Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

การแข่งขันของนายทุนกำลังก่อสงครามครั้งใหม่ในยูเครนได้อย่างไร

เขียนโดย Tomáš Tengely-Evans
แปลโดย โปรตอน คอลัมน์ นานาทัศนะ

ในขณะที่ชาติตะวันตกและรัสเซียแข่งขันกันเพื่อครอบครองอิทธิพลเหนือดินแดนยุโรปตะวันออก หน้าที่ของนักสังคมนิยมที่จะต้องทำคือการต่อสู้กับระบบที่ขับเคลื่อนจักรวรรดินิยมเหล่านั้น

การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียกลายเป็นการข่มขู่ถึงสงครามทำลายล้างในยูเครนซึ่งถือเป็นครั้งที่สองในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียได้สั่งการเสริมกำลังทหารกว่า 100,000 นาย เข้าประจำการบริเวณชายแดนยูเครน ขณะที่สหรัฐฯซึ่งยังคงเป็นจักรวรรดินิยมที่มีอำนาจมากที่สุดแต่ก็อ่อนแอลง ปูตินหวังว่าการเสริมกำลังทหารที่เกิดขึ้นจะสามารถบังคับสหรัฐฯให้เข้าสู่โต๊ะเจรจาได้

ปูตินต้องการให้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯให้คำมั่นสัญญาว่ากองทัพพันธมิตรนาโต้ของสหรัฐฯ จะไม่ขยายอิทธิพลฝั่งตะวันออกไปมากกว่านี้ อีกด้านหนึ่ง ไบเดนประกาศว่าไม่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการทางทหารในยูเครน แต่ยูเครนยังคงถูกวางนโยบายเพื่อรักษาอิทธิพลของสหรัฐฯในการต่อต้านรัสเซีย

ขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องการสงครามระยะยาว แต่สงครามก็อาจเกิดขึ้นได้ง่ายดาย นั่นเป็นเพราะวิกฤตยูเครนเป็นผลผลิตของลัทธิจักรวรรดินิยมซึ่งระบบโลกที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าผ่านการแข่งขันกันระหว่างรัฐทุนนิยมใหญ่ๆทั้งหลาย เมื่อความตึงเครียดพุ่งสูง เชื้อไฟเล็กน้อยก็อาจจุดชนวนสงครามเป็นวงกว้างได้

ยูเครนตั้งอยู่กึ่งกลางของพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่การแข่งขันกันของชาติจักรวรรดินิยมระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียและจักรวรรดินิยมตะวันตกอื่นๆ โดยพื้นที่นี้เริ่มต้นที่ยุโรปเหนือบนชายแดนระหว่างรัสเซียและประเทศเกิดใหม่ติดกับทะเลบอลติก (เอสโตเนีย,ลัทเวีย,ลิทัวเนีย) ตัดลงมาที่ยูเครน ข้ามผ่านพื้นที่ที่อุดมไปด้วยน้ำมันบนภูมิภาคคอเคซัสทางใต้สุดของรัสเซีย ก่อนเข้าสู่พื้นที่เอเชียกลาง

ความตึงเครียดมากมายได้เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในพื้นที่เหล่านี้ สหรัฐฯถูกกำหนดให้ต้องปกป้องสถานะของตนเองในเวทีโลก ขณะที่รัฐอื่นๆ มองเห็นความถดถอยเชิงสัมพัทธ์ของสหรัฐฯซึ่งเปิดโอกาศให้ตนเองเข้าสู่ตำแหน่งทางอำนาจที่ดีกว่าเก่า ความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมสหรัฐฯในอิรักเป็นสัญญาณแรกว่ามันมีความเป็นไปได้ที่อำนาจที่อ่อนแอกว่าจะอ้างสิทธิผลประโยชน์ของพวกเขาต่อต้านความปรารถนาของสหรัฐฯ รัสเซียเป็นหนึ่งในอำนาจดังกล่าว

ในปี 1991 สหภาพโซเวียตแตกแยกออกเป็นรัสเซียและอีก 14 ประเทศรอบชายแดนรัสเซีย หนึ่งในนั้นรวมถึงยูเครนด้วย

