โดย C. H.
มนุษย์เริ่มต้นจากการวิวัฒนาการมาจากลิงในอัฟริกาเมื่อประมาณ 150,000 ปีมาแล้ว สังคมมนุษย์ในยุคบุพกาล เป็นสังคมของคนที่เก็บของป่าและล่าสัตว์ มนุษย์อยู่ในกลุ่มเล็กๆ ในลักษณะเครือญาติ ทรัพยากรทุกอย่างเป็นของกลางหมด มีการแบ่งกันอย่างเท่าเทียม มีการร่วมมือกันในกิจกรรมต่างๆ ในสังคมบุพกาลนี้ ชีวิตมนุษย์มีข้อดีตรงที่ไม่มีการแบ่งชนชั้น ไม่มีผู้ปกครอง และไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างชายกับหญิง แต่ข้อเสียคือถ้าภูมิอากาศหรือธรรมชาติเปลี่ยนไป มนุษย์จะอยู่อย่างยากลำบาก เพราะไม่มีส่วนเกิน
มนุษย์อยู่กันทั่วโลกในสภาพแบบนี้ประมาณ 140,000 ปี คือ ประมาณ 90% ของประวัติศาสตร์มนุษย์ ข้อมูลนี้สำคัญ เพราะพวกที่สนับสนุนระบบชนชั้น การขูดรีด ความเหลื่อมล้ำ หรือทุนนิยม มักพยายามอ้างว่า “ธรรมชาติมนุษย์” เป็นธรรมชาติของการแย่งชิงและการแข่งขัน แต่ถ้า 90% ของประวัติศาสตร์เป็นยุคของความเท่าเทียมและการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์ มันจะเป็นอย่างที่พวกนั้นอ้างไม่ได้
เมื่อ 10,000 ปีก่อนยุคปัจจุบัน มนุษย์เริ่มใช้ระบบเกษตรพื้นฐาน แต่ในไม่ช้าวิถีชิวิตแบบเก่าเริ่มยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ มนุษย์กลุ่มต่างๆ ต้องเลือกระหว่างการอยู่แบบเดิมโดยใช้เกษตรพื้นฐานที่ไม่แน่นอน หรือเลือกเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ กลุ่มที่เลือกพัฒนาเทคโนโลยีเริ่มใช้สัตว์ลากไถ และใช้ปุ๋ยจากขี้สัตว์ เพื่อเพิ่มผลผลิตแต่ผลพวงที่ตามมาคือสังคมชนชั้น
การเพิ่มผลผลิตทำให้ชีวิตมีความมั่นคงมากขึ้น ความสลับสับซ้อนของสังคมและการแบ่งงานกันทำมีผลในการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนและมีคนประเภทหนึ่งปรากฏตัวขึ้นมา คือพวกที่มีหน้าที่ “ควบคุม” ระบบเก็บอาหารเพื่อความมั่นคงของสังคม และเมื่อประมาณ 5000 ปีมาแล้ว มีการเริ่มเขียนถึง “ทาส” มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นระหว่างคน และมีการบังคับชาวบ้านทำงานเป็นบางเวลา
คำถามที่สำคัญคือ “มนุษย์ที่เคยเท่าเทียมกันมาก่อนเป็นเวลาแสนปีทนสภาพเช่นนี้ได้อย่างไร?” คำตอบคือ กลุ่มต่างๆ ต้องเลือกเอาว่าจะเดินหน้าพัฒนาการผลิตในบริบทของสังคมยุคนั้น หรือจะถอยหลังไปอยู่อย่างยากลำบาก แต่เราไม่ควรลืมว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในสังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ และในยุคปัจจุบันเราสามารถพูดได้ว่าเทคโนโลยีเจริญเติบโตพอที่จะยกเลิกระบบชนชั้นได้
****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6