Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

สภาปลดแอก หน่ออ่อนขบวนการประชาธิปไตยแท้

โดย วัฒนะ วรรณ

การลุกขึ้นสู้รอบล่าสุดที่นำโดยคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับการเมืองไทยอีกขั้นหนึ่งที่พยายามยกระดับประเด็นการต่อสู้ไปสู่การเมืองภาพใหญ่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบทบาทกองทัพ บทบาทสถาบันกษัตริย์ ที่มีต่อโครงสร้างทางการเมือง

นอกจากนั้น ถึงแม้ในช่วงแรกๆ จะเริ่มต้นที่การเมือง แต่ในเวลาต่อมามีความพยายามมากขึ้นที่จะพูดถึงปัญหาต่างๆ ของสังคมในด้านปากท้อง ด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น การผูกขาดการค้า ปัญหาเรื่องการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การละเมิดสิทธิสตรี เสรีภาพทางเพศ LGBTQ มาตรฐานการจ้างงานที่เป็นธรรม สิทธิคนชนเผ่า รวมถึงปัญหาชาวนา ฯลฯ

ในด้านมวลชนเข้าร่วม มีการขยายตัวไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และบทบาทการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นอย่างมีบทบาทสำคัญ

แต่ธรรมชาติของการต่อสู้ทางการเมืองมักจะ “ขึ้นๆ ลงๆ” บางครั้งขึ้นสูง บางครั้งตกต่ำ เรื่องนี้เป็นธรรมชาติ แต่ขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันจำเป็นต้องเรียนบทเรียนในอดีตเพื่อรับมือกับเรื่องเหล่านี้ด้วย

การต่อสู้รอบนี้เริ่มต้นจากการเสียสละของแกนนำไม่กี่คน ที่พยายามอภิปรายปัญหาการเมืองไทยภายใต้ข้อจำกัดทางกฏหมาย หลายคนต้องกลายเป็นนักโทษการเมือง หลายคนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ภายใต้การสร้างองค์กรทางเมืองที่เป็นเครือข่ายหลวมๆ ขึ้นมาท่ามกลางการต่อสู้

แต่ปัญหาก็เริ่มมองเห็นองค์กรที่เป็นเครือข่ายหลวมๆ อาจจะไม่สามารถรับมือกับภาวะกระแสการต่อสู้ที่ตกต่ำได้ รวมถึงถ้ากระแสการต่อสู้ฟื้นตัวสูงมากก็อาจจะไม่สามารถนำการต่อสู้ได้ ถ้าในช่วงกระแสสูงองค์กรการเมืองกระแสหลักที่มีความเข้มแข็งกว่า เช่น พรรคการเมืองในสภาอาจจะนำเสนอนโยบายทางสังคม นำการต่อสู้ไปได้ ซึ่งพรรคเหล่านี้มักจะเดินตามหลังขบวนการมวลชนเสมอในช่วงการต่อสู้ด้วยมีโครงสร้างองค์กรที่แข็งแรงจึงชิงนำการต่อสู้ได้ แต่อาจจะไม่สามารถนำการต่อสู้ไปสู่ประชาธิปไตยแท้

สภาปลดแอก เป็นแนวคิดแบบหนึ่งของ “สภามวลชน” การปฏิวัติรัสเซียปี 1905 รวมถึงการปฏิวัติในอิตาลี ช่วงปีสีแดง 1920 ที่นำโดยกรรมาชีพ ต่างสร้าง “สภาแรงงาน” ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ในการประสานงานการต่อสู้ แลกเปลี่ยนประเด็นทางการเมือง สภาแบบนี้ ใช้วิธีการเลือกตั้งผู้แทนจากสถานประกอบการมาเป็นตัวแทนในสภา นั่นหมายความ มันสร้างมาจากฐานรากของมวลชน ไม่ได้สร้างมาโดยผู้นำไม่กี่คน

การถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเป็นประจำในสภาจะช่วยให้การต่อสู้เคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบมากขึ้น และขบวนการมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย

สภาปลดแอกอาจจะต่างจากสภาแรงงาน เพราะมีกลุ่มคนที่หลากหลายเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ในครั้งนี้ แต่สามารถขยายไปสู่ขบวนการแรงงาน และขนวนการชาวนาได้ รวมถึงเพิ่มบทบาทขบวนการประชาธิปไตยต่างจังหวัดให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นด้วย การร่วมมือกันเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงยังจะช่วยเพิ่มทรัพยากรในการเคลื่อนไหวทางเมือง เช่น การระดมค่าสมาชิกจากสมาชิก การสร้างสื่อที่เป็นระบบเพื่อชิงอิทธิพลทางความคิดในสังคม รวมถึงการสร้างนักจัดตั้งมวลชนสำหรับการขยายมวลชนที่เป็นระบบมากขึ้น นอกจากนั้น ถ้าการต่อสู้ชนะในเบื้องต้นจะสามารถเข้าไปทำงานต่อเนื่องในการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมต่อไปได้เลย ไม่เช่นนั้น องค์กรการเมืองอื่นจะเข้ามาแทนที่การชิงชัยชนะเหล่านั้นไป

ในเมื่อกระแสการต่อสู้มีขึ้นมีลง ซึ่งไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตได้ ในช่วงกระแสลง สภาปลดแอกจะมีพลังมากพอที่จะรักษากระแสการต่อสู้ และเผยแพร่บทเรียนการต่อสู้ในอดีตเพื่อเตรียมการต่อสู้รอบใหม่ได้ แต่เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยให้กระแสการต่อสู้ขึ้นสูง เกิดการลุกฮือชองมวลชน โครงสร้าง “สภาปลดแอก” จะมีทรัพยากรมากพอ นำการต่อสู้ต่อไปได้ มีผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการฝึกฝนจัดตั้งมวลชน ลงทำงานขยายสมาชิก เผยแพร่นโยบายที่ต้องการจะเปลี่ยนสังคมได้ทันที

ขบวนการประธิปไตย ขบวนการสตรี ขบวนการเพศสภาพ รวมถึงขบวนการนักเรียนนักศึกษา ต้องเริ่มต้นคุยกัน สรุปบทเรียนร่วมกัน และปรึกษากันจะสร้างองค์กรที่มีโครงสร้างทางการเมืองที่แข็งแรงและเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร แน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้น จะมีกลุ่มที่กังวลการนำจาก “บนลงล่าง” จากผู้นำไม่กี่คนแบบในอดีต แต่ก็ต้องเถียงกันว่า ในโลกจริง การมีองค์กรที่มีโครงสร้างการเมืองชัดเจนกับการมีองค์กรที่เป็นเครือข่ายหลวม แบบไหนเปิดโอกาสให้ขบวนการเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่ากัน

*********************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com