Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

บทเรียนจากวิกฤตทุนนิยมในอดีตและการหาทางเลือกใหม่ของประชาชน

พัชณีย์ คำหนัก

ผู้เขียนขอทบทวนเหตุการณ์วิกฤตการเงินในระบบทุนนิยมโลกเมื่อปี 2551 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่เราได้เห็นผู้คนนับล้านๆ ตกงานและจบลงด้วยความยากจน กระนั้นก็มีการต่อต้านจากประชาชนคนธรรมดาทั่วโลก นับตั้งแต่การลุกฮือของชาวอาหรับ (อาหรับสปริง) ไปจนถึงการยึดโรงงานและนัดหยุดงานทั่วไปในประเทศกรีซที่คนธรรมดาออกมาเดินขบวนเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมใหม่

ทั้งนี้ สถานการณ์วิกฤตในอดีตทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจก็คลับคล้ายกับปัจจุบัน ที่เมื่อมีความขัดแย้ง ปัญหาวิกฤตก็มีการต่อต้าน และปัญหาที่ตามมาจากการบริหารควบคุมโรคระบาดก็นำไปสู่การตกงานและความยากจนของคนนับล้าน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยถ่างมากขึ้น สถานการณ์วิกฤตโรคระบาดก็ยังสามารถทำให้คนรวยเพียงหยิบมือรวยมากขึ้น คนงานยากจนลงเพราะถูกลอยแพ รัฐบาลไร้ความสามารถในการช่วยเหลือประชาชน ผลการวิจัยของธนาคาร Credit Suisse (เครดิตสวิส) ล่าสุดปี 2020 ระบุว่า มีคนจนจำนวนมากที่ยากจนข้นแค้นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีคนรวยเพิ่มขึ้น คือ เพิ่มขึ้นกว่า 1% เป็น 56.1 ล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้การที่จำนวนผู้คนร่ำรวยมากนั้นมาจากทรัพย์สินที่พวกเขาลงทุนมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้น 24% ทั่วโลก เป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา

ลักษณะการเกิดวิกฤตการเงิน 2551

ก่อนเกิดวิกฤต ตลาดการเงินสหรัฐฯ เฟื่องฟูมากเพราะพึ่งพิงสินเชื่อเคหะด้อยคุณภาพ หรือที่รู้จักกันในนามซับไพร์ม มอร์เกจ และตราสารอนุพันธ์ จนเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ เพราะมีการเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัย ธนาคารปล่อยสินเชื่อที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือด้อยคุณภาพมากจนเกินไป มีการเอาใบที่จำนองบ้านไปขายต่อเก็งกำไรกันเป็นทอดๆ ในตลาดการเงินจนฟองสบู่แตก และเมื่อผู้คนเริ่มที่จะต้องจ่ายเงินกู้คืน ประชาชนราว 1.5 ล้านคนในอเมริกาก็ไม่สามารถชำระและต้องเสียบ้านไปในที่สุด

ทั้งนี้เพราะดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนั้น ขณะที่ราคาบ้านเริ่มต่ำลง เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเกิดการยึดทรัพย์ไปทั่วประเทศ สถาบันการเงินก็ขาดทุนย่อยยับ นักลงทุนเทขายหุ้น คนตกงานหลายล้านคน และส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่แย่คือมีการใช้นโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการเพื่อนำเงินไปฟื้นฟูภาคการเงิน ก่อให้เกิดการประท้วงของแรงงานในหลายประเทศ

ระบบทุนนิยมจึงล้มเหลวในการสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ในประเทศที่ถือว่าร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาประชาชน 47.7 ล้านคนต้องขอรับอาหารจากธนาคารอาหารและ 4.8 ล้านคนตกงานระยะยาว

ในกรีซและสเปนประชาชนเกิน 25% ตกงานและเกือบครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาวทั้งหมดไม่มีงานทำ ในกรีซค่าจ้างในภาคเอกชนลดลงมากกว่า 30% ตั้งแต่ปี 2010 และเงินเดือนขั้นต่ำลดลง 22% อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นนับตั้งแต่วิกฤตเริ่มต้น แทนที่รัฐบาลจะยกปัญหาการว่างงานมาแก้ไข แต่กลับใช้เงินนับพันล้านดอลลาร์อุ้มธนาคารซึ่งเป็นผู้ก่อวิกฤต  คนงาน คนจนถูกบังคับให้ต้องเสียสละ เพราะรัฐบาลหลายประเทศตัดสวัสดิการ ตัดงบที่อุดหนุนโรงเรียนของรัฐและเลิกจ้างคนทำงานภาครัฐจำนวนมาก 

