Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ชาวนาอินเดียต้านร่างกฎหมายการเกษตรของโมดีไว้ได้

โดย ลามะ สุราใส

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ชาวนาทั่วประเทศอินเดียกำลังเฉลิมฉลองหลังจากที่รัฐบาลโมดีถูกกดดันให้ถอดถอนกฎหมายการเกษตร  กว่าหนึ่งปีของการรณรงค์แข็งข้อกันอย่างแข็งขันของชาวนาอินเดียนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2563 ซึ่งเกษตรกรหลายพันคนได้ทำการปิดถนน จัดการเดินขบวนและตั้งค่ายประท้วงครั้งใหญ่ และเมื่อต้นปี 2564 ถึงกับบุกเมืองหลวงด้วยขบวนของรถแทรกเตอร์ระลอกแล้วระลอกเล่า การลุกฮือของพวกเขายังได้รับความเคารพนับถือและคำชื่นชมจากทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนภายใต้รัฐบาลของพรรคภารติยชนตะ (Bharatiya Janata Party, BJP) ที่ผู้คนหลายล้านคนได้รับผลกระทบจากการจัดการเศรษฐกิจและการระบาดใหญ่ที่ผิดพลาดของโมดี 

เมื่อปี 2562 มีเกษตรกรประมาณ 49,000 คนต้องเสียชีวิตลงจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความสิ้นหวังจากวงจรความยากจนและหนี้สิน เมื่อการเพาะปลูกพืชผลของพวกเขานั้นต้องล้มเหลวที่ดินของพวกเขาก็จะถูกซื้อโดยเจ้าที่ดินที่ร่ำรวย

กฎหมายการเกษตรฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับ การซื้อขาย การกำหนดราคา และการกักตุนผลิตผลทางการเกษตร เกษตรกรจะสามารถขายผลผลิตในท้องตลาดให้แก่เอกชนได้โดยตรง ในขณะเดียวกันผู้ซื้อเอกชนก็สามารถกักตุนสินค้าต่างๆ ได้ เพื่อเก็บไว้ขายในอนาคต แต่กฎหมายการเกษตรฉบับดังกล่าวจะเป็นการปล่อยให้บริษัทเอกชนรายใหญ่สามารถกินรวบควบคุมตลาด กำหนดราคาสินค้าเกษตร และจะยิ่งทำให้เกษตรกรอ่อนแอลงไปอีก

ในระหว่างการประท้วงดังกล่าว รัฐบาลโมดีได้พยายามจะเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนด้วยการยื้อเวลาความขัดแย้งในภูมิภาคแคชเมียร์ที่ยังเป็นข้อพิพาทอยู่กับปากีสถาน รวมถึงการใช้กฎหมายที่รุนแรงต่อผู้ประท้วง และใช้พวกอันธพาลเพื่อพุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิมว่าเป็นศัตรู “ต่อต้านชาติ” 

การต่อสู้ของชาวนาในปีที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงมากกว่า 600 คน ต้องเสียชีวิตจากอากาศร้อน ความหนาวเย็น และความเหนื่อยล้า และยังมีผู้เสียชีวิตอีก 4 ราย ถูกรถยนต์ของลูกชายของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอินเดียพุ่งชน ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้กระแสการต่อต้านรัฐบาลโมดีเพิ่มสูงขึ้น

แต่สำหรับชาวนาอินเดียแล้ว การที่รัฐบาลโมดียอมประกาศถอดถอนร่างกฎหมายการเกษตรดังกล่าวถึงแม้จะเป็นชัยชนะแต่การต่อสู้ก็ยังไม่สิ้นสุดและยังจะปักหลักชุมนุมกันต่อเพื่อรอการยืนยันอย่างการถอดถอนร่างกฎหมายนี้เป็นทางการ 

มีข้อเรียกร้องหลักประการหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือการเพิ่มการประกันราคาขั้นต่ำสำหรับพืชผลบางชนิด  จนในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จึงได้มีการผ่านร่าง พรบ.ยกเลิกการ ”ปฏิรูป” การเกษตรอย่างเป็นทางการ และต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ทางรัฐบาลได้ตกลงที่จะทำตามข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการประกันราคาขั้นต่ำ รวมไปถึงการจ่ายค่าชดเชยสำหรับครอบครัวของชาวนาที่เสียชีวิตไประหว่างการประท้วงและการยกเลิกการใช้กฎหมายโจมตีชาวนาผู้มาประท้วง

เหตุผลหลักสำหรับการล่าถอยของโมดีนั้น คือการที่นักยุทธศาสตร์ของพรรคภารติยชนตะ เชื่อว่ากฎหมายที่เป็นผลเสียต่อเกษตรกรดังกล่าวนี้อาจทำให้พวกเขาเสียฐานคะแนนไปมากมายในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในรัฐปัญจาบ อุตตรประเทศ อุตรขัณฑ์ โกอา และหิมาจัลประเทศ ซึ่งหากสิ้นสุดระยะเวลาการเลือกตั้งแล้ว ก็เป็นไปได้ที่โมดีจะกลับสู่สมรภูมิการต่อสู้กับชาวนาอินเดียต่อ

การเคลื่อนไหวของชาวนาครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีที่จะต่อกรกับรัฐบาลโมดีกับพรรคพวกของเขา และยังเป็นเวลาที่เหมาะเจาะที่ชาวฝ่ายซ้ายจะเรียนรู้จากชาวนาอินเดีย ที่อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้งของรัฐ แต่อยู่บนท้องถนน สถานศึกษา และสถานที่ทำงาน

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com