โดย พัชณีย์ คำหนัก
ปรากฏการณ์การลุกฮือของนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสเมื่อปี 1968 ที่ตามมาด้วยการนัดหยุดงานของคนงานครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก ถือเป็นปีแห่งการต่อสู้ของประชาชนที่ได้จุดประกายไปทั่วโลก สร้างแรงบันดาลใจแก่ขบวนการต่อสู้ในต่างประเทศ ปี 1968 จึงเป็นปีที่น่าจดจำ
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ เพื่อค้นหาวิธีการเพิ่มอำนาจการต่อรองของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นอยู่ที่ดี ประชาชนทั้งที่เป็นนักศึกษาและแรงงานช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจและ ข้อคิดจากการต่อสู้ เพื่อนำมาปรับใช้และกำหนดยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย เนื่องจากพลังของชนชั้นนายทุน กองทัพและฝ่ายจารีตฟาสซิสต์ มักจะกลับมายึดอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์ หากขบวนการภาคประชาชนอ่อนแอ
สาเหตุที่ทำให้เกิดการลุกฮือของนักศึกษา
เดือนพฤษภาคม 1968 (พ.ศ.2511) ถือเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ประท้วง เริ่มปะทุจากนักศึกษาในกรุงปารีส ตั้งแต่วันที่ 3-11 พ.ค. ตามมาด้วยการหยุดงานประท้วงและการยึดมหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษาและบริษัทต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.
สาเหตุคือปัญหาการศึกษาระดับอุดมศึกษา รัฐบาลใช้นโยบายตัดสวัสดิการ มีการขยายจำนวนมหาวิทยาลัยและจำนวนนักศึกษาอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลต้องการสร้างกำลังแรงงานป้อนให้กับระบบทุนนิยมสมัยใหม่ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว หากเทียบกับเยอรมัน อังกฤษและสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสแย่กว่า มีคนเรียนล้นแต่ขาดการอุดหนุนและโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม เช่น หอพัก อาคารเรียน ซึ่งก็เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 1968 ที่นักศึกษาประมาณ 150 คน นำโดย ดาเนียล เคิห์น เบนดิท (ดูรูปประกอบ) เข้ายึดอาคารบริหารของมหาวิทยาลัยนองแตร์ (Nanterre) จากนั้นก็ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยตอบโต้และตำรวจปราบปรามและควบคุมมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
รัฐบาลขณะนั้นคือ ชาร์ลส เดอ โกลล์ (Charles De Gaulle) ประธานาธิบดีฝ่ายขวา ลักษณะของการบริหารประเทศของเดอ โกลล์ คือ มีนโยบายค่าจ้างและการจ้างงานที่ขาดการปรึกษาหารือกับฝ่ายแรงงาน และใช้ตำรวจปราบจลาจล (CRS) เป็นประจำหากมีการนัดหยุดงานหรือประท้วงของแรงงาน เช่นในปี 1966 กรรมกรอุตสาหกรรมในฝรั่งเศส ได้ค่าจ้างต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของตลาดแรงงานในภาคพื้นยุโรปและทำงานยาวนานที่สุด ทั้งยังจ่ายภาษีสูงที่สุด
