โดย คิริฮาระ
บรรดาฝ่ายขวาและพวกนิยมระบบทุนนิยมมักจะโต้แย้งนักสังคมนิยมว่า “รัฐและชนชั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ” และ “ธรรมชาติมนุษย์มีแต่ความโลภและเห็นแก่ตัว” ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่มีควบคู่กับสังคมทุนนิยมมาตลอด กระทั่งมีทฤษฎีสภาพธรรมชาติ (State of Nature) ของโธมัส ฮอปส์ ที่เสนอว่า มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวแก่งแย่งทรัพยากรกันเพื่อเอาตัวรอดและก่อสงครามเป็นธรรมชาติพื้นฐาน เพื่อยุติความขัดแย้งนี้ ต้องมีรัฐโดยให้ฝ่ายตุลาการเป็นผู้ตัดสินความขัดแย้งให้เรา พูดง่ายๆคือเสนอให้มีคนถืออำนาจและปกครองนั่นเอง …แล้วนักสังคมนิยมมีข้อโต้แย้งอย่างไร?
สังคมบุพกาล สังคมเริ่มแรกของมนุษย์
มนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิงในแอฟริกาประมาณ 150,000 ปีมาแล้ว และค่อยๆกระจายไปตามทวีปต่างๆทั่วโลก สังคมบุพกาลเป็นสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ ทรัพยากรที่ได้มาจะเป็นของส่วนกลาง มีการแบ่งกันอย่างเท่าเทียม ไม่มีชนชั้น ไม่มีทรัพย์สินเอกชน ไม่มีรัฐและส่วนใหญ่เป็นสังคมที่ยากจนเพราะมนุษย์ยังไม่รู้จักแม้แต่การเลี้ยงสัตว์หรือเพาะปลูก มนุษย์ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลักเนื่องจากยังไม่สามารถดัดแปลงธรรมชาติให้มาเป็นประโยชน์ได้
สังคมบุพกาลที่เกิดขึ้นในอดีตจึงมีพลังการผลิตที่ต่ำ จึงเป็นเงื่อนไขให้มนุษย์ทุกคนในชุมชนต้องร่วมลงแรงกันทำการผลิตเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นกำลังแรงงานของทุกคนจึงจำเป็นและสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดโดยรวม การที่จะมีคนหรือกลุ่มคนที่เข้าถึงผลผลิตมากกว่าคนอื่นในสังคมจึงจะทำให้เกิดความขาดแคลนและอดตาย มันก็จะกระทบต่อกำลังแรงงานเพื่อความอยู่รอดของชุมชนเอง ด้วยเหตุนี้ผลผลิตที่ได้มาจะต้องแบ่งปันให้ทุกคนในชุมชนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อรักษาชีวิตของทุกคนในชุมชนเอาไว้
นักมานุษยวิทยาชื่อ มากาเร็ต มี้ด (Margaret Mead) ได้บรรยายให้เห็นถึงงานเลี้ยงฉลองของชนเผ่าปาปัวแห่ง Arapech ว่างานเลี้ยงฉลองของพวกเขาเป็นลักษณะรวมหมู่ ซึ่งถูกจัดขึ้นหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เนื่องจากมีบางครอบครัวในชุมชนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากกว่าผลผลิตเฉลี่ยของชุมชน ซึ่งมี้ดอธิบายเพิ่มว่า “งานเลี้ยงฉลองถูกจัดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปักเจกสะสมความมั่งคั่งไว้นั่นเอง”
อาช (Arch) นักมานุษยวิทยาอีกท่านศึกษาประเพณีของชนเผ่าโฮปิ (Hopi) พบว่าเด็กชาวโฮปิเมื่อเล่นเกมและกีฬา จะไม่มีการนับแต้มหรือคัดหาคนชนะเลย นั่นคือสังคมโฮปิไม่สนับสนุนให้ชิงดีชิงเด่นกันนั่นเอง
นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษสามท่านคือ ฮอบเฮาส์ (Hobhouse) วิลเลอร์ (Wheeler) และกินสเบอร์ก (Ginsberg) ได้ทำการสำรวจชุมชนบุพกาลจำนวน 425 เผ่า พบว่าทุกเผ่าที่ไม่รู้จักการเพาะปลูกจะไม่มีการแบ่งกลุ่มคนเป็นชนชั้น
มนุษย์ทั่วโลกอาศัยในสภาพเช่นนี้ประมาณ 140,000 ปี นั่นคือประมาณ 90% ของประวัติศาสตร์มนุษย์ เป็นยุคของความเท่าเทียมและการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์ ดังนั้นพวกที่สนับสนุนชนชั้นหรือนิยมระบบทุนนิยมจะอ้าง “ธรรมชาติมนุษย์มีแต่การกดขี่เห็นแก่ตัว” ไม่ได้
จุดเริ่มต้นสังคมชนชั้น
