โดย กองบรรณาธิการ
“เครื่องจักร” ต่างจาก “เครื่องมือ” เพราะเครื่องจักรประกอบไปด้วยเครื่องมือหลายชนิดที่ทำงานพร้อมกัน
ระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมใหญ่ใช้เครื่องจักรอย่างต่อเนื่องเป็นระบบในลักษณะที่เพิ่มประสิทธิภาพ ลดความสำคัญของพลังกล้ามเนื้อ และถือได้ว่าเป็นการรวบรวมเครื่องมือต่างๆ มาทำงานแบบรวมหมู่ เหมือนกับที่รวบรวมคนมาทำงานรวมหมู่
เป้าหมายในการใช้เครื่องจักร ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตคือ 1.ทำให้สินค้าถูกลงเพราะลดปริมาณแรงงานที่ใช้สร้างสินค้าแต่ละชิ้น 2.เพิ่มมูลค่าส่วนเกินต่อหัวคนงาน โดยลดชั่วโมงการทำงานที่ใช้ในการผลิตมูลค่ายังชีพพื้นฐาน และเพิ่มสัดส่วนเวลาที่คนงานทำงานฟรีให้นายทุน
การวิวัฒนาการของสังคมยุโรปตะวันตก 1.จากหัตถกรรม > อุตสาหกรรมเล็ก > อุตสาหกรรมใหญ่ 2.จากเครื่องมือ > เครื่องจักร > ระบบเครื่องจักร ต้องอาศัยการพัฒนาทั้ง คน และเทคโนโลจีของทั้งสังคม (ฐานวัตถุ) ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการผลิตของสังคม (โครงสร้างส่วนบน)
-เครื่องจักรไม่ได้สร้างมูลค่า
-มูลค่าของเครื่องจักรคือปริมาณแรงงานในอดีตที่ใช้สร้างมัน
-มูลค่าสินค้าที่ใช้เครื่องจักรใหญ่ = ปริมาณแรงงานที่มีชีวิต + สัดส่วนมูลค่าเครื่องจักรที่ค่อยๆ ละลายไปในผลผลิตตามอายุการทำงานของเครื่องจักร
-ถ้าเครื่องจักรใช้ทดแทนคนงาน หรือใช้ผลิตสินค้าเร็วขึ้น ผลคือปริมาณแรงงานที่มีชีวิตในสินค้าแต่ละชิ้นนั้นลดลง และมูลค่าเครื่องจักรเพิ่มขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ (ทุนคงที่เพิ่มเร็วกว่าทุนแปรผัน) และมูลค่าสินค้าทั้งหมดลดลง
-ถ้าค่าซื้อเครื่องจักร สูงกว่าค่าจ้างแรงงานที่ถูกทดแทนและตัดออกไป มันไม่คุ้มในระยะสั้น
ผลของเครื่องจักรต่อคนงาน
1.เนื่องจากลดความสำคัญของพลังกล้ามเนื้อ จ้างเด็กและสตรีได้ นำไปสู่การทำลายชีวิตเด็ก เด็กถูกขาย และแม่ไม่มีเวลาดูแลเด็กเล็ก (อย่างที่เห็นในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในอังกฤษและยุโรป-กอง บก.)