กระแสความไม่พอใจการปราบนักศึกษา
ณ ขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศส (PCF) ซึ่งเป็นกลุ่มพลังฝ่ายซ้ายหลักที่กุมคะแนนเสียง 20% ของการเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้งมาเป็นเวลากว่า 20 ปี และมีฐานเสียงจากสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานฝรั่งเศส(CGT) และแรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ยังไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร อีกทั้ง George Marchais ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มองว่า การต่อสู้ของนักศึกษานั้นสำคัญน้อยสำหรับการรักษาฐานอำนาจในขบวนการแรงงาน ทั้งมองว่านักศึกษาเป็นลูกหลานของชนชั้นนายทุนคนรวยที่เมื่อโกรธและระเบิดออกมาสมใจแล้วก็กลับไปทำงานให้บริษัทของพ่อแม่ ดังนั้น ในช่วงเริ่มแรกนักศึกษาต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ทัศนะนี้ก็เปลี่ยนเมื่อตำรวจปราบจลาจลปราบนักศึกษาอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งสถานีวิทยุท้องถิ่นได้ถ่ายทอดสดออกไปทั่วประเทศ ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและไม้กระบองทุบตีนักศึกษา ส่วนนักศึกษาตั้งป้อมปราการและใช้ก้อนกรวดป้องกันตัวเอง เหตุการณ์นี้เป็นจุดแตกหักที่ทำให้คนงานคนรุ่นใหม่ตัดสินใจร่วมต่อสู้กับนักศึกษา
พฤษภาคมเดือนแห่งการนัดหยุดงาน
การออกมาต่อสู้ร่วมกับนักศึกษาของคนงานคนรุ่นใหม่จำนวนมากทำให้พรรคคอมมิวนิสต์และสมาพันธ์แรงงานต้องออกมาแอคชั่น จึงประกาศนัดหยุดงาน 1 วันและเดินขบวนต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ในวันจันทร์ที่ 13 พ.ค. แต่ผลปรากฎว่ามีคนงานร่วมนัดหยุดงานถึง 10 ล้านคนและออกมาเดินขบวน 1 ล้านคนในกรุงปารีส
สหภาพแรงงานนับแสนแห่งขึ้นป้ายประท้วง ขอร่วมการต่อสู้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเรียนมัธยมศึกษานับหมื่นคน กรรมกรถือธงแดงและดำ สมานฉันท์การต่อสู้ระหว่างนักศึกษา ครู แรงงาน
วันที่ 13 พ.ค. เป็นการเดินขบวนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาตั้งแต่การปลดแอกจากนาซีที่ยึดครองฝรั่งเศสเมื่อปี 1944 แรงงานที่ออกมาเดินขบวนได้ตระหนักถึงอำนาจในตัวเอง โดยกรรมกรโรงงานที่นำการนัดหยุดงาน คือ กรรมกรโรงงานทำเครื่องบินซุด (Sud Aviation) ในเมืองน็องต์ (Nantes) เริ่มต้นด้วยการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ก่อน คือ นัดหยุดงานทุกวันอังคารเป็นเวลา 15 นาที เพื่อไม่ให้ยอดผลิตตกที่จะเป็นเหตุให้นายจ้างตัดค่าจ้างได้ แต่ก็ลามไปสู่การปฏิเสธเข้าทำงานของคนงานบางแผนกและนำไปสู่การยึดโรงงานดังกล่าว จากนั้นตามมาด้วยการนัดหยุดงานของโรงงานผลิตรถยนต์ยี่ห้อเรโนลด์ (Renault) ใกล้เมืองรูอ็อง (Rouen) และอีกหลายแห่งตามมาเป็นกระแส เช่น ในโรงงานเรโนลด์ ล็อคฮีด เมืองโบเวส์ (Beauvais) กับเมืองออร์เลอ็อง (Orleans) สาขาที่ Flint กับ Le Mans ตามมาด้วยสาขาใหญ่ที่สุดคือสาขา Billancourt ในกรุงปารีส รวมแล้วกว่า 80,000 คนร่วมนัดหยุดงาน
