เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ชนชั้นปกครองได้วางขนบว่าด้วยเรื่อง “ศีลธรรมอันดี” ให้เราเดินตาม ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ดำเนินตามกรอบเหล่านี้แม้แต่น้อย แซม ออร์ด จะมาขยายความว่า ศีลธรรมคืออะไรสำหรับชนชั้นแรงงาน
เราทุกคนต่างเคยได้เห็นพาดหัวข่าวกระแสหลักที่ออกมาโจมตีขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอย่างกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือกลุ่ม Black Lives Matter ว่า “ไร้ศีลธรรม” และ “เห็นแก่ตัว” พิธีกรรายการข่าวเช้า Good Morning Britain นายริชาร์ด มาเดอลีย์บอกว่าการที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Insulate Britain ออกมาเดินขบวนนั้นเป็นเรื่อง “ทุเรศ”
กลุ่มแรงงานทั้งผู้ลี้ภัย และประชาชนชนชั้นกรรมาชีพ ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ถูกยอมรับ และกลุ่มที่ไม่ถูกยอมรับในสังคม ซึ่งกลุ่มหลังก็จะถูกตีตราว่าเป็นพวกเหลือขอ แต่ในขณะเดียวกันไม่มีใครตั้งคำถามทางศีลธรรมกับพวกมหาเศรษฐีที่อยู่สุขสบายท่ามกลางวิกฤตสภาพอากาศ ( climate change) ที่ทำให้คนนับพันล้านต้องประสบความลำบากโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ และไม่มีใครมองถึงการที่พวกเขาเลี่ยงภาษี เล่นพรรคเล่นพวกกับพวกเศรษฐีด้วยกันเพื่อใช้อำนาจเหนือรัฐว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม
20 ปีที่ผ่านมา หลังจากกองทัพอังกฤษบุกเข้าชายแดนของอัฟกานิสถานได้ไม่นาน โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นได้สั่งการให้มีปฏิบัติการทิ้งระเบิด และกล่าวว่าเขาทำไปเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง “ตามหลักศีลธรรม” โดยอ้างว่าปฏิบัติการนี้ก็เพื่อทำให้เด็กและสตรีเป็นอิสระจากกองกำลังมุสลิมหัวรุนแรง
ผิดศีลธรรม???
นักเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและนักสังคมนิยมแย้งว่าการนำกองทัพบุกเข้าอัฟกานิสฐาน และการเข่นฆ่าทั้งประชาชนและกองกำลังนับแสนๆ ชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรมโดยสิ้นเชิง กลายเป็นว่า ถูกหรือผิดศีลธรรมนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ฝั่งไหนในการต่อสู้ทางชนชั้น
นักปฏิบัติชาวรัสเซีย ลีออน ทรอตสกี้ ได้ตั้งคำถามถึงประเด็น “ศีลธรรม” ในประกาศของเขาที่มีชื่อว่า “ศีลธรรมของพวกเขาและของพวกเรา” เขากล่าวว่าศีลธรรมหรือจริยธรรมนั้น เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขในผลประโยชน์และโครงสร้างของระบบชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม พวกชนชั้นปกครองพยายามที่จะยัดเยียดขนบเรื่องศีลธรรมเพื่อจำกัดขอบเขตการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพ และบังคับให้ยอมจำนนต่อการขูดรีดโดยไม่ต่อต้านด้วยวิธีใดๆ
พวกชนชั้นสูงเล่นแร่แปรธาตุกับระบบการศึกษาและสื่อ ไปจนถึงสถาบันศาสนาเพื่อบรรจงปั้นภาพลักษณ์ของ “พลเมืองดี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ครอบครัวที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง” ซึ่งเป็นวลีโปรดของนักการเมือง วางเส้นทางให้พลเมืองเหล่านั้นทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขสบายในการบริโภค และแข่งขันกันเพื่อให้ได้แต้มต่อ คะแนน ลาภยศ สรรเสริญมาตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านระบบการสอบ การให้เกรด ไปจนถึงเส้นทางอาชีพที่กำหนดไว้อย่างตายตัว