2.ก่อให้เกิดแรงกดดันให้ยืดชั่วโมงการทำงานต่อวันเพราะ (1)จะได้ใช้เครื่องจักรให้คุ้มกับมูลค่าที่ใช้ซื้อในเวลาที่น้อยที่สุด (2)เพื่อเร่งผลิตสินค้าก่อนที่เครื่องจักรรุ่นใหม่จะวางตลาด หรือคู่แข่งจะซื้อเครื่องจักรประเภทเดียวกัน
“ในระบบทุนนิยมเครื่องจักรลดชั่วโมงการทำงานของมนุษย์ได้ แต่กลับถูกใช้เพื่อเพิ่มการทำงานของคนที่มีงานทำพร้อมกับบังคับให้คนงานอีกส่วนตกงาน”
ความขัดแย้งระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กับ อัตรากำไร
1.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของคนงาน เพิ่มปริมาณมูลค่าส่วนเกิน แต่ 2.ลดสัดส่วนการจ้างคน เมื่อเทียบกับกาiลงทุนทั้งหมด คือเพิ่มสัดส่วนทุนคงที่ ซึ่งลดอัตรากำไร
ดังนั้นนายทุนพยายามเพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันของคนงานที่ยังมีงานทำ และเพิ่มคนตกงาน(แรงงานส่วนเกิน) ที่พร้อมจะยอมจำนนต่อเงื่อนไขการจ้างงานของนายทุน (เช่นในกรณีที่กดค่าแรงลง)
การเพิ่มความเข้มข้นของแรงงาน
เมื่อการกบฏของกรรมาชีพบังคับให้มีการออกกฎหมายโดยรัฐเพื่อจำกัดชั่วโมงการทำงาน นายทุนในระบบทุนนิยมจะหันมาเพิ่มความเข้มข้นของการทำงานโดย 1.การเร่งความเร็วของเครื่องจักร 2.การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน
ทั้งหมดเพื่อ “ดูด” พลังการทำงานของกรรมาชีพได้ดีขึ้นในเวลาจำกัด
*กฎหมายลดชั่วโมงการทำงานที่เกิดจากการต่อสู้ของกรรมาชีพ ตอนแรกถูกคัดค้านโดยนายทุนที่อ้างว่าจะทำให้ธุรกิจเขาถูกทำลาย แต่ไม่เป็นจริงตามที่เขาอ้างเลย มันกลับกระตุ้นให้นายทุนใช้เครื่องจักรเพื่อขูดรีดแรงงานเข้มข้นมากขึ้น
วิภาษวิธีของการพัฒนาเครื่องจักร
1.ทำให้คนงานใช้ปริมาณแรงงานเดิมในการเพิ่มผลผลิต ซึ่งทำให้มูลค่าผลผลิตลดลง
แต่ 2.เพิ่มความเข้มข้นของการทำงานในชั่วเวลาหนึ่ง ซึ่งถือว่าเพิ่มปริมาณแรงงานในการสร้างผลผลิต
โรงงาน
“การทำงานในโรงงาน ทำลายสภาพจิตใจและลดความสำคัญของร่างกายและกล้ามเนื้อ มันขโมยเสรีภาพทุกเม็ดทุกหน่วยทั้งกายและสมอง ในการลดภาระแรงงาน เครื่องจักรแปรตัวไปเป็นเครื่องทรมาน เพราะเครื่องจักรไม่ได้ทำให้คนงานมีเสรีภาพ มันทำให้การทำงานไร้เนื้อหาที่มีค่า” และเครื่องจักร ซึ่งเป็นผลของการทำงานของคนในอดีต กลายเป็นเจ้านายแรงงานที่มีชีวิต คนงานกลายเป็นแค่เครื่องพ่วง
-มันเป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงล้มระบบการทำงานเก่าและระบบช่างฝีมือ ล้มระบบการแบ่งงานกันทำตามความถนัด เพื่อสร้างการแบ่งงานกันทำในสิ่งซ้ำซาก
-การลดฝีมือการทำงาน อันมาจากเครื่องจักร ประหยัดการฝึกฝีมือคนงาน หรือความจำเป็นในการศึกษา และแบ่งคนงานออกเป็นสองชั้น คือคนที่ต้องใช้ฝีมือ (นายสิบ) กับคนงานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ (พลทหารธรรมดา)
-ภายในโรงงาน นายทุนคือเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไม่ต้องอ้างถึงความชอบธรรมของประชาธิปไตยหรือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอะไรเลย
-โรงงานคือการปล้นความเป็นมนุษย์อย่างเป็นระบบ ปล้นพื้นที่ แสงแดด อากาศบริสุทธ์ และชีวิตที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ มาร์คซ์ พูดถึงระบบการเหมาช่วง และระบบการรับงานไปทำที่บ้านและการที่ครอบครัวเกษตรกรรับงานจากโรงงานไปทำที่บ้าน
สรุปแล้ว เครื่องจักร….