การนัดหยุดงานของคนงานผลิตรถมาจากคนงานที่มีความคิดทางการเมืองสายทร็อตสกี้ อนาธิปไตยและลัทธิเหมามาถึงจุดนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสพยายามที่จะยับยั้งกระแสการนัดหยุดงานยึดโรงงานจนทำให้สมาชิกต่อต้าน ท้ายสุดก็มองว่าจะเป็นการดีกว่าที่พรรคจะนำการยึดโรงงานดีกว่าที่ทำให้สมาชิกต่อต้าน ดังนั้น Michel Certano สมาชิกสมาพันธ์แรงงาน CGT และเป็นคนงานผลิตรถเรโนลด์จึงร่วมยึดโรงงานที่สาขา Billancourt ในวันที่ 16 พ.ค.และมีคนงานร่วม 25,000 คนเพราะเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ทำให้นายกรัฐมนตรีจอร์จ ปงปิดู (Georges Pompidou) มองว่าเป็นเรื่องซีเรียสมาก
เพราะประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาในการยึดโรงงานข้างต้น คือ เพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการเกษียณอายุ จากนั้นก็ยกสโลแกนของฝ่ายซ้าย คือ เพื่อพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลแรงงาน วันถัดมาก็ยกสโลแกนใหม่ว่า แด่การควบคุมการผลิตของแรงงาน
จากนั้น คนงานยึดโรงงานผลิตรถยนต์เรโนลด์ทุกแห่งและส่งผลสะเทือนไปยังสถานที่ทำงานอื่นๆ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์ สนามบิน สถานีจ่ายเชื้อเพลิง ทำให้ทั้งประเทศเป็นอัมพาตเพราะการนัดหยุดงานของแรงงานนับ 10 ล้านคนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้นำของสมาพันธ์แรงงานประชาธิปไตย (CFDT) กล่าวอย่างตื่นเต้นว่า คนงานได้เรียนรู้ว่า การที่ตนออกมาประท้วงบนท้องถนนในวันที่ 13 พ.ค. นั้นทุกคนไม่เคยจินตนาการมาก่อนเลยว่าตัวเองจะมีพลังขนาดนี้ กลไกทั้งหมดของรัฐบาลที่นำมาใช้ตอบโต้ไม่สามารถต้านทานพวกเขาได้ สำหรับแรงงานภาครัฐเองก็ออกมานัดหยุดงาน เช่น ครู ซึ่งไม่ได้ถูกไล่ออกแต่อย่างใด พนักงานไปรษณีย์ก็เช่นกัน นายจ้างกลัวผลที่ตามมา จึงไม่ได้ปิดงานตอบโต้
คนทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ เครื่องบิน วิศวกรทั่วกรุงปารีส นอร์มังดี และอู่ต่อเรือทั้งหมดไปจนถึงสถานีรถไฟ โรงเรียน โรงพยาบาล ธนาคาร บริษัทประกันภัย อุตสาหกรรมการพิมพ์ ร้านค้า พนักงานในพิพิธภัณฑ์ แกลอรี่ โรงภาพยนต์ สตูดิโอร่วมนัดหยุดงาน คนทำหนังเมืองคานส์ รวมไปถึงนักเต้นก็สมานฉันท์การต่อสู้ แม้แต่นักฟุตบอลมืออาชีพก็ยึดสมาพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดข้อสรุปว่า ใครกันที่ขับเคลื่อนสังคม
ในเมืองน็องต์ คณะกรรมการนัดหยุดงานได้ยึดศาลากลางและบล็อกถนน แจกคูปองน้ำมันใบอนุญาตเดินทาง เจรจากับชาวนาในท้องที่ให้ช่วยจัดหาอาหารและกระจายสินค้าในราคาที่ต่ำ ในขณะที่สภาพแรงงานควบคุมราคาในร้านค้าป้องกันการค้ากำไร คณะกรรมการนัดหยุดงานรูปแบบนี้ยังถูกจัดตั้งในชุมชนพื้นที่อื่นๆ จนถึงปลายเดือน พ.ค.