ที่สำคัญคือเหล่าคนงานกรรมาชีพที่หวังเติบโตในระบบทุนนิยมต้องไม่ก่อปัญหา และยอมกลายร่างเป็นกลไกส่วนหนึ่งของเครื่องจักรเพื่อสร้างผลกำไรชั้นดี
ส่วน “ศีลธรรม” ของชนชั้นปกครอง อนุญาตให้พวกเขาสามารถแข่งขัน และทำลายคู่แข่งทางธุรกิจ แทรกแซงทางการเมือง หรือทำสงครามเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ได้ตามใจชอบ ทรอตสกี้กล่าวว่า ระบบทุนนิยมจะดำรงอยู่ยาวนานไม่ได้เลย หากไม่มีโครงสร้างของ “ศีลธรรม” อันเป็นหลักนามธรรมเช่นนี้
“ศีลธรรม” ยังเป็นข้ออ้างให้ชนชั้นปกครอง สามารถยับยั้งและสลายขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ขัดต่อผลประโยชน์ และเป้าหมายของพวกเขาได้
ในปี 2020 กลุ่ม Black Lives Matter ออกมาโจมตีประเด็นการเหยียดเชื้อชาติที่ฝังรากลึกในระบบตำรวจ และสังคมของอเมริกันในภาพรวม ขณะที่นักการเมืองฝ่ายขวา และสื่อพยายามเอาเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมบางส่วนปล้นสะดม ทำลายทรัพย์สินมาตีแผ่ในวงกว้างเพื่อทำลายความชอบธรรมของผู้ชุมนุม
กลุ่มเดียวกันที่กล่าวอ้าง “ศีลธรรม” เช่นนี้กลับปกป้องระบบตำรวจที่เหยียดเชื้อชาติและใช้ความรุนแรงกับประชาชนคนชั้นล่าง และคนผิวสี พวกนักศีลธรรมคนดีปล่อยให้คนผิวดำหลายชีวิตต้องตายโดยน้ำมือตำรวจ โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับคนชนชาติอื่นๆ พวกเขาละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา มีรากฐานมาจากชนผิวขาวที่ล่าอาณานิคม และปล้นสะดมคนพื้นเมืองต่างชนชาติไปทั่วโลก
ทรอตสกี้กล่าวว่า “ ผู้คุมทาสใช้เล่ห์เพทุบายและความรุนแรงจับทาสมาใส่โซ่ตรวน และทาสคนนั้นก็ได้ใช้เล่ห์เพทุบายและกำลังในการปลดโซ่ตรวนนั้นออก เราจะยอมให้ “ศีลธรรม” และพวกคณะขุนนางใจคดมากล่าวกับเราว่า สองคนนี้มีความผิดเท่ากันในชั้นศาลเยี่ยงนั้นหรือ??? ” เขายังกล่าวว่า ศีลธรรมที่แท้จริง ย่อมมาจากพี่น้องแรงงาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของมนุษยชาติ
ธรรมชาติของ “ศีลธรรม” จะเผยโฉมอัปลักษณ์ออกมาก็ในเวลาที่มันสร้างความชอบธรรมให้การใช้ความรุนแรง นักการเมืองไม่ว่ายศตำแหน่งใด ก็ออกมาสนับสนุนชื่นชมกองทัพ ที่มีเทคโนโลยีสำหรับการฆ่าล้างบางอย่างอำมะหิตไว้ในมือ
กองกำลังของอังกฤษและสหรัฐอเมริการได้ปลิดชีวิตคนนับล้านในสงครามอิรัก แต่พวกเขาก็ได้รับทั้งการยกย่อง ได้รับการนิรโทษกรรม และความชอบธรรม การทดลอง ผลิต และสะสมอาวุธนิวเคลียร์แต่ละครั้ง ก็เป็นการคืบคลานสู่จุดจบของมวลมนุษยชาติ แต่ทั้งหมดนี้กลับถูกมองว่าเป็นการ “รักษาดินแดน รักษามาตุภูมิ” หรือแล้วแต่จะอ้าง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มพรรคการเมืองกระแสหลักในรัฐบาลอังกฤษ
พวกชนชั้นปกครองคือผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรง ผ่านกองกำลังต่างๆ ของรัฐ และบัญญัติในกฎหมายว่า….ใครอื่นใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่ากับพลเมืองหรือทรัพย์สินล้วนเป็นอาชญากร หรือผู้ก่อการร้าย ความรุนแรงโดยรัฐ เอื้ออำนวยให้กับระบบที่มีการขูดรีดทางชนชั้น การเหยียดเพศ การครอบงำทางศาสนา และความคลั่งเชื้อชาติดำเนินต่อไปได้ มันปกป้องโลกของคนรวยที่รวยขึ้นทุกวัน และคนจนหากไม่อดตาย ก็ต้องตกนรกทั้งเป็นจากความแร้นแค้น
