Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

บทสัมภาษณ์: ภายหลังการปฏิวัติฮ่องกง ตอน 2

แปลและเรียบเรียงโดย หว่องเกล้าไว

บทสัมภาษณ์ Lam Chi Leung นักสังคมนิยมชาวฮ่องกง เกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวฮ่องกงช่วงที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงจุดยืนของนักสังคมนิยมในฮ่องกงในประเด็นเหล่านั้น

ในตอนที่ 1 ได้เล่าถึงการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของขบวนการภาคประชาชนในฮ่องกงเมื่อปี 2019 การที่รัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่งฉวยโอกาสช่วงโควิดระบาดผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติและทำลายองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรแรงงานเป็นจำนวนมาก ในตอนที่ 2 จะเป็นการเปรียบเทียบกับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการปฏิวัติร่ม ปี 2014 และแนวทางการต่อสู้ในมุมมองฝ่ายซ้าย

มีการเคลื่อนไหวประท้วงจำนวนมากทั่วโลกในปี 2019 คนในฮ่องกงคิดว่ามีอะไรเหมือนกับการเคลื่อนไหวสากลนั้นหรือเปล่า?

การชุมนุมแสดงความสมานฉันท์กับขบวนการต่อสู้เพื่อการเป็นรัฐอิสระของแคว้นคาตาลันเริ่มขึ้นในช่วงเดียวกับการเคลื่อนไหวประท้วงในฮ่องกง แต่ก็ไม่เท่ากับว่ามวลชนจะมีอะไรเหมือนกับแคว้นคาตาโลเนียหรือการต่อสู้อื่นๆ ทั่วโลก แม้ว่าฮ่องกงจะเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่มีความเป็นสากล แต่คนทั่วไปในฮ่องกงไม่ได้สนใจการต่อสู้ระดับสากลมากนัก และส่วนใหญ่ยังคงได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสื่อกระแสหลักของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่อต้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่เคยเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเดี่ยว เพราะในปี 2019 การเคลื่อนไหวของมวลชนปะทุขึ้นในอิหร่าน อิรัก เอกวาดอร์ และชิลี บางคนถึงกับเปรียบเทียบพัฒนาการการต่อสู้นั้นกับอาหรับสปริงในปี 2011 โดยขนานนามว่า “ฤดูใบไม้ผลิของโลกใต้” แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงในประเทศโลกเหนือ เช่น ในฝรั่งเศสและคาตาโลเนีย ทั้งๆ ที่มีสาเหตุชนวนของปัญหาและวิธีการต่อสู้ที่แตกต่างกัน แต่การต่อสู้ล้วนมาจากการรวมตัวกันด้วยความโกรธแค้นต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการกดขี่ทางการเมือง

แม้แต่ชนชั้นปกครองในฮ่องกงและจีนก็เข้าใจดีว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนทำให้คนผิดหวังอย่างมากกับสภาพที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มสาว การไม่สามารถหาทางออกจากสถานการณ์นี้ได้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวมานานกว่าครึ่งปี และความคิดเห็นของสาธารณชนกระแสหลักยังคงสนับสนุนผู้ประท้วงต่อไป ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นเพียงจุดประกายให้เกิดการประท้วง ยิ่งสาเหตุที่ฝังลึกอยู่ในนโยบายเสรีนิยมใหม่ของรัฐ พฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบของนายทุนทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ และความสัมพันธ์ของรัฐบาลที่รับใช้คนรวย การต่อสู้ดิ้นรนในฮ่องกงและที่อื่นๆ ตั้งแต่ปี 2019 ล้วนแสดงให้เห็นถึงวิกฤตของความเป็นผู้นำ และสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นในฮ่องกงที่ๆ การเคลื่อนไหวใช้วิธี “การกระจายกำลังและไร้แกนนำ” ซึ่งตรงข้ามกับการจัดตั้งองค์คณะต่อต้านในการปฏิวัติซูดาน สมัชชาขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง ในฝรั่งเศส

ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของการชุมนุมเคลื่อนไหวเมื่อปี 2019 กับขบวนการร่มก่อนหน้า เมื่อปี 2014 คืออะไร?

ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2019 ฮ่องกงได้เห็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อมายาวนาน ซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับบริษัทการทางรถไฟสายด่วนของฮ่องกงในปี 2009 และการต่อต้านการบังคับใช้หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติในปี 2012 สาเหตุที่มาของการประท้วงเหล่านี้ได้ทำให้คนธรรมดาก้าวหน้าทางการเมืองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่ไม่พอใจที่รัฐบาลฮ่องกงลำเอียงไปทางกลุ่มทุนใหญ่ที่ดำเนินนโยบายผังเมืองและความพยายามที่จะนำหลักสูตรการศึกษาอุดมการณ์คลั่งชาติไปสอนนักเรียนมัธยมศึกษา การเคลื่อนไหวที่เรียกว่าขบวนการร่มในปี 2014 และขบวนการต่อต้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนปี 2019 มีสิ่งที่ร่วมกันคือแรงกระตุ้นการต่อสู้ที่ไปไกลเพื่อปกป้องรักษาประชาธิปไตยทางการเมือง

การเคลื่อนไหวในปี 2019 มีลักษณะที่แตกต่างจากครั้งก่อน อย่างแรกคือ ไม่เหมือนกับขบวนการร่มที่ต่อสู้เพื่อขยายสิทธิประชาธิปไตยไปสู่สิทธิการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งหัวหน้าผู้บริหารฮ่องกง แต่ขบวนการต่อต้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนพยายามที่จะปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานจากการคุกคามของรัฐ มากกว่าการต่อสู้เรื่องสิทธิในเชิงรุก

อย่างที่สอง ขบวนการร่มใช้ยุทธวิธีต่างๆ เช่น การยึดท้องถนนยาวนาน โดยเน้นการต่อสู้อย่าง “ผู้กล้า” โดยไม่มีการถอย ในทางตรงกันข้าม ขบวนการต่อต้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนใช้ยุทธวิธีที่ยืดหยุ่นมากขึ้นในช่วงแรก ผู้ประท้วงไม่ได้ปกป้องตนเองเมื่อเผชิญกับการปราบปรามของตำรวจ แต่ใช้ยุทธวิธีการต่อสู้ที่ชาญฉลาดแทน

อย่างที่สาม ระหว่างขบวนการร่ม ชาวฮ่องกงในท้องถิ่นที่เป็นพวกขวาสุดโต่งจำนวนมากสามารถแย่งชิงการเคลื่อนไหวด้วยสโลแกน เช่น “ฮ่องกงต้องมาก่อน” ซึ่งมักมุ่งเป้าไปที่ผู้อพยพและนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ อิทธิพลของคนในท้องถิ่นฝ่ายขวาสุดโต่งในขบวนการต่อต้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนยังคงปรากฏชัด แต่จากนั้นก็อ่อนแอลง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ในปี 2019 ประท้วงและหยุดงานอย่างสันติ พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์คนท้องถิ่นที่ขวาสุดโต่งที่สนับสนุนให้ฮ่องกงเป็นอิสระ และพวกเขาหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ตัวอย่างเช่นการประท้วงในเขตเกาลูนในวันที่ 7 กรกฎาคม 2019 ซึ่งผู้จัดงานบางคนเป็นพวกลัทธิท้องถิ่นนิยมรังเกียจชาวต่างชาติ แต่นักกิจกรรมเคลื่อนไหวได้แจกจ่ายใบปลิวภาษาจีนตัวย่อให้กับนักท่องเที่ยว ร้องเพลงสากล และร้องสโลแกน “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี” ซึ่งเป็นชื่อหนังสือยอดนิยมที่เขียนโดย Yu Keping เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ม.ปักกิ่ง เห็นได้ชัดว่าผู้ประท้วงทุกคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดท้องถิ่นนิยมขวาสุดโต่ง

แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มคนงานจัดตั้งเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้แค่ไหน?