นักสังคมนิยมชาวกรีกชื่อ นิโคส ลูโดส อธิบายผลกระทบจากการตัดสวัสดิการว่า โรงพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถดำเนินการได้เพราะถูกตัดงบประมาณ คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยปิดตัวลง เช่น คณะสถาปัตยกรรมในกรุงเอเธนส์ มีตัวอย่างของโรงพยาบาลที่หมอและบุคลากรขอให้ประชาชนนำยาและอุปกรณ์จากบ้านมาด้วย

ผู้บริหารประเทศพยายามบังคับให้คนธรรมดาเสียสละซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมนั้นดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของคนรวย 1% และขาดประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่

ทั้งๆ ที่เกิดวิกฤต คนรวยที่ควบคุมความมั่งคั่งของโลกเอาไว้ หลายคนก็ร่ำรวยขึ้นในช่วงวิกฤต คนรวย 1% ในโลกเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากเท่าๆ กับคนระดับล่าง 57% สถาบันนโยบายศึกษาพบว่า CEO ในบริษัทอเมริกาขนาดใหญ่ทำรายได้โดยเฉลี่ย 10.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 เพิ่มขึ้น 28% จากปีที่แล้ว

การต่อต้านของคนธรรมดาเพื่อหาทางเลือกใหม่

การปฏิวัติทั่วโลกเกิดขึ้นบนความเชื่อที่ว่า คนธรรมดามีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ก่อนที่จะเกิดอาหรับสปริง รัฐบาลและสื่อกระแสหลักได้ผลักดันแนวคิดเหยียดเชื้อชาติที่บอกว่า โลกอาหรับนั้นล้าหลังและไม่สนใจประชาธิปไตย แต่คนธรรมดาสามารถโค่นล้มเผด็จการ เบน อาลี ในตูนิเซียได้สร้างความมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ส่งผลสะเทือนเสมือนไฟลามทุ่งทั่วอาหรับ และยังให้แรงบันดาลใจกับขบวนการยึด ขบวนการ Indignados movement ในปี 2011 ในสเปนที่เข้าไปยึดจัตุรัสและสถานที่ทำงานต่างๆ เพื่อต่อต้านนโยบายตัดสวัสดิการและการอุ้มระบบทุน

แต่ยังมีขบวนการประชาชนที่ยังไม่โค่นระบบ เช่น ในการปฏิวัติอียิปต์ขจัดผู้ปกครองเผด็จการที่ชื่อ ฮอสนี มูบารัก และแทนที่ด้วยคนใหม่ที่มาจากชนชั้นนำของสังคม ส่วนระบบเศรษฐกิจยังคงเป็นทุนนิยม ในขณะที่ 40% ของประชากรชาวอียิปต์มีรายได้วันละ 2 ดอลลาร์ (ราว 60 บาท) คนหนุ่มสาว 25% ของประเทศที่มีคนอายุต่ำกว่า 25 ปีทั้งหมด 60% ตกงาน

การต่อสู้จึงต้องไปต่อและพัฒนารูปแบบอำนาจการต่อรองของคนงาน โดยในสัปดาห์ที่สามารถโค่นล้มเผด็จการมูบารัค มีคลื่นการนัดหยุดงานทั่วไปที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเป็นอัมพาตและส่งผลกระทบต่อการปกครองของมูบารัค

ทั้งนี้เพราะพลังของแรงงานอยู่ในใจกลางของระบบทุนนิยม  หากไม่มีคนงาน สังคมก็ขับเคลื่อนไปไม่ได้ ตั้งแต่คนขับรถเมล์ พนักงานร้านกาแฟ โรงเรียน โรงงาน โรงพยาบาล ซึ่งหมายความว่า คนงานมีอำนาจต่อรองหากรวมตัวกันและต่อสู้ด้วยกัน   

ชนชั้นแรงงานสามารถเป็นชนชั้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและมีความสามารถที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนสังคม คนทำงานไม่สามารถดำเนินกิจการของสถานประกอบการเพียงลำพัง จะต้องตัดสินใจร่วมกันว่าสถานที่ทำงานนั้นจะดำเนินไปอย่างไร

