีกรณีพนักงานธุรการหญิงตั้งครรภ์ต้องการลาคลอด เธอต้องหาคนอื่นมาทำงานแทนและไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการใดๆ คนกลุ่มนี้มักประสบปัญหาเงินเดือนค้างชำระ
จากสภาพที่เปราะบางทำให้พวกเขาต้องออกมาประท้วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและเรียกร้องความมั่นคงในการทำงาน เงินเดือนและสวัสดิการที่ดี คนทำงานประเภทที่สองและสามรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเดียวกันที่เรียกว่าสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการและภารโรงแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมาเป็นเวลา 10 ปี พวกเขาไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากสิทธิขั้นพื้นฐาน ผลประโยชน์ เงินเดือนที่สูงขึ้น และการพัฒนาอาชีพ แม้จะอยู่ในชนบทแต่ก็ต้องดูแลคนชราและเด็กเล็ก พนักงานธุรการกล่าวว่า ด้วยค่าจ้างต่ำขนาดนี้ ไม่กล้าคิดแต่งงานมีครอบครัว อีกคนหนึ่งบอกว่าเงินเดือนของเขาต่ำกว่า รปภ.ในห้างสรรพสินค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ มาก
โดยสรุปจะเห็นว่า คนทำงานระดับล่างของโครงสร้างลำดับชั้น ระบบสั่งการถูกทำให้ไร้อำนาจจากสถานะการจ้างงานที่ด้อยมาตรฐานอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นลักษณะของระบบทุนนิยมที่เอาเปรียบคนทำงาน ลดต้นทุนลดสวัสดิการ สร้างความเหลื่อมล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต คนล่างสุดเป็นผู้เสียสละให้คนข้างบนได้อยู่สุขสบายกว่า ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการรวมกลุ่มคัดค้านเพื่อความอยู่รอด พวกเขาตระหนักว่าผู้บริหารไม่ใช่ผู้ที่รักษาผลประโยชน์ของคนทำงาน รวมทั้งผู้เรียนแต่อย่างใด
ปล.รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต
เชิญสมัครสมาชิกองค์กรสังคมนิยมแรงงาน https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6