นับตั้งแต่การส่งคืนฮ่องกงให้จีนในปี 1997 การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพก็ก้าวหน้าไปอีกขั้น ตัวอย่างเช่น มีการประท้วงของภาครัฐในการต่อต้านการแปรรูปในปี 2000 การนัดหยุดงานของคนงานก่อสร้างในปี 2007 และการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ท่าเรือในปี 2013 อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว ระดับของกิจกรรมและจิตสำนึกทางชนชั้นในหมู่คนงานไม่สูง การเคลื่อนไหวในปี 2019 ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การจลาจลในฮ่องกงในปี 1967 ที่มีการตั้งคำถามในประเด็นการเมือง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2019 พนักงานสายการบินและสนามบินประมาณ 350,000 คน นักสังคมสงเคราะห์ และครูได้นัดหยุดงานประท้วง หนึ่งในสามของพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศทั้งหมดมีส่วนร่วมในการประท้วงนั้น และส่วนหนึ่งของลูกเรือของสายการบินคาเธ่แปซิฟิกและฮ่องกงก็เข้าร่วมด้วย ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกเที่ยวบินกว่า 200 เที่ยวบิน รถไฟใต้ดินก็ถูกระงับเป็นเวลาครึ่งวันเช่นกัน แม้จะไม่ใช่การหยุดงานเต็มรูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกนายจ้างลงโทษ คนงานบางคน (รวมถึงครูและนักสังคมสงเคราะห์) ใช้สิทธิลาประจำปีเพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการนัดหยุดงาน นายจ้างบางคนปล่อยให้ลูกจ้างลางานในวันนั้น ถึงกระนั้น แม้ว่าจะเป็นเพียงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เพียงหนึ่งวัน แต่เป็นความก้าวหน้า ระหว่างการชุมนุมเคลื่อนไหวปี 2014 มีเพียงคนงานท่าเรือเท่านั้นที่เข้าร่วมในการยึดพื้นที่ย่านธุรกิจกลางใจเมือง และนักสังคมสงเคราะห์เพียง 2,000 คนเท่านั้นที่หยุดงานประท้วงเพื่อสนับสนุนขบวนการร่ม ส่วนการระดมคนงานเข้าร่วมการชุมนุมในปี 2019 สูงขึ้นมาก

ฝ่ายซ้ายบางคนมองว่าขบวนการล่าสุดในฮ่องกงเป็นขบวนการฝักใฝ่จักรวรรดินิยม ได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ เพื่อใช้ต่อต้านจีน คุณจะตอบโต้มุมมองนี้อย่างไร?

นับตั้งแต่การก่อตั้งในจีนและฮ่องกงไปจนถึงยุคหลังสตาลินในระดับสากล มีการกล่าวหาว่าขบวนการเคลื่อนไหวของเราว่าถูกควบคุมและสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตกที่ท้ายสุดแล้วขบวนการดังกล่าวสนับสนุนเอกราชของฮ่องกง ซึ่งเป็นเรื่องเท็จ แท้จริงนั้นการเคลื่อนไหวเริ่มต้นโดยประชาชนเอง และแรงผลักดันหลักของขบวนการนี้คือ ผู้ประท้วงรุ่นเยาว์ รัฐบาลต่างประเทศไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซง สมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนประชาธิปไตยบางคนและนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง เช่น โจชัว หว่องมักโน้มเอียงไปทางตะวันตกและเชื่อมั่นรัฐบาลสหรัฐฯ คนเหล่านี้มักปรากฏตัวในสื่อ แต่เพียงเพราะพวกเขาเป็นบุคคลสาธารณะที่รู้จักกันดี พวกเขาไม่ได้มีอำนาจที่จะเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว และพวกเขาปฏิเสธความเป็นผู้นำอย่างชัดเจน

ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามในฮ่องกง แต่มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสหรัฐฯ กับตำรวจฮ่องกงมาอย่างยาวนาน อาวุธและเทคโนโลยีการควบคุมจลาจลที่ตำรวจฮ่องกงใช้นั้นได้รับการจัดหาโดยบริษัทสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายปีแล้ว เทคโนโลยีเดียวกันหลายอย่างถูกนำมาใช้กับผู้ประท้วงคนผิวดำและแนวร่วมของผู้ประท้วงในสหรัฐอเมริกา ฝ่ายซ้ายบางคนยังคงมีมุมองแบบฝักฝ่าย โดยเชื่อว่าระบอบการปกครองที่ต่อต้านสหรัฐฯ เป็นตัวแทนของพลังที่ก้าวหน้าในการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก บางคนยังยึดสุภาษิตโบราณที่ว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตรของฉัน” พวกปีกซ้ายที่สนับสนุนระบอบการปกครองของจีนในฐานะ “ผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยม” และปฏิเสธที่จะวิพากษ์วิจารณ์จีน ได้สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับลักษณะของรัฐจีน เพราะแท้จริงมันคือระบบราชการ ระบบทุนนิยมที่ต่อต้านชนชั้นแรงงาน

