Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ระบบชนชั้นไม่สามารถช่วยเราให้รอดพ้นจากวิกฤต

พัชณีย์ คำหนัก

ชนชั้นปกครองไทยซึ่งใช้อำนาจรัฐเผด็จการเห็นชัดว่าไม่พยายามเพียงพอที่จะช่วยชีวิตประชาชนให้รอดพ้นจากการระบาดของ Covid-19 ได้ ผู้คนนับหมื่นเสียชีวิตและกว่าล้านคนตกงานท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ซึ่งเกิดขึ้นถึง 4 รอบ มาตรการบรรเทาทุกข์ที่ออกมาแต่ละรอบก็ช่วยไม่ได้

เชื้อไวรัสแม้จะไม่เลือกปฏิบัติและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสังคมโลกาภิวัตน์ แต่ความรุนแรงของโรคระบาดจากอัตราการแพร่ระบาด ความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการเสียชีวิตล้วนมาจากปัจจัยสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนและระบบการคุ้มครองทางสังคม  นอกจากนี้ ยังมาจากระบบสังคมที่ดำรงอยู่ที่มักสร้างความขัดแย้งกับประชาชน

ดังเห็นได้จาก การเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และการละเมิดสิทธิต่างๆ เพื่อให้ระบบที่ผิดปกตินี้ผ่านพ้นไปได้ ที่แย่ไปกว่านั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันสืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2557 และเข้มแข็งขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบมาควบคุมระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและเข้ามามีอำนาจบริหารประเทศได้  ความขัดแย้งในปัจจุบันที่เกิดจากการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง การฆาตกรรมคนเห็นต่าง และการเลิกจ้างจำนวนมากก็ดูคลับคล้ายกับการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองที่ผ่านมา นั่นคือเหตุผลที่การต่อสู้ การต่อต้านของประชาชนแรงงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็น และชอบธรรมเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างรัฐอำนาจนิยมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หลายคนทราบดีว่า ระบบที่เราอยู่คือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ผลิตสินค้าและบริการไม่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่แต่ตอบสนองคนมีเงิน หากต้องการบริโภคดีต้องมีเงิน นอกจากนี้ การว่างงานจำนวนมากและงานชั่วคราวไม่เป็นทางการยังเป็นลักษณะของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมด้วย เพราะมันมีหน้าที่ปรับโครงสร้างการผลิตของทุนในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ปลดคนงานในภาคส่วนที่มีการจ้างงานมาก ก่อให้เกิดกองทัพคนว่างงานและสร้างความขัดแย้งกับคนงานเป็นระยะๆ  

การจัดการโรคระบาดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วภายใต้ระบบทุนที่ผิดปกติและมีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ สิ่งจำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภคถูกกักตุนและขายให้ประเทศอื่น รัฐบาลไม่แทรกแซงกลไกการตลาด ลดค่าเดินทาง ราคาน้ำมัน และยังทำให้นายจ้างเลิกจ้างพนักงานได้ง่ายด้วย ทั้งออกมาตรการล็อกดาวน์กับการเยียวยาไม่ชัดเจน ทำให้แรงงานนอกระบบยังต้องออกไปทำงานในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คนทำงานกลางคืน เช่น นักดนตรีเดือดร้อนจนต้องขายเครื่องมือทำมาหากิน การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐนำแรงงานเพื่อนบ้านเข้าประเทศโดยไม่ทำให้ถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงการผูกขาดการผลิตวัคซีนและฉีดวัคซีนที่ล่าช้าล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การระบาดรุนแรงขึ้น ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่าหนึ่งล้านคนและเสียชีวิตสองหมื่นราย ซึ่งเป็นการด้อยค่าประชาชน

ด้วยเหตุนี้ เรา ประชาชนคนธรรมดาจำเป็นต้องออกมาเรียกร้องแก้ปัญหาผลพวงจากวิกฤตสุขภาพ และเปลี่ยนแปลงระบบรัฐให้รับใช้ประชาชนคนส่วนใหญ่ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนมาก่อนกำไรของภาคเอกชน เช่น ยกเลิกหนี้สิน เก็บภาษีมั่งคั่งจากเศรษฐี สร้างงานใหม่ กระจายรายได้ เพิ่มเงินเดือนพื้นฐานและสวัสดิการถ้วนหน้าเท่าเทียมกัน

กระนั้น คนทั่วไปกลับมองว่าการขึ้นค่าจ้างในยามวิกฤตเป็นเรื่องไร้เหตุผล แต่หากดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นว่า การเพิ่มค่าแรงไม่ได้ทำให้คนตกงาน ไม่ได้ทำให้งานลดลง แรงงานย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ทำให้เกิดการแย่งงานคนในประเทศ แต่นายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนมักฉวยโอกาสจากภาวะการว่างงานสูง กดค่าจ้างและจ้างงานด้วยสัญญาจ้างระยะสั้น จ้างงานเหมาช่วง สร้างความไม่แน่นอนให้แก่คนทำงาน สร้างเงื่อนไขมากมายในการเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่คนงานจะออกมาเรียกร้อง ไม่ควรปล่อยให้นายทุนครอบงำตลาดแรงงานจนทำให้ไม่สามารถเลือกงานที่ดี หรือรับงานเหมาที่แสนถูก และควรกดดันนายจ้างและรัฐให้เพิ่มมาตรฐานการจ้างงาน ไม่ใช่ปล่อยให้ทำงานต่ำระดับ (underemployment) ทำงานไม่เต็มที่กว่า 2 ล้านคน ณ ปัจจุบัน อันเป็นการซ้ำเติมคนทำงาน

เนื่องด้วยสิทธิที่จะทำงานคือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ประชาชนไม่ควรถูกทิ้งให้ตกงาน และถูกนายจ้างลอยแพเป็นประจำจนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมชนชั้น หากเริ่มต้นด้วยวิธีคิดเรื่องสิทธิที่จะมีงานทำ การพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างงานก็จะมีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม ที่มองว่าคนงานไปของานทำและนายทุนคือผู้สร้างงาน และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้นนั่นเอง

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com