-เพิ่มการบริโภคของคนรวย
-เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งทำให้สังคมมีคนที่ไม่ได้ผลิตโดยตรงมากขึ้นได้
-ขยาย “โลกาภิวัตน์”, เพิ่มความไร้เสถียรภาพ และวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับคนงาน
-เครื่องจักรทำลายอาชีพคนทอผ้าในอังกฤษและอินเดีย
-นายทุนใช้เครื่องจักรใหม่ไว้ขู่คนงานให้เกรงกลัวไม่กล้านัดหยุดงาน เพราะกลัวจะโดนทดแทนด้วยเครื่องจักร
การต่อสู้ของกรรมาชีพ
ตอนแรกกรรมาชีพมองว่าแค่เครื่องจักรเท่านั้นที่เป็นศัตรูของเขา เพราะทำให้เขาตกงาน แต่ต่อมาเขาเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาของระบบทุนนิยมทั้งระบบ
สุขภาพและการศึกษาที่กำหนดในกฎหมายโรงงานของอังกฤษ
1.ระบบโรงงานมีผลขัดแย้งในตัวเอง เกี่ยวกับการศึกษาและการฝึกฝีมือ คือ
(1) ทำลายแรงงานฝีมือเก่าผ่านการนำเครื่องจักรเข้ามา พร้อมกับทำลายความมั่นคงในชีวิตและการพักผ่อนของคนงาน
(2) ระบบโรงงานต้องการแรงงานที่มีความสามารถหลากหลายและปรับตัวกับสภาพการผลิต จึงต้องมีการสร้างโรงเรียนอาชีวะ สถานการณ์ดังกล่าวไม่คงถาวรที่เพราะมีการปฏิวัติระบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง มาร์คซ์ เชื่อว่าในระบบสังคมนิยม ภายใต้การปกครองตนเองของกรรมาชีพ โรงเรียนจะฝึกทั้งทฤษฏีและฝีมือในการปฏิบัติงานพร้อมกัน ไม่ใช่แค่สอนให้คนท่องจำทฤษฏีเท่านั้น
2.พอมีกฎหมายควบคุมโรงงาน นายทุนก็เรียกร้องให้ชดเชยผลประโยชน์ที่เสียไป และเรียกร้องให้ใช้กติการ่วมกันทั้งประเทศเพื่อไม่ให้คู่แข่งคนอื่นได้เปรียบ
3.ระบบโรงงานรวมศูนย์การผลิต และรวมศูนย์การต่อสู้ของกรรมาชีพต่อทุนนิยม
ในชนบท
การนำระบบอุตสาหกรรมเข้ามา
-ทำลายเกษตรกรรายย่อย ทำให้เขากลายเป็นกรรมาชีพ ทำให้ชนบทมีลักษณะเหมือนเมืองมากขึ้น
-ทำลายความสัมพันธ์เก่าแก่ระหว่าง คนกับดิน ทำลายการหมุนเวียนของสารอินทรีย์ และทำให้คุณภาพดินเสื่อม พร้อมกับทำลายภูมิปัญญาเกษตรกร
-ระบบเกษตรแบบทุนนิยม ปล้นทั้งมนุษย์ผู้เป็นกรรมาชีพ และปล้นความอุดมสมบูรณ์จากดิน คือทำลายแหล่งผลิตมูลค่า ทั้งคนและทรัพยากรธรรมชาติ
“การที่นายทุนคัดค้านกฎหมายที่ควบคุมโรงงานอย่างถึงที่สุด พิสูจน์ว่าพวกเสรีนิยมโกหกเวลาเขาเสนอว่า ในสังคมที่มีการแข่งขันขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ในรูปแบบชนชั้น การกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน แบบตัวใครตัวมัน จะสร้างประโยชน์ให้ทั้งสังคมได้”
ที่มา ว่าด้วยทุน เล่ม 1 ภาคที่ 4 บทที่ 15 อัตราและปริมาณมูลค่าส่วนเกิน
*******************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6