โดย คิริฮาระ
ในบางครั้ง ฝ่ายขวามักบิดเบือนและให้ร้ายชาวมาร์คซิสต์ว่า พวกเราให้ความสนใจแต่ในด้านการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและการเมือง และละทิ้งความสนใจในด้านศิลปะและวัฒนธรรม แล้วความจริงเป็นอย่างไร?
ในสังคมทุนนิยม ศิลปะถูกโซ่ตรวนของกำไรล่ามเอาไว้ วัฒนธรรมเป็นเรื่องธุรกิจและงานสร้างสรรค์ของมนุษย์หลายอย่างเช่น ศิลปะ ดนตรีและวรรณกรรมถูกกักขังไว้เป็นเพียงทรัพย์สินส่วนบุคคลหรือไว้ตอบสนองคนร่ำคนรวย มากไปกว่านั้น ศิลปะเริ่มมีความตื้นเขินและไร้ซึ่งความสร้างสรรค์ขึ้นไปทุกวัน สะท้อนวิกฤตของระบบทุนนิยมโดยตัวของมันเอง วิธีแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้อยู่ในตัวศิลปะเอง แต่เราจะพบมันในการแก้ไขปัญหาสังคมต่างหาก
ในช่วงแรก ๆ ของการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 พลังของชนชั้นกรรมาชีพเริ่มจะปลดแอกมนุษย์จากการกดขี่ทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่เพียงการขูดรีดทางเศรษฐกิจและการกดขี่ทางการเมืองเท่านั้น มันยังเป็นการท้าทายกรอบทุกกรอบและค่านิยมของสังคมโดยรวม เช่น ระบบการศึกษา เรื่องเพศ ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ ในยุคนั้นมีการทดลองสร้างงานศิลปะอย่างหลากหลาย และมีเป้าหมายที่จะสร้างงานศิลปะแบบใหม่ๆ ขึ้นมา โดยไม่ให้ถูกจำกัดไว้แค่อำนาจเงินแบบที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยม และมีการถกเถียงกันอย่างหนักในหมู่ปัญญาชนและศิลปินเรื่องภาระของศิลปินในยุคใหม่และท่าทีที่เราควรมีต่อศิลปะในยุคต่างๆ
แต่ไม่กี่ปีหลังจากการปฏิวัตินั้น กลับประสบพบเจอกับปัญหาร้ายแรงที่ท้าทายสภาพความอยู่รอดของการปฏิวัติ เช่นวิกฤตความเสียหายจากสงครามโลก สงครามการเมืองและปัญหาการขยายการปฏิวัติสังคมนิยมสู่ประเทศต่างๆ ทั่วเช่นประเทศเยอรมัน ต่อมาพลังการปฏิวัติที่ก้าวหน้าก็ถดถอย เลนินและทรอตสกีหวังให้มีการเกิดการปฏิวัติเยอรมันเพื่อที่จะช่วยหนุนการปฏิวัติรัสเซีย เพราะเศรษฐกิจเยอรมันก้าวหน้ากว่ารัสเซียและจะมีพลังการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพเยอรมันมาเสริมแรงให้การปฏิวัติรัสเซียปี 1917 ไปต่อได้ แต่สุดท้ายพวกเขาต้องผิดหวัง เพราะสตาลินและข้าราชการแดงปฏิวัติซ้อนและรวบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ความก้าวหน้าที่เคยเกิดขึ้นก็ถอยหลัง ต่อมาสตาลินเปลี่ยนนโยบายปฏิวัติสากลของกรรมาชีพเป็นนโยบายขูดรีดสะสมทุนเพื่อ “สร้างชาติ”
