Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

มองสังคมผ่านปรัชญา วิภาษวิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

โดย คิริฮาระ

ก่อนจะไปสู่หัวข้อหลักเราคงต้องมานั่งคิดกันก่อนว่า “ปรัชญาจำเป็นหรือไม่?” แต่ถ้าเราลองพิจารณาดูแล้ว ทุกคนก็ล้วนมีปรัชญาของตัวเอง เราอาจเรียกปรัชญาเหล่านั้นว่า “วิธีการ” หรือ “มุมมอง” ที่เราใช้มองโลกหรือสิ่งรอบตัวก็ได้

ในสังคมทุนนิยมทั่วโลก ชนชั้นปกครองจะพยายามป้อนชุดความคิดตามหลักปรัชญาของตนเองเพื่อหลอกลวงให้เราเชื่อและยอมแพ้ในการต่อสู้ทางชนชั้น (เช่นคำโกหกคำโตของชนชั้นปกครองว่าสังคมชนชั้น ความไม่เท่าเทียมคือเรื่องธรรมชาติ) ถ้าหากไร้ซึ่งหลักการวิเคราะห์ระบบทุนนิยมที่เป็นระบบระเบียบและเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว เราคงจะถูกชุดความคิดจากชนชั้นปกครองกลืนกินแน่นอน หรือไม่ก็อาจต่อสู้เพื่อสังคมนิยมแบบเพ้อฝัน

แต่เราต้องตระหนักรู้ว่าปรัชญาวิภาษวิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ไม่ใช่ “คัมภีร์” หากแต่คือหลักตามวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผู้ศึกษาไม่ควรอ่านท่องจำ หากแต่ต้องคิดตามไปด้วย และมันคงมีข้อบกพร่องอยู่มากหากเราคิดตีความด้วยปรัชญานี้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นการใช้ปรัชญานี้ควรควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆในวงสนทนา หรือกลุ่มศึกษา จึงจะได้ประโยชน์และเห็นภาพชัดเจนที่สุด

วิภาษวิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

“วิภาษวิธี” เป็นปรัชญาที่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่สมัยกรีก และมีจุดสำคัญคือนักปรัชญาที่ชื่อ ยอร์ช เฟเดอริค เฮเกล ซึ่งมาร์กซ์ได้รับอิทธิเรื่องปรัชญาวิภาษวิธีมาจากนักคิดคนนี้

แต่เฮเกลเป็นพวกจิตนิยม คือเน้นจิตใจมากกว่าวัตถุที่จับต้องได้ ดังนั้นมาร์กซ์จึงนำสิ่งที่เฮเกลเสนอมาดัดแปลงต่อ พูดสั้นๆ วิภาษวิธีคือแนวคิดที่ยอมรับว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมองว่าการมองภาพรวมคือความจริง ซึ่งภาพรวมนี้จะเต็มไปด้วยสิ่งที่ขัดแย้งกัน

“วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ก็ถูกพัฒนามาตั้งแต่อดีตเช่นกัน ซึ่งนักปรัชญาที่ชื่อฟอยเออร์บัคก็นำมาพัฒนา ซึ่งมาร์กซ์ก็นำมาพัฒนาต่อ แล้วนำ “วิภาษวิธี” กับ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” มารวมกัน พูดง่ายๆ คือการมองว่าความคิดมนุษย์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ทุกอย่างสามารถนำมาอธิบายหรือมองภาพที่มีความสัมพันธ์กับความเป็นจริง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้เกิดแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ได้เกิดจากผลอำนาจจากพระเจ้าองค์ใดหรือมหาบุรุษคนไหน เป็นการมองว่าความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับวิถีการเลี้ยงชีพ ระบบเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่สิ่งที่ลอยอยู่เหนือความจริง

การรวม “วิภาษวิธี” และ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าหากเราใช้แต่เถียงวิภาษวิธี มันจะนำไปสู่การเน้นเรื่องความคิดจิตใจเป็นหลัก มากกว่าสภาพแวดล้อมที่จับต้องได้ แต่หากรวมกับวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ก็จะเป็นการดึงวิภาษวิธีให้ติดดินและอยู่กับโลกจริง

ประวัติศาสตร์โลกในมุมมองมาร์กซิสต์

ประวัติศาสตร์จากมุมมองมาร์กซิสต์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของ “ผู้ใหญ่” ที่เน้นคนส่วนน้อยหรือมหาบุรุษ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทั้งโลกที่พิจารณาตามสภาพแวดล้อมของโลกจริง และเป็นประวัติศาสตร์ของ “ระบบสังคม” และ “วิถีเลี้ยงชีพ” ของมนุษย์ ตามแนวความคิดวิภาษวิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เราจะไม่มองประวัติศาสตร์เป็นภาพนิ่ง วิถีชีวิต ระเบียบสังคม ค่านิยม ความเชื่อ ย่อมเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลักๆ จะมาจากความขัดแย้งทางชนชั้น อีกทั้งเราจะศึกษามนุษย์ทั้งโลก และไม่คิดว่าเชื้อชาติใดมีความพิเศษกว่าเชื้อชาติอื่นๆอีกด้วย

การค้นพบคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ในโลก เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ของโลกพร้อมๆ กัน หรืออาจเกิดจากการถ่ายทอดความรู้จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง แต่จุดสำคัญคือความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวไม่สามารถแยกออกจากสภาพแวดล้อมของโลกจริงได้

จะเห็นว่าปรัชญาวิภาษวิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ขัดแย้งโดยตรงกับปรัชญาของชนชั้นปกครองที่จะป้อนให้เราเชื่อผ่านการผูกขาดสื่อสาธารณะ ระบบการศึกษาหรือสถาบันศาสนา เช่นเรื่อง “มหาบุรุษ” “สังคมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง” และอื่นๆ มากมาย ถ้าเราพิจารณาจากมุมมองวิภาษวิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่านิยายเหล่านี้ก็เพียงแต่คำโกหกคำโต ไม่ใช่สิ่งใดอื่น ชนชั้นนายทุนและชนชั้นปกครองในอดีตไม่สามารถครอบงำและปกครองคนส่วนใหญ่ได้ ถ้าหากมีแค่ “กองกำลังติดอาวุธ” เช่น ทหาร ตำรวจ การใช้ปรัชญามาร์กซิสม์จึงจำเป็นในการคานและต่อสู้กับชนชั้นนายทุน และเป็นธงนำในการต่อสู้ทางชนชั้นไปสู่สังคมนิยมที่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์

***********************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com