ช่วงทศวรรษ 1990 รัสเซียเป็นเพียงอดีตชาติจักรวรรดินิยมหนึ่ง แต่ด้วยการรวมกันของสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงและการปกครองภายใต้กำปั้นเหล็กของวลาดิเมียร์ ปูติน ทำให้รัสเซียแข็งแกร่งขึ้น รัสเซียเริ่มอ้างสิทธิประโยชน์ของความเป็นจักรวรรดินิยมโดยอ้าง “เมืองนอกใกล้” (near abroad) ( ผู้แปล-ซึ่งคือกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชทั้งหลาย [รัสเซียเรียกตะวันตกว่า “เมืองนอกไกล” (far abroad)] ทั้งการส่งเสริมการปฏิวัติสีต่างๆ ได้แก่ การปฏิวัติดอกกุหลาบในจอร์เจีย ปี 2003 การปฏิวัติสีส้มในยูเครน ปี 2004 และการปฏิวัติดอกทิวลิบในคีร์กีสถาน ปี 2005 รวมทั้งการขยายสมาชิกภาพของนาโต้ (NATO) ในบริเวณดังกล่าว) ในการปฏิบัติต่อชาติที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ยูเครนซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว และเป็นรัฐกันชนระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซีย ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตที่มีความสำคัญที่สุด

หลังสงครามเย็นจบลง สหรัฐฯได้ทำลายคำมั่นสัญญาที่จะไม่ขยายอิทธิพลนาโต้เข้าไปในยุรูปตะวันออก ในปี 2008 นาโต้ยอมรับให้ยูเครนและจอร์เจียสามารถเข้าร่วมนาโต้ได้ ซึ่งรัสเซียก็ได้ส่งกำลังทหารเข้าจอร์เจียเพื่อขัดขวางการกระทำครั้งนั้น

นอกจากนี้ยังมีมิติด้านเศรษฐกิจในการแข่งขันกันของจักรวรรดินิยม สหภาพยุโรปซึ่งประกาศสนับสนุนสหรัฐฯ พยายามที่จะให้ยูเครนเข้าร่วมสหภาพยุโรปในปี 2014 ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียก็ได้ตั้งสหภาพศุลกากรยูเรเซียน (ECU) ขึ้น เพื่อแข่งขันกับสหภาพยุโรป และเพิ่มอำนาจต่อรองกับจีนในเอเชียกลาง

ในปี 2014 ยูเครนมีแนวโน้มจะใกล้ชิดกับชาติตะวันตกมากขึ้น และเพื่อเป็นการตอบโต้ รัสเซียจึงได้เข้ายึดภูมิภาคไครเมียจากยูเครนและสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ความขัดแย้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความบาดหมางที่เกิดขึ้นและในปัจจุบันก็ได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง

นักสังคมนิยมควรตอบสนองต่อความขัดแย้งนี้อย่างไร? ประการแรก เราไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกล่าวอ้างเจ้าเล่ห์ของจักรวรรดินิยมสหรัฐฯหรืออังกฤษที่อ้างว่าเพื่อปกป้องยูเครนจากการบุกรุกของคนรัสเซีย

นักปฏิวัติสังคมนิยม วลาดิเมียร์ เลนิน กล่าวว่า “ในทางที่ดีกว่าของทุกๆ ประเทศ เราควรที่จะสนใจต่อสู้เพื่อต่อต้านลัทธิชาตินิยมคลั่งชาติของประเทศนั้นๆ เพื่อปลุกความเกลียดชังต่อเจ้าของรัฐบาล (ผู้แปล-ชนชั้นนายทุน)”

ดังนั้น หน้าที่หลักของนักสังคมนิยมตะวันตกคือ การต่อต้านชนชั้นปกครองของพวกเรา ผู้ซึ่งจุดไฟสงคราม

ประการที่สอง สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” มันไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นหนทางหนึ่งของการต่อต้านจักรวรรดินิยมโดยคู่แข่งของชาติตะวันตก สิ่งที่เลนินเตือนเราคือ นักสังคมนิยมต้อง “เรียกร้องความสมานฉันท์ภายในชนชั้นแรงงานในประเทศที่กำลังทำสงคราม เพื่อผลักดันไปสู่สงครามกลางเมือง (สงครามทางชนชั้น-ผู้แปล)” และต่อต้านผู้ก่อสงครามทุกรูปแบบ

เราสร้างการต่อต้านผู้ปกครองของเราเอง แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับระบบการแข่งขันของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมซึ่งเป็นสาเหตุของสงคราม

แปลจากบทความ How capitalist competition threatens new Ukraine war ใน https://socialistworker.co.uk/comment/how-capitalist-competition-threatens-new-ukraine-war/

***********************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com