โดย รส เสาวลักษณ์
นับตั้งแต่รัฐประหาร ๒๕๔๙ เป็นต้นมา รัฐไทยใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อปราบปราม กดขี่ประชาชน เครื่องมือที่ถูกใช้และมีผลกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนก็คือ องค์กรตุลาการ องค์กรอัยการ และ องค์กรตำรวจ และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก
ภายหลังการรัฐประหาร ๒๕๔๙ เรามักจะเห็นว่า องค์กรเหล่านั้นส่งเจ้าหน้าที่ในระดับสูงมาสนับสนุนความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยไม่สนใจว่า การกระทำขององค์กรตนเองส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อความเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรมแต่อย่างใด เช่น เมื่อตอนรัฐประหารปี ๒๕๔๙ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อดำเนินการเอาผิดนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและคณะรัฐมนตรี ซึ่งรายชื่อคณะคนที่ถูกแต่งตั้งนั้นมีผู้พิพากษาระดับสูงอย่างน้อย ๕ คน หรือกรณีที่รัฐไทยต้องการไม่ให้พรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งกับพรรคที่เขาสนับสนุน พวกเขาก็ใช้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง อย่างเช่น การยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และอนาคตใหม่ เหตุผลที่แท้จริงต้องการยุบพรรคก็คือ กลัวว่าพรรคการเมืองเหล่านี้จะเติบโตและครองใจประชาชนได้ ทำให้พวกชนชั้นนายทุนต้องเสียผลประโยชน์ ซึ่งการยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งศาลนั้นเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า พวกเขาไม่ต้องการให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการเป็นพรรคการเมือง พรรคการเมืองจะเป็นพรรคการเมืองหรือต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองนั้น ต้องขึ้นอยู่กับประชาชน ถ้าประชาชนไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นๆ ก็จะต้องหมดบทบาทไปโดยปริยายดังที่เราเห็น เช่น พรรคการเมืองใหม่ ที่พวกกลุ่มพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตยตั้งขึ้นมา ลงสมัครรับเลือกตั้ง สก.ในกรุงเทพมหานคร แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับเลือกและทำให้หมดสภาพความเป็นพรรคการเมืองโดยปริยาย
เมื่อสำรวจข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต เราก็มักจะเห็นว่า หน่วยงานรัฐทั้งสามหน่วยงานนี้ ไม่เคยถูกตรวจสอบรื้อระบบอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด และพรรคการเมืองก็ไม่เคยเสนอนโยบายเกี่ยวกับการปฎิรูปหน่วยงานทั้งสามหน่วยงานนี้ (มีแต่องค์กรยกเครื่องปฎิรูปการบริหารงานกันเอง) แม้ว่าจะมีการวิจารณ์การกระทำว่าทำไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่ ๓ องค์กรหลักเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมอย่างที่สุด และเมื่อพิจารณาถึงหลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ ที่รัฐไทยจับกุมและดำเนินคดีประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่เป็นจำนวนมาก และเครื่องมือที่ใช้มากที่สุดก็คือ ๓ องค์กรที่กล่าวมาข้างต้น และพวกเขาสั่งขังคุกโดยที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาอยู่เป็นจำนวนมาก และล่าสุด (๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) มีการสั่งไม่ให้ประกันตัวประชาชนที่เป็นหัวหอกในการนำการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ งบประมาณทหาร ทั้งๆ ที่มีหลักทรัพย์เพียงพอตามมาตรฐานที่พวกเขากำหนดไว้ และแม้ว่าองค์กรตุลาการจะถูกด่าทุกวัน แต่พวกเขาก็หาสนใจในคำด่าคำวิจารณ์ของพวกเรา ก็เป็นเพราะว่าพวกเขาลำพองใจมากว่า ไม่มีอำนาจใดๆ ล้มล้างอำนาจของพวกเขาได้ และพวกเขาจะยังคงอยู่ในฐานะเดิมที่เคยเป็นอยู่มาก่อน ในฐานะนักมาร์กซิสต์ พวกเรารู้ดีว่าพลังกรรมาชีพเป็นพลังเดียวที่สามารถต่อกรกับอำนาจรัฐได้ และการปฎิรูปองค์กรยุติธรรมของนายทุนจะต้องเป็นหน้าที่ของชนชั้นกรรมาชีพ เพราะชนชั้นกรรมาชีพคือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ระบบ ผู้เขียนมีข้อเสนอเฉพาะหน้าสำหรับการปฎิรูประบอบยุติธรรม ดังนี้
๑.ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน รูปธรรมในการเลือกตั้งก็คือ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือกตั้ง
๒.ตำแหน่งทั้งสามตำแหน่ง เมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว ต้องสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งต่อสภาผู้แทนราษฎร
๓.ต้องใช้ระบบลูกขุนในการดำเนินคดีอาญา โดยให้ประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุของคดีมีส่วนร่วมในการตัดสินข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในท้องที่เกิดเหตุ อันเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความยุติธรรม โดยให้จำเลยหรือผู้ต้องหานั้นเป็นคนเลือกแนวทางในการดำเนินคดีอาญาว่าประสงค์จะเลือกระบบลูกขุน หรือระบบองค์คณะผู้พิพากษาในการตัดสินคดีของเขา
******************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6