โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
ผู้ที่สู้เพื่อกู้ชาติจริงๆ ในประวัติศาตร์ไทย ไม่ใช่พวกที่รบเพื่ออำนาจที่จะขูดรีดประชาชน หรือทหารที่ก่อรัฐประหารเพื่ออำนาจคนรวย แต่เป็น อ.ปรีดี กับคณะราษฎรในการปฏิวัติปี ๒๔๗๕
เป้าหมายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือ
1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เพื่อล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กดขี่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพ กับความเท่าเทียม
คณะราษฎร มองว่ารัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยประนีประนอมและยอมจำนนต่อจักรวรรดินิยมตะวันตกมากเกินไป ดังนั้นในความคิดของคณะราษฎร ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติกู้ชาติ และในความคิด อ.ปรีดี มันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติของฝ่ายซ้าย
นอกจากนี้ “ชาติไทย” ไม่เคยมีก่อนการปฏิวัติทุนนิยมของรัชกาลที่ ๕ ที่ยกเลิกระบบศักดินา และสร้างการปกครองรวมศูนย์ ดังนั้นสงครามระหว่างผู้ปกครองเมืองต่างๆ ในพื้นที่นี้สมัยศักดินา เป็นการแย่งกันเพื่อมีอำนาจ และสะสมความร่ำรวยบนสันหลังไพร่กับทาส บ่อยครั้งสงครามกระทำไปเพื่อกวาดต้อนคนไปใช้ แทนที่จะจ้างคนมาทำงาน การยึดพื้นที่ไม่สำคัญด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกำลังแรงงาน แต่พอถึงยุครัชกาลที่๕ ระบบแรงงานบังคับแบบนี้ใช้ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ยากขึ้นทุกวัน (เชิญอ่านรายละเอียดในหนังสือใหม่ของผม “มาร์กซิสต์วิเคราะห์สังคมไทย”)
ชาวบ้านธรรมดาๆ เกลียดสงครามมาก ไม่ใช่ว่าแห่กันไปรบ “เพื่อชาติ” เพราะเวลากองทัพไหนมาใกล้บ้านเขา ทหารก็จะทำตัวเป็นโจร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพฝ่ายใดก็ตาม นอกจากนี้มีการเกณฑ์ชาวบ้านไปรบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต แต่แน่นอนทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกเลี้ยงครอบครัวได้ บ่อยครั้งชาวบ้านจะหนีเข้าป่าเวลามีทหารมาใกล้บ้าน บางครั้งมีการป้ายหน้าลูกสาวด้วยขี้ควายเพื่อไม่ให้โดนข่มขืน และคนที่ถูกเกณฑ์เป็นไพร่ก็พยายามหนีตลอดเวลาด้วย
ทั้งๆ ที่ประชาชนจำนวนมากออกมาสนับสนุนคณะราษฎร (เชิญอ่าน “กบฏบวรเดช” โดย ณัฐพล ใจจริง ศิลปวัฒนธรรม ๒๕๕๙) การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ยังไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงในไทยได้ เพราะอาศัยกองกำลังทหารมากกว่าการปลุกระดมขบวนการมวลชนผ่านการสร้างพรรคปฏิวัติ
ดังนั้นผู้ที่ต้องการเห็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม ยังมีภารกิจทางสังคมที่จะต้องทำต่อไป
*****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6