โดย พัชณีย์ คำหนัก
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เว้นวรรคมาค่อนข้างนานนับตั้งแต่การปกครองของเผด็จการทหารจนได้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคพลังประชารัฐ และอยู่ในบรรยากาศการต่อสู้ทางการเมือง ที่กรุงเทพฯ ยังคงเป็นสมรภูมิหลักของการต่อต้านเผด็จการ/รัฐประหาร เพราะเป็นแหล่งรวมศูนย์อำนาจการปกครองของรัฐไทยทับซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ช่วงชิงแข่งขันทางความคิดการเมืองกันอย่างไร
ในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผู้สมัครชิงตำแหน่งมีทั้งที่มาจากพรรคการเมืองระดับชาติและอิสระ สำหรับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้สมัครอิสระ เสนอ “กรุงเทพฯ 9 ดี 200 นโยบาย” ซึ่งทำการศึกษาก่อนหน้า ได้แก่ ปลอดภัยดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เรียนดี บริหารจัดการดี เดินทางดี โครงสร้างผังเมืองดี เศรษฐกิจดี และสร้างสรรค์ดี เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยมีทีมงานเครือข่ายสนับสนุนเขานับพันคน แต่การไม่สังกัดพรรค ซึ่งเดิมคือพรรคเพื่อไทย เขาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า การทำงาน กทม.ไม่ควรเป็นงานที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เพราะเป็นงานพัฒนาการเมืองที่ต้องร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกคนในหน่วยงาน เช่น สมาชิกสภากรุงเทพฯ ผอ.เขต ข้าราชการ กทม. กระทรวงมหาดไทย ชุมชุน เพื่อรับใช้ทุกคน และยังมองว่าคน กทม.เบื่อความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ (ที่พรรคเพื่อไทยยังเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลและมวลชนฝ่ายขวา)
ในขณะที่ผู้สมัครบางส่วนมาจากพรรคการเมือง เช่น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ชู 12 นโยบายที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองที่เท่ากัน คือ กระจายความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการเดินทาง สร้างสังคมเมืองที่เป็นธรรม ซึ่งนำเสนอการเมืองของพรรคอย่างชัดเจน หวังสร้างคะแนนนิยมกับคนรุ่นใหม่กว่า 2 ล้านคน หรือสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอนโยบาย “เปลี่ยนกรุงเทพฯ #เราทำได้” เสนอสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตคนกรุงเทพฯ และเปลี่ยนเมือง หยุดปัญหาซ้ำซาก ซึ่งมาพร้อมทีมผู้สมัคร ส.ก. 50 คน โดยมั่นใจอิทธิพลเดิมเพื่อรักษาฐานเสียงของพรรคด้วย
ในขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นผู้ว่าฯ เมื่อปี 2559 ดำรงตำแหน่งจนถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และลาออกเพื่อลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ เขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ชูนโยบายให้ชาวกรุงเทพฯ “ปลอดภัย สงบสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ทั้งยังมีพล.ต.ท. ชาญเทพ เสสะเวช เลขาธิการพรรคไทยภักดี ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. สนับสนุน ซึ่งมองว่าการเมืองท้องถิ่นจะต้องสอดคล้องไปกับการเมืองระดับชาติ หากเดินตามแนวนโยบายของรัฐบาล ก็น่าจะได้รับความนิยมจากคนที่สนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา
ความคิดทางการเมืองของชัชชาติที่อ้างว่าคนกรุงเทพฯ มองการเมืองภาพใหญ่น่าเบื่อจนสำนักข่าวบางแห่งจั่วหัวว่า เขาเป็นอิสระจริงๆ ไม่ใช่หุ่นเชิดพรรคการเมือง สะท้อนว่า การสนับสนุนจากพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทยเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ ทั้งๆ ที่ผู้สมัครรายอื่นได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผย คำถามคือ มันมีประโยชน์จริงหรือที่อ้างเช่นนั้น และไม่เชื่อมโยงการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ ทั้งที่การบริหาร กทม.ก่อปัญหามากมาย ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการมีหน่วยงานของรัฐระดับชาติ เช่น กระทรวงมหาดไทย ทำงานทับซ้อนและอยู่เหนือผู้ว่าฯ กทม. และลดทอนอำนาจประชาชนในการเลือกตั้ง ตรวจสอบและมีส่วนร่วมในการบริหาร กทม. นั่นเพราะมีโครงสร้างการปกครองที่ช่วงชิงกันระหว่างแนวคิดแต่งตั้ง (รวบอำนาจให้แก่ข้าราชการ เช่นผู้อำนวยการเขต) กับแนวคิดเลือกตั้ง (กระจายอำนาจสู่ประชาชน เช่น ผู้ว่าฯ สก. สข.) เมื่อรวบอำนาจมากก็สร้างความขัดแย้งกับประชาชน เอื้อประโยชน์แก่นายทุนผู้ประกอบการ ดังคดีป้าทุบรถที่จอดขวางทางเข้า-ออกบ้านในหมู่บ้านเสรีวิลล่า สวนหลวง ร.9 คัดค้านการสร้างตลาดในเขตที่อยู่อาศัย
ฉะนั้น นโยบายที่ดีๆ ของชัชชาติจะเป็นไปได้เพียงใดหากไม่ชนกับอำนาจส่วนกลาง เช่น การขนส่งสาธารณะในราคาถูก กับการปรับปรุงสภาพรถและการบริการให้มีคุณภาพ เพราะตลอด 20 ปีที่ผู้เขียนใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เห็นรถโดยสารที่ผุพัง คุณภาพการบริการที่ย่ำแย่ ขับไว เปิดประตูทิ้งไว้ เกิดอุบัติเหตุกับผู้โดยสาร ราคาสูงขึ้น ไม่มีทีท่าจะถูกลง ปัญหามลพิษ ฝุ่นควันที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในหน่วยงานของรัฐอื่นเช่นเดียวกับปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งจนถึงป่านนี้ก็ไม่ดีขึ้น แม้มีรถไฟฟ้าก็ตาม กระนั้นค่ารถไฟฟ้าก็แพงมาก ผู้มีรายได้น้อยจึงยังต้องใช้รถเมล์ ผู้เขียนมองว่าหน่วยงานรัฐไม่เห็นหัวประชาชนคนธรรมดา เพราะผู้บริหารหน่วยงานรัฐไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ถูกตรวจสอบจากประชาชน แล้วผู้ว่าฯ กทม.จะทำอย่างไร จะใช้อำนาจต่อรองจากไหน จากฐานเสียงประชาชนหรือพรรคการเมืองระดับชาติ หรือขบวนการภาคประชาชน?
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างอำนาจที่ชัชชาติต้องแตะ รื้อถอน หรือปรับโครงสร้าง เปิดพื้นที่สร้างกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ตรวจสอบการคอรัปชั่น เลือกตั้ง เช่นผู้อำนวยการเขต เอาอำนาจการบริหารเมืองจากหน่วยงานรัฐมาเป็นของท้องถิ่น สนับสนุนการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรของประชาชนเพื่อเป็นปากเสียงให้แก่กลุ่ม/ชุมชนของตนเอง ให้มีอำนาจต่อรองกับราชการที่ฝักใฝ่เผด็จการ เข้าข้างรัฐบาล ชนชั้นนายทุน เราคงไม่สามารถอาศัยแค่การเลือกตั้ง แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้บริหารและข้าราชการ กทม.เท่านั้น เพราะครรลองของการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นก็ไม่ต่างจากการเมืองภาพใหญ่
**************************************
**ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6