โดย สหายเข็มหมุด
ผู้เขียนศึกษาจากวิทยานิพนธ์อาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เรื่องภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง: ศึกษากรณีชุมชนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (อุ้มผาง จ.ตาก/สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี)
วิทยานิพนธ์เล่มนี้จะพาไปทำความเข้าใจว่า ทำไมรัฐกับชาวกะเหรี่ยงถึงมีความขัดแย้งกัน มโนทัศน์การมองโลกที่แตกต่างของทั้งสองฝ่าย และพาเราไปทุบทำลายมายาคติต่อชาวกะเหรี่ยงที่รับรู้มาจากกระแสหลัก เช่นว่าการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงนั้นทำลายป่า ชาวกะเหรี่ยงบุกรุกป่า ชอบตัดฟัน โค่น เผาป่า อยู่ไม่มีหลักแหล่ง เป็นต้น โดยอาจารย์ปิ่นแก้วทำวิทยานิพนธ์นี้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ที่โดนบังคับอพยพออกจากป่าช่วงนั้น ผู้เขียนได้อ่านและเห็นว่ามีประโยชน์จึงนำมาเล่าแบ่งบัน
ก่อนที่ผู้เขียนจะโต้แย้งเรื่องการทำลายป่า อยากให้ผู้อ่านทำความเข้าใจก่อนว่า ในมโนทัศน์ชาวกะเหรี่ยงนั้นไม่ได้แยกธรรมชาติ จากสิ่งคุ้มครองธรรมชาติ ขยายความคือ ธรรมชาติไม่ใช่แค่วัตถุทางกายภาพเท่านั้น แต่มีจิตวิญญาณอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ดิน น้ำ สัตว์ป่า ก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแลรักษาทั้งหมด ผืนดินมีซ่งทะรี (พระแม่ธรณี) เป็นเจ้าของ ซึ่งมนุษย์ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะแสดงความเป็นเจ้าของในที่ดิน เพราะมนุษย์ไม่ได้เป็นคนสร้างสิ่งพวกนี้ขึ้นมา ในเมื่อไม่ได้เป็นคนสร้างและสร้างเองไม่ได้ด้วย ธรรมชาติจึงไม่ใช่ของเรา จะครอบครองธรรมชาติเป็นสมบัติตัวเองก็ไม่ได้ แค่มาขอใช้พื้นที่เพื่อมีชีวิตรอดเท่านั้น ชาวกะเหรี่ยงมองว่ามนุษย์ตัวเปล่า ไม่มีอำนาจอะไร เพราะฉะนั้นจึงเกิดหลากหลายพิธีกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติ เช่น เวลาจะเลือกที่ทำไร่ข้าวจะต้องขออนุญาตซ่งทะรีก่อน การสร้างบ้านต้องอธิษฐานบอกซ่งทะรีก่อน การเลี้ยงขอบคุณพิบุ๊โย (แม่โพสพ) พิธีขอขมาโพ่โตกุ๊(คล้ายกับลอยกระทงของไทย) เป็นต้น
ไร่หมุนเวียน (Cyclical bush fallow system or field rotation) ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย คนชอบเข้าใจผิด เพราะไร่เลื่อนลอยนั้นทำลายป่าจริงๆ สิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงทำคือ ระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งตามงานวิจัยหรือในการปฎิบัติจริงถือเป็นเกษตรที่ยั่งยืนที่สุด ไม่มีการใช้ปุ๋ยปรับปรุงดิน เพราะการทิ้งไว้ให้เป็นไร่ซาก ธรรมชาติจะสร้างความสมบูรณ์ของดินให้กลับมาเอง นอกจากนั้นช่วยให้มีการรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้หลายสิบชนิด เฉพาะที่หมู่บ้านสะเนพ่องแห่งเดียว ผู้ช่วยผู้ใหญ่เคยบอกว่า ถ้าจะรวมพันธุ์ข้าวทั้งหมดที่นี่ ก็จะได้ประมาณ50ชนิด โดยการทำไร่หมุนเวียน เป็นการใช้ที่ดินในระยะเวลาอันสั้น ทิ้งให้ป่ามีการฟื้นตัวในระยะเวลานาน แล้วป่าเบญจพรรณที่ชาวกะเหรี่ยงอยู่นั้น ฟื้นตัวเร็ว ทำให้ชาวกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานได้ถาวร
ข้อโต้แย้งสำหรับเรื่องทำลายป่า และการถางป่าใหม่ คือจะดูว่าทำลายป่าหรือไม่ จะใช้มโนทัศน์แบบการทำไร่เกษตรที่ราบลุ่มภาคกลางไม่ได้ เพราะที่ดินที่ชาวกะเหรี่ยงทำอยู่นั้นเคยผ่านการทำไร่มาแล้ว ไม่ใช่ป่า หากแต่เป็นไร่ซากที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และการที่มีปริมาณไร่ซากอยู่หลายบริเวณกว้างขวางนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะแสดงให้เห็นว่า ระบบการทำไร่นั้นมีการหมุนเวียนการใช้ที่ดินอย่างเพียงพอ ในขณะที่การทำไร่เป็นหลักแหล่ง เช่น การทำนาแบบเกษตรที่ราบลุ่มภาคกลางนั้นหมายถึง หมุนเวียนในที่จำกัด เพียงแค่สองสามแปลง เพื่อเป็นการใช้ที่ดินให้น้อยที่สุด และควบคุมได้ง่าย ตามนโยบายของราชการนั้น ในทัศนะของชาวกะเหรี่ยงแล้ว เป็นการทำให้ป่ากลายเป็นทุ่งหญ้าคาโดยแท้ เพราะว่าเท่ากับเป็นการตัดตอนระยะเวลา การฟื้นสภาพของป่าให้สั้นลง ทำให้ไม้ใหญ่ไม่สามารถเติบโตขึ้นได้ มีแต่เพียงพืชชั้นล่างจำพวกหญ้าเท่านั้นที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่
โดยที่ฟันทำลายนั้นคือฟันคึ๊ย (ไร่ข้าว) ซึ่งเป็นพื้นที่ทำไร่ปล่อยทิ้งมา 7 ปีขึ้นไป เป็นที่ๆ มีคนทำไร่มาก่อนแล้ว และไม่เคยถางป่าใหม่เลย เพราะมีคึ๊ยพอจนไม่มีจำเป็นต้องไปฟันเมละ(ป่า) แล้วป่าดงดิบชาวกะเหรี่ยงไม่ได้ให้คุณค่าสูงสุดแบบที่คนเมืองคิด ชาวกะเหรี่ยงชอบป่าไผ่ เพราะเป็นป่าที่เหมาะสมกับการทำไร่มากที่สุด และสิ่งสำคัญสำหรับชาวกะเหรี่ยงคือ ‘ข้าว’ ในขณะที่ป่าดงดิบ ฟื้นตัวได้ไม่เร็ว มีต้นไม้ใหญ่มากเกินไป เนื้อที่ปลูกข้าวน้อย ธาตุอาหารมากเกิน และอยู่ไกลจากหมู่บ้านเลยไม่เหมาะสมกับการทำไร่
สรุปแล้วการพยายามควบคุมให้คนกะเหรี่ยงทำมาหากินให้เป็นหลักแหล่งหรืออยู่กับที่ และมายาคติเรื่องการเปิดป่าใหม่ ทำลายป่า สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในระบบไร่หมุนเวียนดังที่กล่าวมา
****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6