โดย C. H.
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ประมาณ ค.ศ. 1780) มีการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ และพลังงานไอน้ำในระบบอุตสาหกรรมอังกฤษ ในช่วงนี้ อดัม สมิท ตีพิมพ์หนังสือ “The Wealth of Nations” ซึ่งท้าทายระบบคิดแบบเก่าของพวกฟิวเดิลและอภิสิทธิ์ชนอย่างมาก เพราะเขาอธิบายว่ามูลค่ามาจากการทำงาน และจะมีการแย่งชิงมูลค่าจากผู้ผลิต โดยเจ้าของที่ดินและนายทุน ก่อนหน้านั้นคนเชื่อกันว่ามูลค่ามาจากเงินหรือทอง แต่สมิทเสนอว่าการทำงานจะสร้างผลผลิตอย่างต่อเนื่องถ้าทำเพื่อผลิตสินค้าที่จะแลกเปลี่ยนหรือผลิตเครื่องมือที่จะใช้ผลิตต่อไป อย่างไรก็ตาม สมิทเสนอว่า ถ้าการทำงานถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคของคนชั้นสูงเท่านั้น มันจะไม่เสริมสร้างมูลค่าต่อไป สมิทกำลังโจมตีพวกขุนนางคนรวยและข้าราชการชั้นสูงที่ทำตัวเป็นกาฝากและกีดกันการพัฒนาของเศรษฐกิจ
สมิทโจมตีรัฐที่กีดกันการแข่งขันอย่างเสรี แต่ในการโจมตี “รัฐ” ของคนชั้นสูงเหล่านี้ สมิทมองข้ามบทบาทสำคัญของรัฐอังกฤษในการช่วยเหลือธุรกิจอังกฤษจากการแข่งขันของธุรกิจต่างชาติ หรือการที่รัฐยึดอาณานิคมมาเพื่อสร้างตลาด เพราะสมิทไม่ได้คัดค้านบทบาทจักรวรรดินิยมอันนี้ของรัฐเลย
สมิทเสนอว่าแรงงานรับจ้าง หรือที่เขาเรียกว่า “แรงงานเสรี” มีประสิทธิภาพมากกว่าแรงงานทาส เพราะระบบทาสกีดกันความสร้างสรรค์ของผู้ทำงาน ทาสต้องการแต่จะกิน นอน และอยู่รอดอย่างเดียว ไม่สนใจการพัฒนาระบบการทำงานเลยเพราะขาดแรงจูงใจ
สมิทมองไม่เห็นปัญหาของกลไกตลาด เพราะเขาอยู่ในช่วงเริ่มต้นของทุนนิยม แต่คนที่ตามมาอย่างเช่น เดวิด ริคาร์โด ในหนังสือ “Principles of Political Economy” เริ่มอธิบายว่าการแข่งขันในตลาดเสรีนำไปสู่การขยายตัวและการหดตัวของเศรษฐกิจในวิกฤต และการเพิ่มเครื่องจักรทำลายมาตรฐานชีวิตของคนงานในที่สุด อาวุธทางความคิดที่นักเศรษฐศาสตร์ยุคแสงสว่างแห่งปัญญาอย่าง สมิทกับริคาร์โด สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายระบบเก่า ก็กลายเป็นอาวุธใหม่เพื่อโจมตีระบบทุนนิยมผ่านการพัฒนาเศรษฐศาสตร์โดย คาร์ล มาร์คซ์ มาร์คซ์อธิบายว่าในระบบทุนนิยมลูกจ้างไม่ได้เสรีแต่อย่างใดแต่กลับถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินโดยนายทุน และการแข่งขันในตลาดเสรีนำไปสู่วิกฤตทุนนิยมทุกๆ สิบปี เนื่องจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรที่มาจากการเพิ่มทุนในเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง
***************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6