โดย สหายกลั่น
ในการต่อสู้ครั้งที่ผ่านมา เราจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการที่บุคคลหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะมีบทสนทนาเหล่านี้ แต่สิ่งหนึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนคือความเชื่อที่ว่าอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้นอยู่กับคนๆ เดียว ซึ่งการคิดแบบนี้อาจจะเป็นการมองข้ามหรือปล่อยให้กองทัพ นายทุน และตัวแสดงอื่นๆ ลอยนวล
ชนชั้นปกครองไทยจะมีลักษณะเป็นเครือข่ายที่ครองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มต่างๆ เช่น ทหาร ข้าราชการระดับสูง นายทุน เป็นต้น เครือข่ายดังกล่าวมีวัฒนธรรมคอกหมูมาแต่เดิม นั่นคือการที่แต่ละกลุ่มร่วมกันกินหรือผลัดกันกินผลผลิตที่มาจากการทำงานของคนทำงานนับล้าน ชนชั้นปกครองไทยชื่นชอบรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอที่ไม่มีนโยบายเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะกองทัพ นายทุนและพวกเจ้าพ่อจะสามารถเข้าชิงเก้าอี้รัฐมนตรี ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันคอร์รัปชั่น เอาสัมปทานหรือกินงบประมาณ การกระทำลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงก่อนรัฐบาลไทยรักไทย และในปัจจุบันภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ก็ยังเห็นได้ชัดจากการที่แต่พรรคกำลังแข่งกันเตรียมชิงเก้าอี้รัฐมนตรีและเตรียมจัดตั้งรัฐบาลของกลุ่มของตัวเอง
แต่จากประสบการณ์ของเราที่ผ่านมา กองทัพมีบทบาทหลักในการทำลายประชาธิปไตยเนื่องจากกองทัพผูกขาดการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธสงครามไว้ เราจะเห็นได้ชัดในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังจะเบ่งบานซึ่งทำให้กองทัพ นายทุน และนักการเมือง เจ้าพ่อเสีย ผลประโยชน์ไปให้กับประชาชนคนส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดการรัฐประหารและการปราบปรามประชาชนดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภา 35 และขบวนการคนเสื้อแดงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วัตถุประสงค์หลักของกองทัพคือควบคุมและปราบปรามประชาชน รองลงมาคือการสร้างความร่ำรวยให้กับพวกนายพล ถึงแม้ว่ากองทัพไทยจะมีอำนาจแต่ก็ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไข 3 ประการคือ 1. อำนาจของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (กลุ่มพันธมิตรฯ, บรรดา NGO , นักวิชาการฝ่ายขวา, กลุ่มพุทธขวาตกขอบ, ผู้นำแรงงานบางส่วน, กลุ่มที่อ้างว่ามาจากภาคประชาสังคม; กป.พอช. ฯลฯ) 2. อำนาจของกลุ่มอื่นๆ ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง (นายทุน, ข้าราชการระดับสูง, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ) 3. การที่กองทัพแบ่งเป็นพรรคพวกที่แข่งกันเองอยู่เสมอ
แล้วทำไมเราถึงเชื่อว่าคนๆ เดียวมีอำนาจสูงสุด? มันไม่ต่างจากคำถามที่ว่าทำไมคนถึงเชื่อกันว่า “ตลาด” มีพลังหรือชีวิตของมันเองเหนือเรา ทั้งๆ ที่ตลาดเป็นแค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น? หรือความเชื่อที่ว่า “เงิน” มีค่าในตัวมันเองทั้งๆ ที่มันเป็นแค่ตัวแทนของมูลค่า ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “สภาวะแปลกแยก” (Alienation) คือแปลกแยกจากความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี และแปลกแยกจากความจริง นักมาร์คซิสต์ จอร์ช ลูคัสส์ และ คาร์ล มาร์คซ์ ได้อธิบายว่ามนุษย์เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง เชื่อแบบกลับหัวกลับหางในกรณีที่มนุษย์ขาดความมั่นใจ มันไม่ใช่เรื่องความโง่หรือการขาดการศึกษาเลย มันเป็นเรื่องผลของอำนาจต่อความมั่นใจของเราทั้งสิ้น เช่น การที่เราต้องยอมจำนนไปทำงานให้นายทุน หรือต้องก้มหัวให้อำนาจรัฐ มีผลในการกล่อมเกลาให้เรามองว่าตัวเราเองไร้ค่ากว่าพวก “ผู้ใหญ่” หรือนายทุน เราเลยเชื่อพวกนั้นง่ายขึ้น เพื่อไม่ให้คนเห็นว่าอำนาจจริงอยู่ที่ทหารและนักธุรกิจ
*****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6