รัฐบาลฝ่ายขวาสิ้นอำนาจ
รัฐบาลเดอ โกลล์ไร้อำนาจการบริหารประเทศทันที เขาได้ออกมาประกาศว่า จะให้ประชาชนลงมติ หากเขาแพ้จะลาออก จากนั้นนายกรัฐมนตรี จอร์จ ปงปิดู ก็เรียกร้องให้ผู้นำแรงงานกับนายจ้างมาเจรจาต่อรองกัน ซึ่งได้ข้อตกลงสามฝ่ายที่เรียกว่า Grenelle Agreement ในวันที่ 27 พ.ค. เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 35% จาก 2.2 ฟรังค์ เป็น 3 ฟรังค์ต่อชั่วโมง แต่สมาพันธ์ CGT ละทิ้งข้อเรียกร้องเรื่องนัดหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างเต็ม
แต่ผู้นำแรงงาน โรงงานเรโนลด์ขอให้สมาชิกลงคะแนนเสียงว่าจะนัดหยุดงานและยึดโรงงานต่อไปหรือไม่ ทั้งโรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็กต้องการนัดหยุดงานต่อ กระทั่งประธานาธิบดี เดอ โกลล์ลี้ภัยไปยังเยอรมันเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ท่ามกลางข่าวลือว่าเขาลาออกแล้ว สื่อนานาชาติได้ทำข่าวการปฏิวัติเดือนพฤษภาคมของฝรั่งเศส แต่พรรคคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศสกลับทิ้งโอกาสที่จะกำจัดรัฐบาลฝ่ายขวาและชนชั้นนำตลอดกาลด้วยการให้แรงงานยึดและควบคุมทุกอย่างไว้ในมือ และให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่กลับพยายามจะหาทางยุติการนัดหยุดงานโดยการไม่สนับสนุนให้คนงานธรรมดาเข้าไปมีส่วนร่วมในการยึดที่ทำงาน หรือถกเถียงประเด็นการเมืองการปฏิวัติ ที่แย่กว่านั้น มีบางกรณีทอดทิ้งคณะกรรมการนัดหยุดงานสาขาหนึ่งไม่ให้เข้าร่วมกับอีกสาขาหนึ่ง ทำให้ขาดการเชื่อมโยงการนัดหยุดงานบางจุด
กระนั้นก็ไม่มีอะไรห้ามการนัดหยุดงานที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข้อตกลง Grenelle ข้างต้นก็ตาม จึงมีการสรุปของนักการเมืองในสภาว่า ระบอบเดอ โกลล์สิ้นอำนาจแล้ว ปัญหาใหญ่จึงตกมาที่ผู้นำสมาพันธ์แรงงานและพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสที่ไม่ยอมคว่ำรัฐบาล
ฝ่ายขวาชิงไหวชิงพริบ จัดเลือกตั้งใหม่และชนะการเลือกตั้ง
จากนั้นเมื่อเดอ โกลล์กลับจากลี้ภัยในเยอรมัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพฝรั่งเศส ฝ่ายสนับสนุนเดอ โกลล์ออกมาชุมนุม 5 แสนคนที่จัตุรัสกลางกรุงปารีส ประกอบกับในคืนนั้นตำรวจพยายามสลายการชุมนุมและนัดหยุดงานของคนงานรถไฟ รัฐบาลฝ่ายขวาประกาศว่ายังอยู่ในอำนาจและจะใช้อำนาจนี้ยุบสภาและจัดเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในปลายเดือนมิถุนายน เจ้ากรรมพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (ฝ่ายซ้ายปฏิรูป) รีบตอบรับข้อเสนอนี้ รวมทั้ง George Seguy เลขาธิการสมาพันธ์แรงงาน CGT ประกาศว่า แรงงานจะสามารถเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงได้ในการรณรงค์เลือกตั้งทั่วไป ทั้งๆ ที่กำลังเรียกร้องอยู่ และระบอบอนุรักษ์นิยมกับทุนกำลังอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด
พรรคคอมมิวนิสต์และสมาพันธ์แรงงาน CGT จึงขอให้คนงานหยุดยึดโรงงาน นัดหยุดงานและกลับเข้าทำงานปกติ ซึ่งมีคนงานกิจการสาธารณะในภาครัฐทำตาม เพียง 3 วันหลังจากวันที่ฝ่ายขวาประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่คนงานจำนวนมากไม่ทำตาม ยังคงสู้ต่อไปเพราะพวกเขารู้สึกถึงเสรีภาพจากการที่ไม่ต้องมีนายจ้างมาบงการ ไม่มีระบบชนชั้นแม้ในช่วงแค่ 2-3 สัปดาห์ของเดือน พ.ค. และยากลำบากแค่ไหนก็ตาม
