Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ภาพลืมเลือนของการต่อสู้กรรมกรไทย

โดย สหายเข็มหมุด

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการสร้างวาทกรรม ภาพมายาคติ จนถึงวิธีการใช้ไม้แข็ง เช่น การใช้ข้อบังคับทางกฎหมาย การกระทำอันอุกอาจ เพื่อกัดเซาะทำลายพลังของชนชั้นกรรมาชีพทีละเล็กทีละน้อย และเพื่อให้เหล่ากรรมาชีพอยู่อย่างสงบเสงี่ยม ไม่ต่อต้านชนชั้นปกครองหรือนายทุน ซึ่งหลายๆ แนวความคิดมันสร้างเพื่อให้เราโทษปัจเจกบุคคล ไม่คิดรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงมีของเรา ฉะนั้น จักต้องระลึกไว้ว่า เหล่ากรรมาชีพในอดีตนั้นได้เรียกร้องต่อสู้อย่างยืดเยื้อและยาวนานเช่นกัน เช่น การเรียกร้องวันหยุดลาคลอดของแรงงานหญิงในย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ 90 วัน ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐไม่เห็นถึงความสำคัญของแรงงานผู้หญิง นอกจากนั้น ยังพยายามให้สังคมลืมการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ มองแค่เพียงว่าต้องการจะสร้างปัญหาหรือสร้างความแตกแยกในสังคม แต่ไม่เห็นว่าที่ออกมาเรียกร้องสูญเสียเสรรีภาพหรือชีวิตก็เพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตที่ดี สวัสดิการ และสิทธิที่ควรจะได้รับแต่แรก

เริ่มแรก เป็นสมาคมลูกจ้างตามกฎหมายแพ่ง แต่เป็นสมาคมที่ไร้อำนาจในการต่อรองใดๆ เริ่มมามีอำนาจต่อรองจริงๆ เมื่อปี 2488-2489 ซึ่งสมาคมแรกที่มีพลังคือ “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” เป็นสมาคมที่รวมหลากหลายอาชีพต่างๆ ทั้งผู้ใช้แรงงานและผู้ที่ถูกกดขี่ ทางสมาคมได้เรียกร้องให้มีการจัดการเฉลิมฉลองวันกรรมกรไทยครั้งแรกขึ้นที่สนามหลวง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ต่อมาในปีนั้นก็เกิดกรรมกรรถไฟและกรรมกรโรงงานต่างๆ ขึ้น เหตุการณ์ที่น่าจดจำคือ การนัดประท้วงหยุดงานของกรรมกรโรงสี ปี 2490 เนื่องจากภาวะการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นตัวอย่างแก่การต่อสู้ของกรรมกรไทยในเวลาต่อมาจนปัจจุบัน แต่น่าเศร้าที่ในสมัยจอมพล ป. ขบวนการกรรมกรถูกแทรกแซงและเกิดความเสียหายจากรัฐ โดยจอมพล ป. ตั้งสมาคมกรรมกรไทยขึ้น บริจาคเงินอุดหนุน ให้ขบวนการมาอยู่ใกล้ ๆ ตัว เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์และทำลายขบวนการชนชั้น ด้วยเหตุนี้จอมพล ป. จึงสนับสนุนการจัดตั้งหลายอย่าง เช่น สหพันธ์การค้าย่อย สหพันธ์กรรมกรหญิง เปลี่ยนสหบาลกรรมกรเป็นสหภาพแรงงาน เป็นต้น

เริ่มมีการต่อต้าน นัดหยุดงานเกิดขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องของตน เช่น กรรมกรรถไฟมักกะสันเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ เจ็บป่วยลาได้ 60 วัน ลาคลอดบุตรได้ 60 วัน จ่ายบำเหน็จ บลาๆ สิ่งเหล่านี้ต้องเรียกร้องจากฝ่ายการรถไฟจึงจะได้มา คนที่เสียสละคือ ผู้นำกรรมกร 7 คน ถูกฟ้องข้อหากบฏแผ่นดิน ถูกควบคุมตัวอยู่ 43 วันแล้วจึงถูกปล่อยตัว แต่ไม่สามารถกลับเข้าทำงานรถไฟได้อีก มีการต่อสู้เพื่อสวัสดิการที่ดีกว่าหลายครั้ง และยืดเยื้อทุกครั้ง เช่น การหยุดงานต่อสู้ของกรรมกรโรงเลื่อย บริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า การหยุดงานของกรรมกรทอผ้าไทยภัตราภรณ์ พระโขนง เป็นต้น (สามารถอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้จากหนังสือการต่อสู้ของกรรมกรไทย และก้าวต่อไปของกรรมกรไทย)

โดยหากเรามองย้อนกลับไปในการต่อสู้ของกรรมกรไทยตั้งแต่อดีตเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานทอผ้า กรรมกรรถไฟ กรรมกรไม้ขีดไฟ กรรมกรโรงงานต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า “ชัยชนะนั้นได้มาจากการต่อสู้ และการต่อสู้จักประสบผลสำเร็จได้นั้นเราต้องรวมพลังกัน” ชนชั้นกรรมาชีพ จงรวมตัวกันเข้า…

*****************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com