มีการจัดตั้งเหลืออยู่ในขบวนการในฮ่องกงมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มเป็นแนวร่วมวงกว้างหรือกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติ? ฝ่ายซ้ายมีการเมืองแบบไหน?

ฝ่ายซ้ายในฮ่องกงมีขนาดเล็กและแตกแยก และครอบคลุมทั้งองค์กรทางสังคม-ประชาธิปไตยและกลุ่มซ้ายในวงกว้าง บวกกับอนาธิปไตยและนักสังคมนิยมปฏิวัติที่เป็นส่วนน้อย ฝ่ายซ้ายสังคมนิยมมีอิทธิพลอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม มีพัฒนาการเชิงบวกบางอย่างในช่วงปี 2009 – 2014 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อตั้งกลุ่ม Left 21 ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายซ้ายก่อตั้งในปี 2010 มีสมาชิกรุ่นเยาว์ประมาณ 80-100 คน มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสร้างความสมานฉันท์กับการนัดหยุดงานของคนงานท่าเรือในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางอุดมการณ์ท้องถิ่นขวาจัดที่เพิ่มขึ้น แนวร่วมฝ่ายซ้ายตกอยู่ในความสับสนทางการเมือง และบางคนถึงกับไปทางฝ่ายขวาสุด น่าเสียดายที่ฝ่ายซ้ายไม่สามารถแทรกแซงการเคลื่อนไหวปี 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้ ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบใหม่ นักสังคมนิยมต้องทำงานร่วมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ จัดตั้งท่ามกลางประเด็นปัญหาของประชาชน และชี้แจงแนวคิดไปพร้อม ๆ กัน ด้วยวิธีนี้เท่านั้นจึงจะค่อย ๆ เสริมสร้างอิทธิพลของตนเองได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการต่อสู้กันของคนงานจำนวนมากในประเทศจีน เช่นเรื่องค่าจ้างและการปิดโรงงาน ซึ่งแตกต่างจากลักษณะของขบวนการในฮ่องกงเป็นอย่างมากที่เน้นประเด็นปัญหาการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ เรามีโอกาสที่จะเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนไหวทั้งสองแนวนี้หรือไม่?

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของการต่อสู้ส่วนใหญ่ในฮ่องกง เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การเลือกตั้งทั่วไป และเสรีภาพทางการเมืองเป็นหลัก แต่ยังรวมถึงการต่อสู้ทางเศรษฐกิจในหมู่คนงานด้วย ในทางกลับกัน ระดับการต่อสู้ของคนงานในจีนแผ่นดินใหญ่ค่อนข้างสูงในช่วงนี้ เพราะด้วยกระแสของพลเมืองที่สู้ในประเด็นหลากหลายตั้งแต่การเคลื่อนไหวของนักสิทธิสตรีไปจนถึงการรณรงค์ของผู้อยู่อาศัยต่อต้านโรงงานที่ก่อมลพิษ