สตาลินสร้างภาพลวงตาว่าแนวเขาต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติปี 1917 โดยที่ยังอ้างถึงมาร์คซ์และเลนินอยู่และยังคงใช้สัญลักษณ์ทุกอย่างของสังคมนิยมเพื่อรองรับภาพลวงตานี้ ทฤษฎีมาร์คซิสม์ของสตาลินจึงเป็นแค่เรื่องกลไกแข็งทื่อและลดความสำคัญของทฤษฎีชนชั้น “กลไก” ในที่นี้หมายถึงการมองด้านเดียวที่แคบ ไม่มีความละเอียดอ่อน ไม่คำนึงถึงความไม่แน่นอนของการกระทำของมนุษย์
แนวคิดพรรค์นี้มีมาตลอดในสังคม เพราะมันเป็นความพยายามของชนชั้นปกครองเผด็จการที่จะห้ามไม่ให้ผู้ถูกปกครองคิดเองเป็น ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามท้าทายสังคม
การกระทำของสตาลินจึงมีผลต่อการพัฒนาทางศิลปะอย่างเลี่ยงไม่ได้ และทำให้ศิลปะยุคโซเวียตเสื่อมลง สตาลินแปรเปลี่ยนรูปแบบศิลปะในยุคการปฏิวัติปี 1917 ที่เคยสร้างสรรค์ไปเป็นแค่ศิลปะที่แข็งทื่อและมีลักษณะกลไก แนวสตาลินมีความจำเป็นที่จะต้องจำกัดเสรีภาพของบรรดาศิลปิน เพราะศิลปินส่วนใหญ่มักคิดเองเป็นและมีหัวกบฏพอสมควร และการพัฒนาศิลปะต้องอาศัยความสร้างสรรค์และเสรีภาพ วิธีที่สำคัญในการปิดปากศิลปินคือการอ้าง “ประโยชน์ของกรรมาชีพ” มาจำกัดเสรีภาพและความสร้างสรรค์ในการสรรค์สร้างผลงานของศิลปิน เช่นงานศิลปะที่มีความสลับซับซ้อน จะมีการอ้างว่าศิลปะประเภทนี้ “เข้าใจยาก” “ไม่ชัดเจน” “ไม่ตรงตามแนวทางพรรค” เพียงพอที่จะ “รับใช้ชนชั้นผู้ถูกกดขี่” มันเป็นการจำกัดศิลปะและวรรณกรรมให้เป็นแค่เรื่องทุกข์ร้อนของคนจนหรือความกล้าหาญของนักสู้ เช่น สตาลินสั่งจำคุก Kazimir Malevich ศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้น เพราะ Malevich เป็นศิลปินที่ชื่นชอบการสร้างสรรค์ผลงานแนวนามธรรมที่ซับซ้อน มองว่าภาพเหมือนจริงคือตัวแทนของสังคมเก่าที่ต้องรื้อถอนนั่นเอง สตาลินอ้างว่า “เข้าใจยากเกินไป” ซึ่งทำให้งานนามธรรมของ Malevich ถูกแบนและทำให้ Malevich ติดคุก และเมื่อเขา
ออกจากคุกยังถูกบังคับ จนในที่สุดเขาต้องฝืนตัวเองไปทำแนวภาพเหมือนนั่นเอง
การปฏิวัติรัสเซียปี 1917 เป็นเหมือนประกายไฟที่สร้างแรงบันดาลใจและความสร้างสรรค์ให้กับบรรดาศิลปินไม่มากก็น้อยจากการอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพต่อระบบกดขี่ของพระเจ้าซาร์และระบบทุนนิยม อีกทั้ง มันยังเป็นการเปิดประตูให้แกลเลอรี่ของรัสเซียในขณะนั้นให้สามารถเข้าถึงโดยคนธรรมดาได้ครั้งแรก แม้ในที่สุดการปฏิวัติจะล้มเหลวแต่มันก็ทิ้งบทเรียนล้ำค่าไว้ให้เรา นั่นคือการปลดปล่อยพัฒนาการของเหล่าศิลปินและงานศิลปะของพวกเขาที่ถูกฉุดรั้งไว้โดยระบบทุนนิยมแสวงหากำไร การปฏิวัติสังคมนิยมจะปลดแอกศิลปะจากโซ่ตรวนที่พันธนาการเหล่านี้
***************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6