การลุกขึ้นต่อสู้กับความรุนแรงในบางครั้ง ก็ต้องใช้ความรุนแรง ระบบแรงงานทาสไม่ได้ถูกยกเลิกจากการที่ผู้คุมทาสเกิดมีจิตเมตตาแล้วยกเลิกระบบแรงงานทาส หากแต่เกิดจากการที่เหล่าทาสรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ ซึ่งเราเคยได้เห็นการลุกฮือต่อต้านที่รุนแรงโดยกลุ่มทาส เช่นในการปฏิวัติเฮติ ซึ่งผู้คุมทาสต่างถูกบดขยี้ หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่จุดจบของระบบแรงงานทาสต้องแลกมาด้วยสงครามกลางเมืองที่เลือดนองไปทั่วแผ่นดิน
การต่อต้านการล่าอาณานิคมของอังกฤษ การต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิง การต่อสู้เพื่อล้มล้างการจับและค้าทาสในแอฟริกา ต่างก็เป็นตัวอย่างของการใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถูกกดขี่ และในขบวนการต่อต้านในทุกๆ กรณีเหล่านี้ในประวัติศาสตร์ พวกเขาก็พยายามที่จะพึ่งหนทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความรุนแรงมาตลอด
ในวันนี้ที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการ์ณสภาพอากาศ การบุกทำลายท่อส่งก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันเพื่อแสดงจุดยืนในการต่อต้านการใช้เชื่อเพลงฟอสซิล และกดดันให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นเรื่องผิดศีลธรรมหรือไม่ กลุ่มผู้ชุมนุมในเมืองสแตนดิง ร็อค ในมลรัฐดาโกตา สหรัฐอเมริกา ใช้สันติวิธีทุกทางที่สามารถทำได้ตามกฎหมายในการเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับสุนัขตำรวจ สายยางพ่นน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตาและการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก โดยที่ท่อส่งก๊าซก็ยังดำเนินงานอยู่โดยไม่มีผลกระทบใดๆ
ความรุนแรง
กลุ่มชาวปาเลสไตน์ มีสิทธิในการจับอาวุธขึ้นสู้กับการกดขี่และความรุนแรงที่มาจากรัฐอิสราเอล การที่จะโค่นล้มระบบที่นำโดยกลุ่มคนที่สามารถใช้ทั้งมาตรการทางกฎหมายและนอกกฎหมายเพื่อการดำรงอยู่ของระบบที่กดขี่ประชาชนนั้น จำเป็นต้องใช้การลุกขึ้นต่อต้านในทุกรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงความรุนแรงด้วย หาใช่ว่าเราจะพึ่งพายุทธวิธีการรบแบบกองโจร หรือการบุกทำลายสถานที่เป็นรูปแบบหลักในการเคลื่อนไหว สิ่งสำคัญที่แท้จริงในการต่อสู้ก็คือ “พลังมวลชน”
นักปฏิวัติ นายมัลตอล์ม เอ็กซ์ และกลุ่มนักรบปลดแอกชนผิวดำกลุ่มอื่นๆ ต่างก็ยึดหลักการดังกล่าว การต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความยุติธรรม “ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ” แต่ทรอตสกี้กลับมองว่า “แม้ผลลัพธ์จะเป็นตัวตัดสินความชอบธรรมในวิธีการต่อสู้ แต่ตัวผลลัพธ์เองนั้น ก็ต้องพิสูจน์ความชอบธรรมของตัวมันเองด้วย”
ความชอบธรรมของวิธีการและผลลัพธ์ เป็นตัวแปรผกผันซึ่งกันและกัน นักสังคมนิยมมุ่งที่จะกระจายอำนาจสู่สังคมส่วนรวม และสังคมส่วนรวมก็จะกลับมากำหนดการแบ่งทรัพยากรในระบบสังคมใหม่อีกที มิใช่ว่าผู้ให้และผู้รับระบอบสังคมนิยมจะเป็นผู้ที่มีความชอบธรรมมาแต่เดิมโดยไม่่ต้องมีการพิสูจน์หรือตรวจสอบ
การปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพ จะไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งหยิบยื่นให้ หากแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั้งมวลเองเสียก่อน ดังที่คาร์ล มาร์กซ์กล่าวว่า “การปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพ จะต้องมาจากชนชั้นกรรมาชีพเอง” ซึ่งการตัดชนชั้นกรรมาชีพออกจากกระบวนการปลดแอกนี้ ย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับการรักษาผลประโยชน์และอิสรภาพของชนชั้นกรรมาชีพ สิ่งนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อกรรมาชีพผู้ใช้แรงได้เรียนรู้ถึงศักยภาพของพลังมวลชนที่ผนึกพลังกัน วิธีการร่วมต่อสู้กับการกดขี่ การจำแนกแยกแยะมิตรและศัตรูความเป็นไปได้ทางเดียวของชนชั้นแรงงานคือ การต่อสู้ผ่านการเคลื่อนไหวมวลชน