ทางเลือกของการบริหารสังคมใหม่เกิดขึ้นหลายครั้งในศตวรรษนี้ ในช่วงของกระแสการต่อสู้ที่สูงสุดเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 60 และ 70 เช่น การต่อสู้ของนักศึกษาทั่วโลกในปี 1968 เพื่อหยุดสงครามเวียดนามที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทำกับเวียดนาม ด้วยการวอล์คเอาท์ ปักหลักประท้วง ตั้ง “วงคุย” ถกเถียง นักศึกษาในปารีสยึดมหาวิทยาลัย ประกาศว่านี่คือมหาวิทยาลัยของประชาชน คนงานฝรั่งเศสนัดหยุดงานทั่วไปถึง 2 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดเพื่อสมานฉันท์การต่อสู้กับนักศึกษา

บางขบวนการได้ก่อการปฏิวัติที่ประชาชนเริ่มยึดโรงงานและสถานที่ทำงานและบริหารด้วยตัวเอง เช่นเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1936-39 ฮังการีในปี 1956 และฝรั่งเศสในปี 1968 อิหร่านในปี 1979

เมื่อช่วงวิกฤตการเงินในกรีซ คนงานได้เข้าไปยึดสำนักพิมพ์และโรงพยาบาลในเมือง Kilkis เพื่อดำเนินกิจการเอง กระบวนการเหล่านี้ได้นำพาคนงานตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยถึงการบริหารสถานที่ทำงานและตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร จะตอบสนองความต้องการของสังคมและชุมชนอย่างไร

ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในชิลี ประเทศที่มีการปฏิวัติในช่วงปี 1970-73 คนงานยึดโรงงาน ชาวนายึดที่ดิน คนงานส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานที่เชื่อมโยงกับสถานที่ทำงานต่างๆ เข้าด้วยกัน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือ Allende ผู้นำฝ่ายซ้ายได้เริ่มสร้างอุตสาหกรรมของชาติเพื่อท้าทายระบบทุนนิยมที่แสวงหากำไรสูงสุด ขบวนการแรงงานก็ยึดสถานที่ทำงานมากขึ้นและดำเนินกิจการด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม นายทุนก็ต่อต้านรัฐบาลด้วยการปิดกิจการ แต่กระบวนการปฏิวัติในชิลีใช้วิธีการจัดตั้งสภาทั่วไปและตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดหาอาหารจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั้งยังตั้งคณะกรรมการป้องกันตัวเอง คณะกรรมการการศึกษาและสุขภาพ แรงงานเข้ายึดรถบรรทุกขนส่งของห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตที่นายจ้างปิดกิจการ และยึดโรงงานที่เจ้าของกิจการพยายามจะหยุดการผลิต รวมทั้งยึดทรัพย์สิน และบริหารร่วมกันด้วยระบบประชาธิปไตยแรงงาน

นี่คือ ความสามารถของคนงานที่จะควบคุมเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับการทวงอำนาจทางการเมืองจากคนรวย 1% และคืนให้แก่คนส่วนใหญ่

การปฏิวัติในปัจจุบันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเดินหน้าไปสู่ระบบสังคมนิยม ด้วยการระบุประเด็นปัญหาของทุนนิยมที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำไมเราจะไม่จัดหาความต้องการให้แก่คนทุกคนในสังคมเพราะระบบทุนนิยมไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น จากข้อมูลของสหประชาชาติอาหาร บ้าน งานให้กับทุกคน หนึ่งในหกของประชากรโลกหรือ 1,000 ล้านคนรับประทานอาหารไม่เพียงพอ และอาหารครึ่งหนึ่งของโลกเป็นของเสีย

ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงพลังของคนธรรมดาในการเปลี่ยนแปลงสังคมและพลังของคนงานที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แม้แต่การต่อสู้และเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นเช่นการต่อต้านการเลิกจ้าง ตกงาน การตัดสวัสดิการงบประมาณภาครัฐ การหั่นงบการศึกษามหาวิทยาลัยก็เป็นสะพานเชื่อมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เราจะเป็นต้องลงมือสู้ด้วยตัวเอง 

———————————————

  1. Feiji Zhang. Capitalism isn’t working: another world is possible. ในวารสาร Solidarity ออสเตรเลีย ฉบับที่ 53, กุมภาพันธ์ 2556.
  2. Parichat Chk. เปิดรายงาน Credit Suisse: โควิดส่งเสริมคนรวยให้รวยขึ้น ทอดทิ้งคนจนให้ยากจนสุดขั้ว.  ใน Brand Inside (3 กรกฎาคม 2564). https://brandinside.asia/credit-suisse-issue-global-wealth-report-2021/
  3. ภาพอาหรับสปริง อียิปต์, ตูนีเซีย, เยเมน และซีเรีย จาก wikipedia



แปลสรุปและเรียบเรียงจาก

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com