โดย ธิติมา ทองศรี
UBI (Universal Basic Income) คือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า รัฐนำเงินภาษีมาแจกจ่ายแก่ประชาชนทุกคน และเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่ง UBI เป็นการให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรจะได้รับ ไม่ใช่สวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ หรือการแบมือขอ
โดย UBI นั้นได้รับความนิยมจากหลากหลายเหตุผล อย่างแรกคือ การกลัวอนาคตจากการที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมาแย่งงานคนจนทำให้คนตกงาน เกิดการว่างงานจำนวนมาก จึงเกิดการเรียกร้อง UBI และเริ่มเป็นกระแสขึ้นมาซึ่ง มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก และ อีลอน มักส์ ก็สนับสนุน UBI เพราะเหตุผลนี้เช่นกัน อย่างต่อมาคือความคิดที่ว่า UBI สามารถแก้ปัญหาความยากจน คนตกงาน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนได้
ประโยชน์ของ UBI คือ การที่เราได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ถึงแม้ว่าเราจะตกงานก็ตามเราก็ยังได้รับอยู่ มีผลวิจัยบอกว่าจะทำให้คนเราได้ใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น และมีเวลาสร้างสรรค์ผลงาน สิ่งใหม่ๆ สร้างประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น เพราะไม่มีการตกงานอีกต่อไปแล้ว UBI จ่ายเงินให้ทุกคนทั้งคนตกงาน พ่อแม่ลูก ผู้สูงอายุ เป็นต้น
Andrew Yang นักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายไต้หวันที่เคยลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ในนโยบายของเขาก็ใส่เรื่อง UBI ลงไป ซึ่งเขาเรียก UBI ว่าเป็นการปันผลเสรีภาพ (freedom dividend) และเขายังกล่าวว่าเขาไม่ได้สนับสนุน UBI เพราะว่าอยากช่วยคนที่ยากจน แต่เพื่อสร้างอนาคตให้กับทุกคน
นอกจากนั้น UBI ยังเป็นเครือข่ายประกันความปลอดภัย(safety net) เพราะแรงงานจะได้รับเงินเท่ากันทุกคนเพื่อจะไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร ความหิวโหย ช่วยประกันความเสี่ยงสำหรับคนตกงาน คนที่เกษียณ หรือจากความผันผวนจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โควิดระบาด
นอกจากนั้นยังมีผลเชิงปฎิบัติว่าช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ในครอบครัวได้ เช่น ภรรยาไม่ต้องพึ่งพาเงินสามี จึงไม่จำเป็นต้องทนถูกกดขี่ภายในครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ปัญหาสังคมและอาชญากรรมลดลง ทำให้คนมีการศึกษาดีขึ้นและมีอิสรภาพมากขึ้น
จากปัญหาและประโยชน์ของUBI ข้างต้น ปัจจุบันจึงเริ่มมีกระแสการผลักดัน UBI นักการเมืองหลายคนเริ่มผลักดัน UBI ในเชิงนโยบายเข้าสู่รัฐบาล ซึ่งก็มีหลายรัฐที่ทำการทดลอง เช่น แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ แม้ว่าฟินแลนด์จะไม่ดำเนินโครงการ UBI ต่อ อาจจะด้วยเหตุผลด้านการเมือง แต่ความจริงแล้ว UBI ไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้จะเพื่งมาบูมช่วงวิกฤตโควิดนี้ เพราะแนวคิด UBI เกิดมาประมาณ 500 ปีก่อน จากหนังสือยูโทเปีย ปี ค.ศ.1516 ของนักคิดสังคมนิยม โทมัสมัวร์ (Thomas More) ในไทยก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน เพราะในยุคปรีดี ก็มีการเสนอ UBI ในเค้าโครงเศรษฐกิจ แต่ถูกปัดตกจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในยุคนั้น
โดยทั่วๆ ไป UBI มีประสิทธิภาพตรงที่มันสามารถเก็บภาษีคนรวยมาให้คนจน ตรงตามคอนเซ็ปต์ tax the rich! คนที่รวยมหาศาล รัฐก็จะเก็บภาษีคนพวกนั้นมากระจายรายได้ให้คนอื่นๆ หรือรัฐออกวิธีจำกัดรายได้ขั้นสูงของประชาชน ซึ่งอันนี้ก็ต้องไปกำหนดโครงสร้างการเก็บภาษีและระบบกันอีกที ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่
