โดย วัฒนะ วรรณ
ปัญหาหมูแพง คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เกิดจากโรคระบาด การเลี้ยงไม่ประสบผลสำเร็จ แน่นอนว่ามีหมูหายไปจากตลาดจำนวนหนึ่ง แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้น “ขาดแคลน” นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคยังสามารถเดินไปตลาด และหาซื้อหมูมาบริโภคได้ ถ้ามีเงินมากพอสำหรับราคาที่เพิ่มสูงชึ้นมาก และอีกส่วนหนึ่งการที่หมูมีราคาเพิ่งสูงขึ้นมาก การบริโภคโดยรวมจึงลดลงด้วย
การที่หมูราคาแพงขึ้นจึงเกิดจาก “ตันทุนผลิต” สูงขึ้น อันเกิดจากอัตราความสูญเสียของกระบวนการผลิตมีมากขึ้น เช่น เดิม เลี้ยงหมู 100 ตัว ต้นทุนผลิตตัวละ 1,000 บาท อัตราความสูญเสียจากการผลิตอยู่ที่ 10 ตัว ต้นทุนเฉลี่ยของผลผลิตจึงอยู่ที่ตัวละ 1,111 บาท แต่ถ้าอัตราความสูญเสียจากกระบวนการผลิต อันเกิดจากโรคระบาดเพิ่มเป็น 30 ตัว ต้นทุนเฉลี่ยของผลผลิตจึงอยู่ที่ 1,428 บาท เป็นต้น
ในเมื่อปริมาณหมูในระบบยังไม่ถึงขั้นขาดแคลน การแก้ปัญหาโดยการนำเข้าหมูที่มีราคาถูกกว่าในต่างประเทศ จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ คำตอบ คือช่วยได้แน่นอน ถ้ามีการนำเข้ามามากพอ ผู้บริโภคจะสามารถซื้อหมูได้ในราคาที่ถูกลง การปรับตัวขึ้นของราคาอาหารที่ใช้วัตถุดิบเป็นหมูก็จะชะลอตัวลงด้วย
แต่ในโลกของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมันมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ด้วยมีกลุ่มคนที่หลากหลายในกระบวนการผลิตที่ไม่มีการวางแผน นอกจากผู้บริโภคแล้ว ก็ยังมีผู้ผลิต ซึ่งในส่วนผู้ผลิตก็ยังมีหลายกลุ่ม ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีไม่มีกี่รายแต่จ้างแรงงานจำนวนมาก และผู้ผลิตรายย่อยๆ ที่ประกอบกิจการในครัวเรือนหรือมีแรงงานไม่กี่คน
การนำเข้าหมูราคาถูกจากต่างประเทศอาจจะใช้แบ่งเบาภาระของผู้บริโภคได้มาก แต่มันจะไปสร้างปัญหาใหม่ให้กับเกษตรกรรายย่อย ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ด้วยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
เกษตรกรเหล่านี้ ไม่ใช่นายทุนใหญ่ ร่ำรวย ไม่สามารถหาเงินทุนมากพอที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนเชิงขนาดเพื่อแข่งขันกับหมูราคาถูกจากต่างประเทศได้ ต่างจากนายทุนใหญ่ที่มีปัจจัยการผลิตมากพอ เงินทุนมากพอ สามารถเพิ่มต้นทุนในกระบวนการผลิต เพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาดได้ ซึ่งจะสามารถนำไปลดต้นทุนให้ถูกลงได้
วิธีแก้ปัญหานี้มีทางไหนบ้าง
1.ในกรณีหมูขาดแคลนชั่วคราว จากวงรอบการผลิตที่ยังไม่สมดุล นำเข้าหมูราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งผู้บริโภคได้ประโยชน์ บริโภคสินค้าถูกลง แต่เกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถแข่งขันราคาได้ จะสูญเสียอาชีพ รัฐต้องเพิ่มเงินอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย
2.กรณีหมูไม่ขาดแคลน การผลิตในอุตสาหกรรมเพียงพอต่อการบริโภค รัฐควรอุดหนุนต้นทุนผลิตให้ถูกลง โดยเฉพาะในเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผู้ผลิต ผู้บริโภค
3 เพิ่มค่าจ้าง อันนี้จะช่วยทั้งระบบ เพราะปัจจุบันราคาสินค้าหลายอย่างแพงขึ้นไม่ใช่เฉพาะหมู
4 ลดอัตราการสูญเสียในกระบวนการผลิต ต้องคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตใหม่ เพื่อเอาชนะโรคระบาดในหมู รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตส่วนอื่นๆ ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง โดยรัฐจะต้องลงทุนในการค้นคว้าเรื่องนี้ และเผยแพร่แกประชาชน ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของเอกชน เพราะองค์ความรู้จะถูกผูกขาด ทำให้ผลผลิตโดยรวมไม่เพิ่มขึ้น
******************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6