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 นักเคลื่อนไหวในฮ่องกงได้ให้การสนับสนุนด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน สิทธิทางเพศ LGBT+ และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในจีนมาโดยตลอด ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาขบวนการภาคประชาสังคมในจีน เสรีภาพของพลเมืองในฮ่องกงช่วยเผยแพร่วรรณกรรมสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมไปยังจีน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางปัญญาระหว่างนักเคลื่อนไหวชาวจีนแผ่นดินใหญ่และชาวฮ่องกง และสร้างความสมานฉันท์กับขบวนการต่อต้านในจีนแผ่นดินใหญ่ หนังสือหลายเล่มที่พิมพ์ได้เฉพาะในฮ่องกงถูกนำเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งงานเขียนของนักเขียนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม การถกเถียงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมก็ถูกปิดกั้นมากขึ้นในฮ่องกงเช่นกัน ด้วยการควบคุมของรัฐบาลกลางที่เพิ่มมากขึ้นและการยุบเลิกองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานจำนวนมาก บทบาทส่งเสริมสิทธิแรงงานถูกบ่อนทำลายอย่างรุนแรง ไม่น่าจะฟื้นตัวเร็วๆ นี้และอาจแย่ลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ยังมีที่ว่างให้นักเคลื่อนไหวจากทั้งสองฝ่ายได้รวบรวมประสบการณ์ในทศวรรษที่ผ่านมา และสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการวิเคราะห์ เพื่อให้แน่ใจว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตและพัฒนาอย่างเข้มแข็ง นักสังคมนิยมจากนี้ไปจึงจำเป็นต้องทำงานเพื่อให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว

นักสังคมนิยมปฏิวัติจะสนับสนุนฮ่องกงอย่างไร?

ในฐานะเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของจีนและบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจจีนอย่างสูง อนาคตของฮ่องกงจึงมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับอนาคตของจีนโดยรวม อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อระบอบประชาธิปไตยในฮ่องกงคือรัฐบาลปักกิ่ง ดังนั้น การปกครองตนเองแบบประชาธิปไตยในฮ่องกงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราพยายามทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนทำงานในจีน ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่และอำนาจการต่อรองของชนชั้นแรงงาน นี่คือเหตุผลที่นักสังคมนิยมปฏิวัติไม่เห็นด้วยกับการเป็นเอกราชของฮ่องกงเป็นเป้าหมาย มีเพียงการส่งเสริมการต่อสู้ดิ้นรนของคนงานและการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก้าวหน้า เช่น ขบวนการสิทธิสตรีในจีน เท่านั้นที่เราจะสามารถเปลี่ยนระบบทุนนิยมแบบข้าราชการที่ครอบงำจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงได้ อีกทั้งในความเป็นจริง การสนับสนุนเอกราชของฮ่องกงไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนทำงานในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ แต่กลับเป็นการเอื้อให้กับกลุ่มต่างๆ ที่พยายามจะแบ่งแยกผู้อยู่อาศัยในฮ่องกงออกจากชาวจีน และบิดเบือนความต้องการประชาธิปไตยของชาวฮ่องกงด้วย ดังนั้น การเรียกร้องเอกราชของฮ่องกงจึงเป็นทางเลือกที่ไม่สมเหตุสมผล

นักสังคมนิยมปฏิวัติสนับสนุน “การสร้างตัวแทนของชาวฮ่องกงผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป” แต่เราไม่มีภาพลวงตาเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม เพราะเราเชื่อในประชาธิปไตยของแรงงาน ไม่ใช่นายทุน ที่ต้องเข้มแข็ง หากเกิดการต่อสู้ของมวลชนปะทุขึ้นในอนาคต แรงงานควรจัดตั้งสภาผู้แทนเพื่อดำเนินการตามเจตจำนงทางชนชั้นของตนเองและต่อต้านระบบทุนนิยม

แนวโน้มของการเคลื่อนไหวในฮ่องกงและจีนต่อไปจะเป็นอย่างไร

ความพ่ายแพ้ของการเคลื่อนไหวมักทิ้งรอยแผลเป็น หลังจากความล้มเหลวของปรากสปริงในปี 1968 และการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประเทศจีนในปี 1989 ก็เกิดกระแสตกต่ำลงหลายปี อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงแตกต่างจากจีนในปี 1989 เพราะเรายังคงรักษาเสรีภาพไว้มากพอควร ไม่มีการเซ็นเซอร์หนังสือและอินเทอร์เน็ตทั้งหมด และเรายังคงสามารถสื่อสารกันได้ การสอดแนมความมั่นคงแห่งชาติไม่ได้รุนแรงเหมือนในจีนแผ่นดินใหญ่ หรือในไต้หวันในช่วงที่พรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋งใช้กฎอัยการศึกช่วงปี 1949 – 1987