ยุคปฏิวัติหินใหม่ ประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว สภาพอากาศในบางพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เป็นผลให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลงทำให้มีการดิ้นรนเอาชีวิตแบบใหม่ เริ่มมีการปลูกพืชแทนที่จะเก็บของป่าและมีการจับสัตว์มาเลี้ยงแทนการล่าสัตว์ ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้จากหิน เพื่อให้ใช้งานได้ดีขึ้น
เมื่อเข้าสู่ยุคของการเกษตร มีการสร้างหมู่บ้านเป็นหลักแหล่งและใช้ที่ดินอย่างเป็นระบบ แต่ยังร่วมมือกันและไม่มีทรัพย์สินเอกชน แต่ถึงกระนั้นแล้วการที่คนอยู่กันเป็นหมู่บ้านถาวรก็เกิดความขัดแย้งในชุมชน ไม่เหมือนในยุคบุพกาล ดังนั้นเริ่มมีการตั้งกฎระเบียบของสังคมและมีการสะสมอาหารส่วนเกินเพื่อเผื่อในยามทุกข์ยาก เริ่มมีปัญหาสงครามและการแย่งชิงส่วนเกินขึ้น
ผลพวงของการปฏิวัติยุคหินใหม่คือมนุษย์ไม่ต้องฝากตัวเองไว้กับธรรมชาติเหมือนแต่ก่อน มนุษย์สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอและมากพอที่จะทำให้สมาชิกบางคนในชุมชนสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องลงแรงด้วยตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงนำเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ จึงเกิดระบบการทำงานตามความเชี่ยวชาญและการแบ่งงานกันทำในทางเศรษฐกิจ ทำให้พลังการผลิตสูงขึ้น เมื่อชุมชนสามารถสร้างผลผลิตส่วนเกินจากพลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ รูปแบบของสังคมก็เปลี่ยนไปตามเพื่อให้สอดคล้องกันด้วย เช่น จะมีผู้ชายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่หรือเป็น “พระ” และจ้างพวกอันธพาลติดอาวุธมาปกป้องตนและบังคับให้ผู้คนที่เหลือเป็นทาสและบังคับให้ทำการผลิตส่งให้ชนชั้นปกครอง ท่านอาจสงสัยว่าทำไมมนุษย์ที่อยู่ในสังคมที่เท่าเทียมเป็นเวลาหลายแสนปีจึงทนกับสังคมชนชั้นและความเป็น “ทาส” ได้
มาร์กซ์และเองเกิลส์เสนอว่า “ความสัมพันธ์ทางการผลิตระหว่างคน” เกี่ยวโยงกับ “พลังการผลิต” ถ้าพลังการผลิตพัฒนาสูงขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนย่อมเปลี่ยนไปด้วย ก็คือต้องเลือกเอาว่าจะเดินหน้าหรือจะถอยหลังนั่นเอง
บางกลุ่มอาจเลือกเดินหน้า ทั้งๆ ที่ทำให้พวกเขาขาดอิสรภาพบางอย่างไป แต่เราต้องตระหนักเสมอว่าความเปลี่ยนแปลงในสังคมดังกล่าวนั้น มีความขัดแย้งทางชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นเสมอ
สรุป
นิยายที่ชนชั้นปกครองพยายามจะหลอกเราว่า “ธรรมชาติมนุษย์คือความเห็นแก่ตัวและความโลภ” ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด และในความเป็นจริงมนุษย์มีนิสัยที่ซับซ้อน ไม่คงที่ สามารถเห็นแก่ส่วนรวมและเห็นแก่ตัวพร้อมๆ กันได้ แต่นิสัยไหนจะมากกว่ากันขึ้นอยู่กับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ถ้าสังคมไหน “ให้รางวัล” แก่คนที่เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น กดขี่และขูดรีดผู้อื่น สังคมนั้นย่อม “มีภาพว่า” มนุษย์นั้นเห็นแก่ตัว แต่แม้จะเป็นเช่นนั้นแล้ว ในสังคมนั้นๆ ก็มีคนมากมายที่จริงใจและพร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นเช่นกัน จะเห็นว่าการกดขี่ขูดรีด ความเหลื่อมล้ำและสังคมชนชั้นเป็นผลพวงการวิวัฒน์ไปของสังคมมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่ “กำหนดจากฟ้า” ดังนั้นมันย่อมแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ โลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมย่อมเป็นไปได้เสมอ
ภาพประกอบ Thomas Hobbes
**************
หากเห็นด้วยกับแนวทางสังคมนิยมแรงงาน เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6