แปลและเรียบเรียงโดย พิราบแดง
บทความนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อ 27 มีนาคม 2002 แต่ด้วยบรรยากาศการต่อสู้ในไทยปัจจุบันที่องค์กรชาวนาพยายามลุกขึ้นสู้ต่อรัฐบาลประยุทธ์ น.ส.พ.สังคมนิยมเห็นว่าบทความนี้ยังทันสมัยในการอธิบายภาพชาวนาในระบบทุนนิยมปัจจุบันที่ไม่ได้มีเนื้อเดียวกันทั้งหมด
Kevin Ovenden ชวนมองบทบาทของชาวนา
ชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ชนชั้นชาวนาไม่ได้มีเพียงเกษตรกร การทำฟาร์มในอังกฤษและประเทศทุนนิยมก้าวหน้าอื่นๆ เป็นอุตสาหกรรมทุนนิยม เกษตรกรรมส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยเจ้าที่ดินรายใหญ่ผู้ซึ่งดำเนินธุรกิจ จ้างคนงานเช่นเดียวกับเจ้าของโรงงานและบริษัทข้ามชาติ
แต่ในประเทศที่อุตสาหกรรมยังพัฒนาไม่มากนักหลายๆ ประเทศ รูปแบบของการผลิตทางการเกษตรนั้นแตกต่างกัน มันขึ้นอยู่กับชาวนาคนที่ทำงานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในที่ดินและต้องมอบส่วนหนึ่งของสิ่งที่พวกเขาผลิตให้กับเจ้าที่ดิน เป็นไปได้ว่า ประชากรส่วนใหญ่ของโลกยังคงอาศัยอยู่ในลักษณะนี้ในอินเดีย จีน บางส่วนของตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และแอฟริกา แน่นอนว่าในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่เป็นชาวนา การเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านชาวนานั้นช้ากว่าในเมืองที่ซึ่งผู้คนและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกระจุกตัวและหนาแน่นกว่า
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวิถีชีวิตชาวนาหยุดนิ่ง การแผ่ขยายของระบบทุนนิยมผ่านการสร้างตลาดโลกได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของชาวนาแม้ในที่ที่ห่างไกลที่สุด มันทำให้ชาวนาผลิตสินค้าที่ไม่ได้ขายหรือแลกเปลี่ยนกันเพียงแค่ในท้องถิ่น พวกเขาเข้าสู่เครือข่ายการขนส่ง การซื้อขายที่กว้างขวาง ระหว่างจุดที่ผู้ผลิตชาวนากับผู้บริโภคยืนอยู่คือบรรษัทข้ามชาติ พวกเขาจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ผลิตน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคเท่าที่สามารถทำได้
ผลกระทบของทุนนิยมก็สัมผัสได้ในรูปแบบอื่นเช่นกัน การเติบโตของโรงงานเหมืองแร่และโรงสีในอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 ดึงผู้คนออกจากชนบทและเข้าสู่เมืองต่างๆ กระบวนการที่คล้ายกันนี้กำลังเกิดขึ้นใน ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ เมืองต่างๆ เช่น เตหะราน รีโอเดจาเนโร กรุงเทพมหานคร เม็กซิโกซิตี้ แอลเจียร์ ไคโร ลากอส และบอมเบย์ ต่างเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
ตามรายงานของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2002 ผู้คน 160,000 คนย้ายจากชนบทไปยังเมืองต่างๆ ทุกวันด้วยความหวังว่าจะมีงานทำและมีชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทนายทุนรายใหญ่ก็เป็นเจ้าของที่ดินมากขึ้น
การผลิตเพื่อตลาดโลกทำให้ชีวิตชาวนาชนบททั้งหมดขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
การพัฒนาเหล่านี้ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างชาวนากับคนงานที่ต่อสู้กับบรรษัททุนนิยมในเมืองต่างๆ มากขึ้น พวกเขายังมีการแบ่งแยกที่ลึกซึ้งตามการถือครองที่ดิน คำว่าชาวนาจึงมีลำดับชั้นที่แตกต่างกันเสมอ
กลุ่มล่างสุดคือครอบครัวที่ทำงานในที่ดินซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของเจ้าที่ดินโดยสิ้นเชิง ถัดจากนั้นเป็นชาวนาที่สามารถจ้างแรงงานได้ คนที่ร่ำรวยกว่าจะเป็นชนชั้นชาวนาที่ดำเนินงานในฐานะที่เป็นนายทุน อาศัยการเอารัดเอาเปรียบคนงาน หรือควบคุมทรัพยากรของพวกเขา
การแบ่งแยกเหล่านี้ หมายความว่า การต่อสู้ของชาวนาไม่เคยมีความชัดเจนเท่ากับการเผชิญหน้าระหว่างคนงานและนายทุน พวกเขามักเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างชาวนาที่ยากจนกับชาวนาที่ ‘ร่ำรวยกว่า’ พวกเขาไม่ได้ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรวมกลุ่มต่อสู้แบบคนงาน ในทางกลับกันการต่อสู้ของชาวนานั้นมาจากผู้ผลิตที่เป็นปัจเจกบุคคลที่พยายามจะเป็นเจ้าของที่ดิน
ดังนั้น แบบแผนของการลุกฮือของชาวนาจึงเป็นการระเบิดขึ้นของความกล้ำกลืนฝืนทนต่อเจ้าที่ดินรายใหญ่หรือตัวแทนของชนชั้นปกครอง แต่หลังจากนั้นก็แตกเป็นกลุ่มๆ การต่อสู้ของคนเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับการรวมกลุ่มของชนชั้นแรงงาน ชนชั้นปกครองจึงสามารถควบคุมพวกเขาไว้ได้
ตอนนี้ตลาดโลกกำลังผลักดันชาวนาที่ยากจนที่สุดให้ตกต่ำลง ในขณะเดียวกันก็ยอมให้คนส่วนน้อยสามารถพัฒนาตนเองและมีบทบาทในท้องถิ่นโดยเป็นเครือข่ายของการขูดรีดระดับโลก ซึ่งได้จุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องที่ดินอย่างรุนแรงและบ่อนเซาะอุดมการณ์ดั้งเดิม
การเชื่อมต่อกับการสื่อสารสมัยใหม่ทำให้ชาวบ้านชาวนาจำนวนมากตระหนักถึงการต่อสู้ของคนงานและคนยากจนในส่วนอื่นๆ ของโลกมากกว่าเมื่อก่อน ชาวนาในบางส่วนของโลกยังมีชีวิตขึ้นอยู่กับค่าจ้างที่คนในครอบครัวในเมืองส่งมาให้
อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงเผชิญกับอุปสรรคในการต่อต้านผู้ขูดรีด ไม่เหมือนคนงาน ชาวนาไม่ใด้อยู่ในใจกลางของการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่ครองโลก พวกเขาขาดอำนาจของการรวมกลุ่มแบบคนงานที่จะสามารถโจมตีผลกำไรของนายทุนโดยตรงได้ และแนวคิดอนุรักษ์นิยมในชนบทยังคงมีอิทธิพลสูงมากกว่าในเมือง
โลกาภิวัตน์กำลังสร้างความทุกข์ยากอย่างใหญ่หลวงให้กับชาวนาจำนวนมากในโลก ขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมโยงการต่อสู้ของผู้ถูกขูดรีดในเมืองกับคนยากจนในชนบทเข้าด้วยกันมากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์
ที่มา Kevin Ovenden. (27 March 2002). An alliance with the countryside? จาก socialistworker.co.uk/what-socialists-say/an-alliance-with-the-countryside/
******************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6