โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
เลนินพูดกับทรอตสกี ว่า “สำหรับคนที่เคยถูกปราบปราม เคยถูกจำคุกมานานอย่างเรา พอได้อำนาจรัฐแล้ว ก็รู้สึกเวียนหัว” จะเห็นได้ว่าในเรื่องขั้นตอนต่อไปในการสร้างสังคมนิยม เลนินก็ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นกัน
การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 เกิดขึ้นเมื่อพรรคบอลเชวิคและแนวร่วมได้รับเสียงข้างมากในสามสภาโซเวียตของ กรรมาชีพ ทหาร และชาวนา แต่พวกฝ่ายปฏิรูปทั้งหลาย เช่นพวกเมนเชวิค ไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะอยู่รอดได้นานกว่า 2-3 วัน เพราะพวกนี้ไม่เข้าใจว่ากระแสการปฏิวัติฝังลึกลงไปในมวลชนแค่ไหน
ในการประชุมผู้แทนสภาโซเวียตครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังการปฏิวัติตุลาคมหนึ่งวัน นักสังเกตการณ์จากฝ่ายที่คัดค้านพรรคบอลเชวิค เล่าให้นักข่าวอเมริกันที่ชื่อ จอห์น รีด (John Reed) ฟังอย่างดูถูกว่า “พวกผู้แทนชุดใหม่นี้ต่างจากผู้แทนชุดก่อน ดูสิ พวกนี้มันหยาบและหน้าตาโง่มาก พวกนี้เป็นคนดำๆ ทั้งนั้น” จอห์น รีด ซึ่งเป็นนักข่าวมาร์คซิสต์ อธิบายว่าข้อสังเกตนี้มีความจริงอยู่มาก “ความปั่นป่วนในสังคมที่เกิดขึ้น เสมือนเอาไม้ไปคนน้ำแกงจนส่วนล่างของสังคมขึ้นมาเป็นส่วนบน คนดำๆ ได้ตื่นตัวขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง”
ส่วนมาร์ทอฟ ผู้นำพรรคเมนเชวิคที่คัดค้านเลนิน ต้องยอมรับว่า “กรรมาชีพทั้งชนชั้นหันมาสนับสนุนเลนิน”
ในจำนวนผู้แทนทั้งหมดของสภาโซเวียต 650 คน มีตัวแทนของพรรคบอลเชวิค 390 คน และผู้แทนของ “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย” (แนวร่วมของพรรคบอลเชวิคในหมู่ชาวนายากจน) ประมาณ 160 คน ส่วนพรรคเมนเชวิค และพรรคปฏิวัติสังคมซีกขวามีผู้แทนน้อยกว่า 100 คน พวกอนาธิปไตยไม่มีอิทธิพลอะไรเลยและไม่มีบทบาทในการปฏิวัติ
กรรมการบริหารชุดแรกของสภาโซเวียต หรือ “รัฐบาลใหม่” มีผู้แทนของพรรคบอลเชวิค 14 คน พรรคปฏิวัติสังคม (ทั้งสองซีก) 7 คน และพรรคเมนเชวิค 3 คน แต่พวกเมนเชวิคและพวกปฏิวัติสังคมซีกขวาไม่ยอมทำงานร่วมกับพรรคบอลเชวิค และเดินออกจากสภา ทรอตสกีส่งท้ายการเดินออกของพวกนี้ว่า “ไปเถิด ไปลงถังขยะประวัติศาสตร์เสีย” และมวลชนที่เป็นผู้แทนคนชั้นล่างก็พากันตบมือ
มาตรการหลักของรัฐบาลปฏิวัติ
(๑) สันติภาพในสงครามโลกครั้งที่ 1 ยกเลิกการเจรจาทางการทูตแบบลับๆ กับเยอรมัน เจราจาทุกครั้งอย่างโปร่งใสต่อหน้าสาธารณชน
(๒) ยกเลิกที่ดินส่วนตัวของเจ้าที่ดิน ยกที่ดินให้ชาวนาใช้ทันทีตามความต้องการของพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการยืนยันการยึดที่ดินที่ชาวนายากจนได้กระทำไปแล้ว
(๓) ประกาศสิทธิเสรีภาพให้ประเทศเล็กๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นรัสเซีย
(๔) กรรมกรต้องควบคุมระบบการผลิตและระบบการเงิน ผ่านโครงสร้างคณะกรรมการที่ได้รับเลือกจากกรรมกรโดยตรง
(๕) ผู้แทนทุกคนในสภาคนงานถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อถ้าฝ่าฝืนมติคนส่วนใหญ่
(๖) สตรีทุกคนได้สิทธิเต็มที่ และได้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในโลก
(๗) แยกศาสนาออกจากรัฐ ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาตามใจชอบ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐ ไม่มีการสอนศาสนาในโรงเรียน
นอกจากนี้แล้วก็มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเก่าที่เลือกมาภายใต้กติกาของรัฐทุนนิยมเพื่อให้สภาโซเวียตเป็นสภาเดียวที่มีอำนาจในรัฐใหม่ สภาโซเวียตเป็นระบบที่ใช้สถานที่ทำงานเป็นเขตเลือกตั้ง
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันแรกของการทำงาน รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซีย ก้าวหน้ากว่ารัฐบาลของนักการเมืองนายทุนทุกชุด ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาของการอยู่รอด
การปฏิวัติรัสเซียเกิดขึ้นหลังการสู้รบในสงครามโลกที่สร้างความเสียหายมหาศาล นอกจากนี้รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนาอยู่แล้ว ร้ายกว่านั้น เมื่อรัฐบาลโซเวียตเจรจาสันติภาพกับกองทัพเยอรมัน รัสเซียต้องยอมเสีย 33% ของดินแดนที่ผลิตผลผลิตเกษตร 27% ของรายได้รัฐ 70% ของอุตสาหกรรมเหล็ก 70% ของแหล่งผลิตถ่านหิน และ 50% ของโรงงานอุตสาหกรรม ให้รัฐบาลเยอรมัน ในสภาพเช่นนี้ไม่น่าแปลกใจที่เลนินกล่าวว่า “เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมัน เราจะพินาศ”