จากปัญหาของทุนนิยมในปัจจุบันที่กัดกินระบบสวัสดิการของแรงงานในระบบ และทำลายความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ทำให้แรงงานรวมตัวกันเรียกร้องสวัสดิการที่เป็นธรรมได้ยากขึ้น เพราะการเติบโตของระบบจ้างการแบบยืดหยุ่น เช่น การจ้างงานชั่วคราว พาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ การจ้างงานแบบรายชิ้น หรือoutsource ระบบ subcontract โดยมาร์กซิสคือคนที่ยืนอยู่ข้างแรงงานและการต่อต้านทุนนิยมนั้น
มาร์กซิสบางกลุ่มมองว่า UBI จะมาแก้ไขปัญหานี้ได้เพราะเราทุกคนเป็นแรงงาน(ไม่ว่าเราจะถูกจ้างงานในระบบหรือไม่ก็ตาม) และมีส่วนในการสร้างมูลค่าให้กับระบบนั้นๆ ที่อาศัยอยู่ รัฐจึงต้องมีการให้เงินพื้นฐานอย่างถ้วนหน้า และไม่สนว่าเขาจะมีเชื้อชาติอะไรด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้อาจจะมองต่างจากพวกลิเบอรัลที่ออกนโยบายให้แค่พลเมืองตัวเองไม่ได้ให้แรงงานข้ามชาติ
ในมุมมองของ เดวิด เกรเบอร์ นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย รัฐจะต้องยกเลิกงานเอกสารในราชการและพวก Bullshit Job ที่เป็นงานที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ไร้จุดหมายและไม่มีความจำเป็น แต่ทำงานแล้วได้เงินเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนได้มาทำงานที่ตัวเองอยากจะทำจริงๆ มาร์กซิสบางกลุ่มก็ซื้อความคิดของเกรเบอร์การยกเลิกงานข้างต้น ผสมกับการมี UBI นอกจากนั้นเกรเบอร์ยังมองว่าทุนนิยมมีปัญหาตรงที่มันทำให้การสะสมทุนความมั่งคั่งต่างๆ สามารถแปรเปลี่ยนเป็นอำนาจได้
ในมุมมองมาร์กซิสบางคนก็ยังมองว่า UBI ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้หมดจดหากเรายังอยู่ในสังคมทุนนิยม กลับกันนายทุนหรือมหาเศรษฐีก็ยังสามารถกอบโกยความมั่งคั่งได้มากขึ้นไปอีก หาทางหลีกเลี่ยงภาษี บลาๆ มี UBI ในบางประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย มีข้อสังเกตว่า UBI ทำงานได้แค่ในเศรษฐกิจของผู้บริโภค ไม่ใช่ในเศรษฐกิจของผู้ผลิต
อาจกล่าวได้ว่า UBI นั้นเป็นไปได้สำหรับประเทศร่ำรวยในโลกตะวันตก ไม่ใช่ในแถบซีกโลกใต้ (Global south) นั่นเอง เนื่องจากฺ UBI ในปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการฉวยประโยชน์ (exploitation) นอกจากนั้นยังมองว่า UBI ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งในตัวเองของทุนนิยม คือเมื่อทุนนิยมเกิดล้มเหลวขึ้นมา เช่นจากวิกฤตโควิดระบาด UBI ก็บูมขึ้นเพื่อปกป้องระบบ และให้ทุนนิยมได้ดำเนินต่อไป ซึ่งการมี UBI ในระบบทุนนิยม มาร์กซิสบางกลุ่มมองว่าเป็นการปฎิรูป(reform) ระบบทุนนิยมอย่างหนึ่ง จุดยืนอย่างการเก็บภาษีคนรวยมากระจายรายได้ให้คนอื่นๆ จึงยังไม่เพียงพอ แต่รัฐสวัสดิการถือเป็นก้าวแรกในอีกหลายๆ ก้าวที่ดีถ้าทำได้จริงๆ เพราะจุดหมายคือการถือครองปัจจัยการผลิตหรือขั้นสูงสุดคือระบบการแลกเปลี่ยนโดยไม่พึ่งเงิน มาร์กซิสกลุ่มนี้กล่าวโดยสรุปคือมองว่า UBI สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อน การทำงานด้วยเครื่องจักร AI แทนที่มนุษย์ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจได้ แต่ UBI ยังไม่ใช่เป้าหมายในการแก้ปัญหาการฉวยประโยชน์ในสังคมทุนนิยม
แนวคิด UBI นั้นเป็นความคิดที่ดี และเป็นเครื่องมือช่วยสร้างความเท่าเทียมในสังคม แต่เราก็ต้องระวังและช่วยกันผลักดันการต่อสู้ทางการเมืองในเรื่องต่างๆไปพร้อมๆกัน เช่น ต้องทําลายกําเเพงระบบราชการ ความช้า การคอรัปชั่น ความคิดเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และเพดานรายได้ด้วย ไม่งั้นUBIก็อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมืออย่างอื่นในระบบทุนนิยมได้
************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6