บางคนโต้แย้งว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ล้มเหลวจะทิ้งความทรงจำเพียงเล็กน้อย และการเคลื่อนไหวในอนาคตจะพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ก่อนหน้านี้ นี่เป็นการประเมินในแง่ร้ายเกินไป แม้แต่ในจีนแผ่นดินใหญ่ก็เป็นเรื่องปกติที่คนหนุ่มสาวจะฝ่าฝืนข้อจำกัดบนอินเทอร์เน็ตและแสวงหาข้อมูลที่มีค่า

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ครั้งก่อนก็น่าจะยาวนาน จีนขาดขบวนการมวลชนที่เข้มแข็งมาตั้งแต่ปี 1989 แต่การต่อสู้ของคนงานและชาวนาเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งตั้งแต่กลางทศวรรษ 90 เป็นต้นมา และหลังจาก Prague Spring ในปี 1968 ก็เกิดขบวนการธรรมนูญ 77 ในเชคโกสโลวะเกียปี 1977

อนาคตของประชาธิปไตยในฮ่องกงนั้นขึ้นอยู่กับว่า มีวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมในจีนแผ่นดินใหญ่หรือไม่ หากการปกครองแบบข้าราชการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงแข็งแกร่ง ฮ่องกงจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากยิ่งกว่าในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมโลกกำลังประสบปัญหาอย่างลึกซึ้ง และวิกฤตของจีนกำลังก่อตัว จีนได้กลายเป็นรัฐจักรวรรดินิยมตามคำจำกัดความของลัทธิมาร์กซ์คลาสสิกซึ่งมีพื้นฐานมาจาก “ทุนผูกขาด” ลักษณะทางชนชั้นของรัฐจีนไม่ได้แตกต่างจากรัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกโดยพื้นฐาน ลักษณะเด่นของจีนคือเป็นทุนนิยมข้าราชการ นี่คือรูปแบบของระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งเราสามารถเรียกอีกอย่างว่าทุนนิยมโดยรัฐ-พรรคคอมมิวนิสต์จีน รูปแบบของรัฐนี้เอื้อให้เกิดการทุจริตและการจัดสรรทรัพยากรของรัฐโดยระบบราชการ แต่ยังช่วยให้สามารถควบคุมเศรษฐกิจได้มากกว่าปกติภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ อย่างไรก็ตาม โมเดลนี้มีประโยชน์เฉพาะกับข้าราชการและนายทุนเท่านั้น แต่เอารัดเอาเปรียบและกดขี่คนทำงาน ในระดับสากล จีนไม่ได้เป็นตัวแทนของการต่อต้านจักรวรรดินิยมอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นคู่แข่งระหว่างประเทศที่พัฒนาช้าแต่ทรงอิทธิพล ปัจจุบันจีนกำลังกลายเป็นเจ้าโลกในระดับภูมิภาคในเอเชียผ่านการส่งออกเงินทุน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และขยายกำลังทหารด้วย

ความน่าสะพรึงกลัวของสังคมทุนนิยมทั้งหมดเกิดขึ้นในจีนโดยเฉพาะ ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานในจีนลดลงอย่างมากตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 ถึงปลายทศวรรษ 2000 ในปี 2020 นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่าจีนมีคน 600 ล้านคนที่มีรายได้ต่อเดือนเพียง 1,000 หยวน (156 ดอลลาร์สหรัฐ) นั่นคือมากกว่าร้อยละ 40 ของประชากรจีน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมกำลังรุนแรงขึ้น การเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมจึงกำลังเข้มแข็ง

ในการผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ สิทธิและเสรีภาพของฮ่องกงที่เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่กำลังถูกทำลายในแง่นี้ชาวฮ่องกงและจีนจึงกลายเป็นชุมชนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน การต่อสู้กับระบบทุนนิยมแบบเผด็จการในฮ่องกงเป็นส่วนสำคัญของการต่อต้านทุนนิยมโดยรัฐ-พรรคคอมมิวนิสต์จีน พันธมิตรของเราควรเป็นประชาชนของทุกประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่

แปลและเรียบเรียงจาก : Lam Chi Leung. (นักสังคมนิยม) (10 มกราคม 2022). Interview: after the Hong Kong rebellion. International Socialism, Issue 173.

******************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com