สัญญาณแห่งความล้มเหลวของฝ่ายซ้าย
ทว่า พลังต่อต้านที่ยังคงอยู่มีจำนวนน้อยกว่าสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายกระแสหลักในฝรั่งเศส มีสมาชิกของกลุ่มนักปฏิวัติสายทร็อตสกีไม่ถึงพันคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ไม่มีรากเชื่อมโยงกับคนงาน คนงานที่กลับเข้าทำงานก็ได้ค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่ม วันหยุดและสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานมีเพิ่มขึ้น ท้ายสุดระบอบเดอ โกลล์ก็เริ่มฟื้น และกลับมาชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้ ซึ่งทำให้ฝ่ายซ้ายช็อกมาก คือได้คะแนน 46% ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้เพียง 20% เพราะฝ่ายขวาได้คะแนนมาจากคนชนบทเป็นส่วนมาก สำหรับนักศึกษา นักเรียน คนงานรุ่นใหม่ คนงานข้ามชาติที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปีไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งในวันเลือกตั้ง พวกนักปฏิวัติ คนงาน นักศึกษาบางส่วนถูกสั่งห้ามแสดงออกต่างๆ ผลการเลือกตั้งสะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยมที่หวังแต่ที่นั่งในสภา ไม่สนใจการปลดแอกทางชนชั้นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่เราในขบวนการเคลื่อนไหวในไทยจำเป็นต้องรักษาการต่อสู้นอกสภา ความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การสร้างองค์กรปฏิวัติ และการเมืองในสภาที่นักการเมืองหวังรักษาอำนาจมากกว่าเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจริงๆ
ผลสะเทือนจากเหตุการณ์นัดหยุดงานในฝรั่งเศส 1968
- ปี 1969 เกิดเหตุการณ์ Hot Autumn ในเมืองตูริน อิตาลี คือ คนงานยึดโรงงานผลิตรถยนต์ เช่น เฟียต เรียกร้องเรื่องค่าจ้างและที่อยู่อาศัย ซึ่งก่อนหน้ามีกระแสการยึดโรงเรียนของนักเรียนมัธยม
- ปี 1969 การยึดโรงงานรถยนต์ในอาเจนตินาเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร และยึดเมืองคอร์โดบา
- พ.ย. 1969 พรรคสังคมนิยม Popular Unity ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ประธานาธิบดีคือ ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ ขบวนการแรงงานเข้มแข็งเข้ายึดโรงงานและนัดหยุดงาน และตั้งสภาคนงานควบคุมการผลิต แต่พรรคกลับไม่พอใจและคืนโรงงานให้แก่นายทุนเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง ไม่ต้องการความวุ่นวาย ท้ายสุดฝ่ายขวาฟื้นและนายพลพิโนเชทำการรัฐประหารในปี 1973 ฆ่าประธานาธิบดี และฝ่ายซ้ายราบคาบ
- ปี 1970 มีการประท้วงของนักศึกษาสหรัฐอเมริกาทั่วประเทศ และยึดมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่ทหารยิงนักศึกษาตายที่มหาวิทยาลัยเคนท์ สเตท ขณะที่นักศึกษาประท้วงต่อต้านการขยายสงครามเวียดนามสู่กัมพูชา
- ตั้งแต่ปี 1970 ในสเปน บทบาทสำคัญของกรรมาชีพทำให้เผด็จการ “ฟรังโก” อ่อนแอลง
- ปี 1973 นักศึกษากรีซเริ่มออกมาสู้ โดยยึดวิทยาลัยโปลิเทคนิค กรุงอาเธนส์ และนำไปสู่การล้มเผด็จการทหารกรีซในที่สุด
- ปี 1973 ในอังกฤษ มีการนัดหยุดงานทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม (Tories) ล้ม
- ปี 1973 ในไทย นักศึกษาเป็นหัวหอกในการล้มเผด็จการทหาร ถนอม ประภาส ณรงค์ ในวันที่ 14 ตุลาคม 16
*******************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6