Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

รื้อฟื้นการต่อสู้ ขบวนการแรงงานซ้ายใหม่

รส เสาวลักษณ์

ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่สร้างชนชั้นหลักๆ ๒ ชนชั้น คือ ชนชั้นนายทุนผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตของสังคมและใช้แรงงานรับจ้างทำงานให้ และชนชั้นแรงงานซึ่งคือแรงงานรับจ้างไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยการขายพลังแรงงานทักษะความสามารถเพื่อยังชีพตนเองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรฝ่ายผลิตในโรงงาน พนักงานในบริษัท ห้างร้าน ต่างๆ คนขับรถเมล์ พนักงานในภาคบริการ เช่น สถาบันการเงิน พยาบาล หรือครูบาอาจารย์ล้วนอยู่ในชนชั้นแรงงาน

สำนักงานประกันสังคมได้รายงานข้อมูลของเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ ว่า มีลูกจ้างได้จ่ายเงินสมทบตามมาตรา ๓๓ จำนวน ๑๑,๐๗๙,๙๕๖ คน และมีลูกจ้างที่เคยทำงานแล้วต่อมาไม่มีงานทำจึงส่งเงินสมทบตามมาตรา ๓๙ นับตั้งแต่วันที่ออกจากงานจำนวน ๑,๙๔๕,๔๑๕ คน รวมคนทำงานที่ไม่มีนายจ้างจำนวน ๙,๖๘๑,๔๓๗ คน ในทางกลับกันสังคมไทยมีคนร่ำรวยอยู่ไม่กี่ตระกูลเป็นคนหยิบมือเดียวที่ผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและใช้ระบอบรัฐสภาเป็นเครื่องมือหลอกลวงว่า พวกเราคนส่วนใหญ่มีสิทธิและเสรีภาพ โดยผ่านการเลือกตั้งทุกๆ ๔ ปี การที่มีคนรวยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคมผูกขาดเศรษฐกิจทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงมาก และเป็นสังคมที่ขาดเสรีภาพ ไม่มีประชาธิปไตย ดังนั้น พลังหลักในการสร้างสังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ และเต็มเปี่ยมไปด้วยเสรีภาพ จึงเป็นชนชั้นกรรมาชีพ เพราะนายทุนไม่มีวันที่จะเสียสละผลกำไรของตัวเองเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำให้หมดไป

ทำไมต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพ

ชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้นใหม่ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ ดังนั้น งานในระบบทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น เพราะนายทุน นายจ้างและเครื่องจักรต่างๆ ไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ แม้ว่าหลายคนคิดว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น AI จะทำให้แรงงานหมดความจำเป็นไป แต่ AI ก็ไม่สามารทำงานได้โดยตัวของมันเอง ถ้าไม่มีกรรมาชีพคอยควบคุมการสั่งการเครื่องจักรเทคโนโลยี ปัจจัยการผลิตของนายทุนจะไร้ความหมายถ้านายทุนไม่สามารถหากรรมาชีพมาทำงานกับปัจจัยการผลิตเพื่อสร้างความร่ำรวยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากกรรมาชีพมีการรวมกลุ่มกันต่อสู้โดยการนัดหยุดงานทั่วประเทศ ก็จะทำให้ระบบการผลิตของนายทุนชะงัก ทหารและตำรวจปราบยากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน เพราะพวกเขาบังคับให้เราไปทำงานไม่ได้ และทหาร ตำรวจ ก็ไปทำงานแทนกรรมาชีพไม่ได้เช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว ชนชั้นกรรมาชีพมีความสัมพันธ์พิเศษในระบบการผลิตทุนนิยมด้วย เพราะระบบการผลิตแบบทุนนิยมเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผลักดันให้ชนชั้นกรรมาชีพเข้ามาทำงานร่วมกันในสถานที่ทำงานใหญ่ โดยที่งานของแต่ละคนต้องอาศัยพึ่งพางานของเพื่อนร่วมงานตลอด ซึ่งการทำงานแบบนี้ช่วยส่งเสริมความคิดในเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม ลักษณะเช่นนี้จะแตกต่างจากพวกชนชั้นนายทุนน้อยหรือพวกผู้ประกอบการรายย่อย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชนชั้นกรรมาชีพจะมีจำนวนมาก และมีพลังซ่อนเร้นมากพอที่จะทำการโค่นล้มระบบนายทุนเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่พลังซ่อนเร้นที่อยู่ในปัจเจกจะไร้พลังแต่อย่างใดถ้าไม่รวมตัวกัน และอาวุธการต่อสู้ของการรวมตัวกัน ก็คือ การนัดหยุดงาน

เลนินเขียนบทความว่าด้วยการนัดหยุดงานว่า การนัดหยุดงานมีความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเพราะมันเป็นพยานหลักฐานที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า กรรมาชีพเป็นเจ้าของที่แท้จริงของระบบการผลิต หากไม่มีกรรมาชีพทำงานให้นายทุน ระบบการผลิตของชนชั้นนายทุนจะเป็นอัมพาต และการนัดหยุดงานเป็นการบ่งบอกว่า สถานการณ์ของกรรมาชีพไม่ได้ย่ำแย่จนแก้ไขไม่ได้ และกรรมาชีพจะเริ่มรู้ว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้ว่ากรรมาชีพจะมีพลังซ่อนเร้นอยู่อย่างมหาศาลแต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยลำพังไม่ได้ หากไม่มีการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมือง

ดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ แม้ว่ากรรมาชีพจะมีพลังซ่อนเร้นอย่างมหาศาล แต่เรามักเห็นหลายคนบ่นว่า เป็นเรื่องเพ้อฝันที่จะเห็นกรรมาชีพออกมานัดหยุดงานเพื่อต่อสู้ทางการเมือง เนื่องจากกรรมาชีพไทยไม่สู้และไม่ตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งเราก็จะเห็นว่าในสถานการณ์การเมืองทุกวันนี้ เราไม่เห็นขบวนการกรรมาชีพออกมาสนับสนุนคนหนุ่มสาวและเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ และขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ออกไป แต่ถ้าเราดูปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงสามสิบปีให้หลังมานี้ เราจะเห็นว่า คนที่ออกไปร่วมชุมนุมทางการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นพนักงาน บริษัท ห้างร้าน โรงงานต่างๆ และผู้ที่เสียชีวิตในการต่อต้านเผด็จการส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างในบริษัท ห้างร้าน แต่การออกมาเคลื่อนไหวออกมาในลักษณะปัจเจกบุคคล เป็นการออกมาชุมนุมสมทบร่วมกันกับผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่ได้ออกมาในลักษณะขบวนการทางการเมืองของแรงงาน

เรามีจุดแข็ง แล้วทำไมเราไม่ใช้มันให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้

รัฐคอยข่มขูคุกคามนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ คุก ศาล ตำรวจ อัยการ เป็นเครื่องมือควบคุมเสรีภาพการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีการดำเนินคดีผู้เรียกร้องประชาธิปไตยนับพันคดี มีการคุมขังแกนนำ ส่วนคนที่ได้ประกันตัวก็ต้องยอมรับเงื่อนไขอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อแลกกับเสรีภาพชั่วคราว และมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่สูญหายอย่างไม่ทราบร่องรอยเพราะว่าพวกเขาวิจารณ์นายทุนและกองทัพ แต่ทำไมชนชั้นกรรมาชีพถึงไม่ใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ในการสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตย และหนุนเสริมคนหนุ่มสาวและเยาวชนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนน

ความอ่อนแอของขบวนการแรงงาน

ถ้าเราจะก้าวไปข้างหน้า เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบันอ่อนแอมาก สาเหตุการอ่อนแอไม่ได้หมายความว่า แรงงานไทยไม่สู้ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกเราว่า กรรมชีพต่อสู้มาโดยตลอด ตั้งแต่เรื่องปากท้อง เรียกร้องการเพิ่มค่าจ้าง จนถึงระดับการเมืองของประเทศ

รัฐไทยรู้ถึงความสำคัญของแรงงานเป็นอย่างดีว่าแรงงานคือผู้สร้างมูลค่าส่วนเกินในสังคมนี้ รัฐทุนนิยมจึงให้ความสำคัญกับการควบคุมแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ นานา ตัวอย่างเช่น มีการกำหนดในประมวลกฎหมายอาญาว่า ห้ามมิให้ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขาย หรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน หรือสร้างเงื่อนไขในการจำกัดการรวมตัวกัน และดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ รัฐไทยได้ฆ่าผู้นำแรงงานเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันรัฐไทยก็ส่งผู้ปฎิบัติงานทางการเมืองของเขาจำนวนมากเข้าไปแทรกแซงขบวนการแรงงานเพื่อสร้างความแตกแยก ในขณะเดียวกันผู้นำแรงงานและสหภาพแรงงาน ก็ทำตัวเป็นปฎิปักษ์ต่อการสร้างประชาธิปไตย โดยทำการอวยทหาร เช่น ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ สหภาพแรงงานการบินไทยกวักมือเรียกทหารทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

สภาพความอ่อนแอของกรรมาชีพนั้น มีสาเหตุหลักคือ

๑. ขาดการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพราะยังไม่เข้าใจถึงพลังซ่อนเร้นของตัวเองที่มีผลกระทบต่อระบบนายทุน

๒. ขาดองค์กรจัดตั้งที่ก้าวหน้าเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ

๓. ขาดองค์ความรู้ ทฤษฎีที่ก้าวหน้าที่จะนำไปสู่การปฎิบัติการทางการเมือง และแข่งแนวทางการเมืองกับอุดมการณ์อื่น

๔. การต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่มีอยู่จำกัดเฉพาะเรื่องปากท้องภายในโรงงาน ไม่สามารถสร้างการต่อสู้ให้เป็นขบวนการทั้งหมดได้มากพอ

ความแหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยที่แท้จริงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากเราไม่กำจัดจุดอ่อนของกรรมาชีพ คนหนุ่มสาวและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจะไม่มีวันได้พบกับเสรีภาพอย่างแท้จริง หากไม่มีการหนุนช่วยจากขบวนการกรรมาชีพ และกรรมาชีพจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อพยายามรวมกันเป็นหนึ่งเดียวจากความตระหนักในปัญหาความเป็นอยู่และมีจิตสำนึกประชาธิปไตยไปพร้อมกัน

***************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทางของเรา เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com