Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

จุดเริ่มต้นที่สำคัญของชาวมาร์คซิสต์ในการศึกษาจักรวรรดินิยมคือ หนังสือของ เลนิน และบุคาริน ซึ่งทั้งสองนักปฏิวัติบอลเชวิค เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาจักรวรรดินิยมในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้ง เลนิน และบุคาริน เสนอว่าการขยายตัวของกลุ่มทุน ทำให้เกิดกลุ่มทุนผูกขาดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐของตน จนรัฐกับทุนร่วมมือกันในการแข่งขันทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดสงครามระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น และเกิดการพยายามของมหาอำนาจที่จะครอบงำรัฐเล็กๆ ด้วยการยึดพื้นที่มาเป็นอาณานิคม

บุคาริน เสนอว่าปรากฏการณ์จักรวรรดินิยมคือ “การเป็นสากลนิยม และชาตินิยมของทุนพร้อมกัน” คือทุนพยายามขยายข้ามพรมแดน แต่อาศัยอำนาจรัฐชาติช่วยเสมอ ในประเด็นนี้ทั้ง อาเลคซ์ คาลินนิคอส และ เดวิด ฮาร์วี นักมาร์คซิสต์ปัจจุบัน ย้ำว่าจักรวรรดินิยมเป็น “จุดนัดพบของสองสิ่งที่ขัดแย้งกันในลักษณะวิภาษวิธี” คือความชาตินิยมของรัฐ และความสากลนิยมของทุน เราแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันไม่ได้ ทุนไม่ได้ละทิ้งรัฐกับพรมแดนในการข้ามไปมีกิจการในต่างประเทศแต่อย่างใด และรัฐชาติกับการปกป้องพรมแดนไม่ได้สูญหายไปเลย

ถ้าเราเป็นนักมาร์คซิสต์ เราต้องใช้แนวคิดวิภาษวิธี ซึ่งแปลว่าเราต้องมององค์รวมของการเมืองและเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มาร์คซ์ มักจะพยายามบรรยายลักษณะทั่วไปของทุนนิยม แล้วค่อยๆ นำรายละเอียดรูปธรรมจากโลกจริงเข้ามา เพื่อปรับเปลี่ยนลักษณะทั่วไปดังกล่าวในกรณีเฉพาะต่างๆ ดังนั้นถ้าจะเข้าใจจักรวรรดินิยมในยุคสมัยนี้ เราต้องเข้าใจว่า

  1. เราพูดถึง “รัฐ” เฉยๆ ไม่ได้ ทุกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมัน จีน หรือไทย เป็นรัฐในลักษณะเปรียบเทียบเสมอ คือการกำเนิดรัฐ เช่นการกำเนิดรัฐไทยยุครัชกาลที่๕ กำเนิดมาเพื่อแข่งขันและรักษาอำนาจเมื่อเทียบกับกับรัฐตะวันตกและอาณานิคมรอบๆ ไทย สรุปแล้วเราพูดถึง “รัฐ” เหมือนเป็นเกาะไม่ได้ ต้องพูดถึง “ระบบรัฐทั้งหมดในโลก”เพราะรัฐเป็นเครื่องมือในการกำหนดอำนาจทางการเมืองของชนชั้นปกครองประเทศหนึ่งในการแข่งขันกับชนชั้นปกครองประเทศอื่นเสมอ
  2. ถ้ามองระบบรัฐแบบนี้จะเห็นว่ามีการแข่งอำนาจกันตลอด ไม่ว่าจะในยุคร่วมมือหรือทำสงคราม แต่ที่สำคัญคือ “อำนาจ” ของรัฐต่างๆ จะไม่เท่าเทียมกัน ระดับอำนาจมาจากความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในที่สุด เพราะมันกำหนดความสามารถในการผลิตอาวุธและการใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจในเวทีโลก และเราทราบว่าความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ หรือการพัฒนาระบบทุนนิยม มีลักษณะ “ต่างระดับ” ในโลก บางประเทศพัฒนามาก บางประเทศพัฒนาน้อย ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเช่นในสมัยก่อนอังกฤษเป็นมหาอำนาจ ต่อมามีสหรัฐและรัสเซียมาแทนที่ และยุคนี้เศรษฐกิจจีนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วจนทำให้ชนชั้นปกครองสหรัฐกังวล สรุปแล้วความไม่เท่าเทียมระหว่างอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองจะไม่คงที่ มันจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบของโลกที่มั่นคงภายใต้สหรัฐ” สันติภาพถาวรในระบบทุนนิยมมีไม่ได้
  3. การที่ระบบทุนนิยมมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเสมอ วิกฤตดังกล่าวทำให้ชนชั้นปกครองต่างๆ มีทางเลือกน้อยลง บางรัฐจะอ่อนลง บางรัฐจะถูกบังคับให้แข่งขันเต็มที่เพื่อครองตลาดและทรัพยากร ซึ่งแปลว่า ไม่ว่าจะมีการรวมตัวกันของรัฐในยุโรป หรือการทำข้อตกลงกันเรื่องการค้า หรือการเข้าร่วมกันเป็นพันธมิตรของสหรัฐ เมื่อเกิดวิกฤต แต่ละรัฐจะพยายามเอาตัวรอดโดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศตนเองไว้ก่อน วิกฤตจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องอย่างที่เห็นทุกวันนี้