ในขณะที่กลุ่มผู้ก่อการร้าย นักการเมืองฝ่ายซ้าย หรือกลุ่มกองกำลังของรัฐที่อ้างว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ต่างออกมาพูดว่าตัวเองคือตัวแทนของการเคลื่อนไหวมวลชนของชนชั้นกรรมาชีพ และปิดกั้นไม่ให้กรรมกรผู้ใช้แรงงานเข้าใจความสำคัญในการเคลื่อนไหวมวลชน การนัดหยุดงานประท้วง การปิดถนนหรือการเดินขบวน
ทรอตสกี้ล่าวว่า ในการต่อสู้ทางชนชั้น เราควรจะมุ่นเน้นในยุทธวิธีในการผนึกกำลังสร้างสมานฉันท์และการเคลื่อนไหวมวลชนในชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งจะเป็น “การเติมเต็มเชื้อไฟแห่งการต่อต้านการกดขี่ทุกรูปแบบ” ให้กับพี่น้องแรงงาน ซึ่งทรอตสกี้กล่าวต่อไปว่า ไม่ใช่ทุกวิธีการต่อสู้จะเป็นวิธีที่ถูกต้อง การต่อสู้เพื่อปลดแอกกรรมาชีพ จะต้องไม่นำมาซึ่งโอกาสที่นายทุนจะสร้างระบบหรือมาตรการการกดขี่ในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา
ศีลธรรมของชนชั้นกรรมาชีพ คือการเลือกใช้วิธีการต่อสู้ที่เป็นการรวมพลังมวลชนเพื่อโค่นล้มระบบทุนนิยม ซึ่งทรอตสกี้เคยเจอกับคำถามว่าด้วยศีลธรรมว่า “การต่อสู่ทางชนชั้นนั้นสามารถใช้วิธีการใดๆ ที่รวมไปถึงการสร้างข้อมูลลวง การโยนความผิด การหักหลัง การลอบสังหาร ฯลฯ ได้หรือไม่?? ” และเขาก็ได้ตอบคำถามเหล่านั้นด้วยคำถามว่า “ วิธีการที่ว่านั้น สามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้จริงหรือ?? ” มันต้องการการพิสูจน์
“ทั้งการตั้งสมมติฐานในทางทฤษฎี ทั้งหลักฐานจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และมโนสำนึกของทุกๆ ท่าน ต่างก็ชี้ว่าวิธีการเหล่านี้ไม่สามารถช่วยให้ชนชั้นแรงงานบรรลุเป้าหมายได้ เราจะกล่าวกับกลุ่มก่อการร้ายว่า พวกท่าน หาใช่ตัวแทนของมหาชนที่ถูกกดขี่ไม่ ชัยชนะที่แท้จริง และการต่อสู้เยี่ยงวีรบุรุษนั้น จะต้องมาจากมวลชนเพียงเท่านั้น”
“หากแต่ในสภาวะสงครามกลางเมือง การลอบสังหารผู้กดขี่ ไม่ได้เป็นการกระทำที่อุตริกระทำแทนมวลชนอีกต่อไป ในสงคราม การเข่นฆ่า เช่น การที่ฝ่ายเราระเบิดนายผลฟรังโก้และกองกำลังของเขาแหลกเป็นจุณนั้น จะไม่ถูกมองว่าขัดศีลธรรม”
“ดังนั้นเอง การที่บุคคลหนึ่งฆ่าอีกบุคคลหนึ่ง จะไม่ใช่การกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมในทุกกรณีเสมอไป”
นักปฏิวัติสังคมนิยม จะเข้าใจศีลธรรมได้ ก็จะต้องเข้าใจถึงความสำคัญของการขุดรากถอนโคนระบอบทุนนิยมเสียก่อน ซึ่งระบอบทุนนิยมได้สร้างมาตรฐานศีลธรรมจอมปลอม แต่กลับวางรากฐานอยู่บนการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง ความยากจน การทำลายสิ่งแวดล้อม จักรวรรดินิยมและสงคราม
นักปฏิวัติจะต้องนำประเด็นของศีลธรรมโดยชนชั้นปกครองมาชำระเสียใหม่เป็นรายกรณี ซึ่งศีลธรรมของพวกเรา ก็คือการเข้าใจความวิปริตฉ้อฉลของระบอบทุนนิยม และการต่อสู้เพื่อปลดแอกพี่น้องแรงงาน ซึ่งขัดแย้งในสาระสำคัญกับศีลธรรมที่ชนชั้นปกครองพยายามยัดเยียดให้เรา
ที่มา: What is morality? – Sam Ord
https://socialistworker.co.uk/art/52559/What+is+morality?fbclid=IwAR1rC0XOa_rnzwRPSnxcRKqWJ-BQdN1SRlbqMs5HVp_R8Ny9crMtdw6a7u0
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6