Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ไม่มีผู้ว่าฯ ของคนจน ชนชั้นกรรมาชีพ

โดย วัฒนะ วรรณ

ใครบอกว่าเป็นผู้ว่าของคนทุกคน คนๆ นั้นเริ่มต้นก็โกหกเสียแล้ว ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งพบเห็นความเหลื่อมล้ำแหล่านี้ได้ทั่วไป เริ่มตั้งแต่การเดินทาง ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การรักษาพยาบาล ฯลฯ นั่นหมายความ การเป็นผู้ว่าของคนทุกคน เท่ากับบอกว่าจะคงสภาพความเหลื่อมล้ำเช่นเดิมไว้ต่อไป

ผู้ว่าของคนจน กรรมาชีพ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพ ควรมีหน้าตาอย่างไร สามารถพิจารณาได้จากนโยบายรูปธรรม ว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยหรือไม่ ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชั้นล่าง คนจน กรรมาชีพ ให้สูงขึ้นหรือไม่

เริ่มต้นควรลด “เงินเดือน” ผู้บริหารกรุงเทพฯ ให้เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยของสังคม เพื่อพิสูจน์ว่าจะไม่มีอภิสิทธิ์ชนในคณะบริหาร และร่วมชะตากรรมเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ แน่นอนงานที่เกี่ยงข้องกับการบริหารรัฐที่ต้องมีค่าใช้ รัฐสามารถจ่ายได้ตามจริงอยู่แล้ว

ปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของคนกรุงเทพคือ ที่อยู่อาศัยมีราคาแพง ที่เกิดจากการเก็งกำไรของบริษัทต่างๆ และคนร่ำรวย ผู้ว่าต้องสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก และคุณภาพดีใกล้ที่ทำงาน ไม่ใช่ทำแบบการเคหะ หรือบ้านเอื้ออาทร ที่ไปสร้างในที่ห่างไกล และคุณภาพแย่ โดยต้องเก็บภาษีสูง “พิเศษ” สำหรับที่พักที่ไม่ได้อยู่อาศัยจริง เพื่อลดการเก็งกำไรด้วย

ขนส่งสาธารณะ คุณภาพดี ติดแอร์ และฟรี สำหรับทุกคน “ทำไมต้องเก็บค่าโดยสาร” การเดินทางไปทำงานของกรรมาชีพ เป็นการเพิ่มผลผลิตให้กับสังคม ไม่มีใครนั่งเล่นๆ ทุกๆ วัน โดยไม่ทำประโยชน์ ฉะนั้นไม่ควรผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางให้กับกรรมาชีพ แต่ควรไปเก็บค่าใช้จ่ายเหล่านี้จากบริษัทต่างๆ เพิ่ม เพราะได้กำไรจากการทำงานของกรรมาชีพ

สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงชักผ้า โรงอาหาร ฟรี เพื่อแบ่งเบาภาระงานบ้านสำหรับครอบครัวและแม่ ภาระงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานสร้างมูลค่าให้กับสังคม แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง หลังจากกรรมาชีพทำงานมาเหน็ดเหนื่อยซึ่งควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ งานบ้านหลายๆ อย่างรัฐควรต้องรับผิดชอบ และบริษัทต่างๆ ควรลดกำไร นำเงินมาสนับสนุนภาระงานเหล่านี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่สร้างกำไรให้บริษัท ผ่านการจ่ายภาษีเพิ่ม

บ้านพักคนชรา คุณภาพดี เพียงพอ ใกล้เมือง ฟรี และเงินเดือนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยของสังคม คนชราคือคนหนุ่มสาวในอดีต พวกเขาไม่ได้เป็นภาระในสังคม แต่เป็นผู้สร้างสังคมปัจจุบันสำหรับคนรุ่นต่อๆ มา บุคคลเหล่านี้คือผู้มีพระคุณสำหรับสังคม บ้านพักคนชราจึงควรอยู่ในเมือง ใกล้สภาพแวดล้อมเดิมของเขา ใกล้ลูกหลานที่จะมาเยี่ยมเยือน ไม่ควรแยกออกมาโดดเดียว อาจจะอยู่บริเวณเดียวกับหอพักนักศึกษา หรือบ้านพักของคนทำงาน

หมุนเวียนอาชีพ ไม่ควรมีใครต้องทำงานสกปรกและหนักตลอดชีวิต พนักงานเก็บขยะ กวาดถนน เป็นงานที่หนัก และสกปรก ค่าจ้างต่ำ แต่เป็นงานที่สำคัญในสังคม งานหนักและสกปรกควรได้รับค่าจ้างที่สูงพิเศษ และไม่ควรต้องมีใครทำงานเหล่านี้ตลอดชีวิต ควรมีการหมุนเวียนการทำงาน ในสัดส่วนที่ไม่หนักเกินไป เช่นในแต่ละเดือนอาจจะทำงานแหล่านี้ต่อเนื่องไม่เกิน 2 สัปดาห์เป็นต้น หลังจากนั้นก็ไปทำงานอย่างอื่นที่เบากว่าแทน

กรุงเทพสร้างจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนทำงาน กรรมาชีพ ทุกสาขา ตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยแรงงานจีนอพยบ สร้างอุตสาหกรรมด้วยคนหนุ่มสาวจากภาคกลาง ขยายอุตสาหกรรมด้วยกำลังแรงงานจากภาคอีสาน คนเหล่านี้ได้ประโยชน์อย่างไรบ้างในความเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ

ถ้าไม่มีผู้ว่าของเราให้เลือก ก็ไม่ต้องเลือกใคร…. กรรมาชีพจงเจริญ ผู้ว่าต้องเป็นผู้แทนของกรรมาชีพ

*********************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com