สรุปแล้วเราไม่ได้เข้าสู่ยุคที่ไร้สงครามแต่อย่างใด นอกจากนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคของ Empire (รัฐยักษ์ใหญ่รัฐเดียวทั่วโลกของชนชั้นปกครองโลก) อย่างที่ เนกรี่ กับ ฮาร์ต (สองนักวิชาการอนาธิปไตย)อ้าง

ลักษณะเฉพาะของจักรวรรดินิยมอเมริกา ซึ่งต่างจากจักรวรรดินิยมเก่า (เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) คืออเมริกาไม่สนใจที่จะครองพื้นที่นานๆ ไม่อยากสร้างอาณานิคมทางภูมิศาสตร์ แต่จะอาศัยรูปแบบ “จักรวรรดินิยมพังประตู” คือชักชวนให้ประเทศต่างๆ เปิดประตูให้กับกลุ่มทุนสหรัฐ (การค้าเสรี) และที่สำคัญคือสหรัฐจะพยายามควบคุมกติกาสากล และควบคุมการรวมตัวกันของประเทศต่างๆ เพื่อร่วมมือกันภายใต้บริบทที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ เช่นสหรัฐสนับสนุนให้ก่อตั้ง EU เพื่อให้ฝรั่งเศสกับเยอรมันหันมาร่วมมือกันภายใต้อิทธิพลของทุนนิยมตลาดเสรีและกองกำลังนาโต้ของสหรัฐ หรือสหรัฐต้องการให้เงินดอลลาร์เป็นเงินที่ทั่วโลกยอมรับโดยสหรัฐไม่ต้องเอาทองคำมาค้ำประกันเลย มันเป็นสิ่งที่ กรัมชี่ เรียกว่า “การควบคุมและครอบงำ” สหรัฐสามารถกดดันให้ชนชั้นปกครองทั่วโลก (เช่นอังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน ออสเตรเลีย ไทย ฯลฯ) มองว่าการมีสหรัฐที่เข้มแข็ง เป็นประโยชน์ต่อเขา และสหรัฐต้องให้ประโยชน์กับประเทศเหล่านั้นบ้าง ในขณะที่ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอย่างสุดขั้ว นี่คือ “อำนาจนิ่ม” ของสหรัฐในฐานะที่มีเศรษฐกิจใหญ่โตสุดในขณะนี้ แต่สหรัฐมี “อำนาจแข็ง” ของกองทัพที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย และมีการโชว์อำนาจนี้ในสงครามเล็กๆ อย่างอิรักเพื่อ “ชักชวน” ให้ประเทศอื่นทำตามกติกาของสหรัฐ

สหรัฐต้องพึ่งเงินฝากของจีนที่มาจากการส่งออกให้สหรัฐแต่แรก จีนเป็นคู่แข่ง แต่ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองจีนผูกพันกับการที่สหรัฐสามารถใช้อำนาจค้ำประกันหนี้สินได้ ในขณะเดียวกันจีนก็กำลังเสริมกองทัพเพื่อเพิ่ม “อำนาจแข็ง” ของตน แต่กรรมาชีพและเกษตรกรจีนอยู่ในสภาวะย่ำแย่ ยากจน และไร้เสรีภาพ เพราะจีนเป็นเผด็จการที่นำเงินไปฝากให้สหรัฐกู้แทนที่จะนำมาเพิ่มรายได้ให้คนธรรมดา จักรวรรดินิยมจีนจึงไม่ก้าวหน้าหรือดีกว่าสหรัฐแต่อย่างใด
นี่คือสาเหตุที่มาร์คซ์ เคยวาดภาพชนชั้นปกครองโลกว่าเป็น “พี่น้องกัน แต่ทะเลาะกันตลอดเวลา”

(บทความจากปี 2009)

***********************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com