สงครามกลางเมืองจากฝ่ายขวาและนโยบายเศรษฐกิจ “คอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม”
ในเดือนพฤษภาคม 1918 ประเทศทุนนิยมทั้งหลายที่กลัวการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียที่อาจแพร่ไปสู่ประเทศอื่น ได้รวมหัวกันส่งกองทัพมาปราบปรามการปฏิวัติรัสเซียถึง 14 กองทัพ นอกจากนี้ฝ่ายนายทุนรัสเซียเองก็ก่อ “กองทัพขาว” ขึ้นมาด้วย
มาตรการ “เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อการอยู่รอดของการปฏิวัติ มีการยึดโรงงานและธุรกิจต่างๆ มาเป็นของรัฐศูนย์กลาง มีการกำหนดส่วนแบ่งอาหารให้ประชาชนโดยที่ผู้ใช้แรงหนัก และทหารได้มากกว่าผู้อื่น แต่ผู้นำพรรคได้เท่ากับประชาชนธรรมดา มีการยึดผลผลิตจากชาวนาร่ำรวยที่กักอาหารไว้
ทรอตสกี อธิบายว่า “ระบบคอมมิวนิสต์แบบนี้ไม่ใช่ระบบคอมมิวนิสต์แบบอุดมคติ แต่เป็นระบบคอมมิวนิสต์ในยามวิกฤตแห่งสงคราม”
มาตรการทางทหาร ทรอตสกีได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพแดง และใช้หลายมาตรการในการต่อสู้กับกองทัพขาวและกองทัพของมหาอำนาจ จนได้รับชัยชนะ เช่น
(๑) ใช้ความคิดทางการเมืองในการนำการต่อสู้ เลนินสังเกตว่า “เราได้รับชัยชนะเพราะทหารของกองทัพแดงเข้าใจว่าเขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง กองทัพของเราเสียสละอย่างสุดยอดในการกำจัดพวกกดขี่ระยำทั้งหลาย”
(๒) ทรอตสกี ใช้ผู้นำทางการเมืองควบคู่กับผู้นำทางทหารในกองกำลังทุกกอง มีรถไฟปลุกระดมพิเศษที่เคลื่อนย้ายจากจุดต่างๆ ในสนามรบ โดยที่มีโรงพิมพ์และโรงหนังปลุกระดมกองทัพแดงและประชาชน
หลังจากที่กองทัพแดงได้รับชัยชนะ ถึงแม้ว่าปัญหาทางทหารจะลดลง แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจยิ่งทวีขึ้น เนื่องจากความเสียหายในสงครามกลางเมือง เลนิน สังเกตว่า “รัสเซียผ่านการต่อสู้มา 7 ปี เหมือนคนที่ถูกรุมซ้อมจนเกือบตาย นับว่าโชคดีที่ยังเดินด้วยไม้เท้าได้” ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเริ่มเดือดร้อนหนัก และบางส่วนแสดงความไม่พอใจในรัฐบาลบอลเชวิค
ที่ป้อม Kronstadt ทหารรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นหัวหอกการปฏิวัติเหมือนในปี 1917 เขาเป็นพวกลูกชาวนาที่เดือดร้อนจาก“เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” และได้อิทธิพลจากความคิดอนาธิปไตยด้วย พวกอนาธิปไตยที่ Kronstadt จับอาวุธเข้ากับฝ่ายกองทัพขาว กบฏต่อรัฐบาลโซเวียต และเรียกร้องให้มีรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีตัวแทนพรรคบอลเชวิค ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็เท่ากับยอมให้การปฏิวัติพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ทรอตสกีกับเลนินจึงจำเป็นต้องปราบด้วยความหนักใจ แต่ทั้งสองมองว่าเป็นคำเตือนที่ต้องฟัง
ถ้าทรอตสกีกับเลนิน ไม่นำการรบในสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายขาวและมหาอำนาจตะวันตกก่อขึ้น คำว่า “ฟาสซิสต์” จะเป็นคำภาษารัสเซียแทนภาษาอิตาลี เพราะมันจะยึดอำนาจแน่นอน
รัฐบาลบอลเชวิคเข้าใจว่าไปต่อแบบเดิมไม่ได้ จึงมีการนำนโยบายใหม่มาใช้เพื่อซื้อเวลารอการปฏิวัติในเยอรมันและประเทศอื่นๆ
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economic Policy (N.E.P.)
นโยบายเศรษฐกิจใหม่(“เน๊พ”) ที่รัฐบาลนำมาใช้ต้องถือว่าเป็นการเดินถอยหลังกลับสู่ระบบกึ่งทุนนิยม เพื่อซื้อเวลา สาเหตุหลักที่ต้องถอยหลังคือความล้มเหลวในการปฏิวัติเยอรมันปี 1918 ซึ่งมีผลให้โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เป็นผู้นำสำคัญถูกฆ่าตาย นอกจากนี้การพยายามปฏิวัติในประเทศฮังการี บัลแกเรีย และอังกฤษในช่วงนั้นไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ประเด็นสำคัญในความล้มเหลวของการปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ คือการที่ขาดพรรคปฏิวัติที่มีประสบการณ์อย่างพรรคบอลเชวิค
ประเด็นสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ มีดังนี้
(๑) ฟื้นฟูกลไกตลาดโดยปล่อยให้มีการค้าขายระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกับชาวนาในชนบท ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างชาวนาร่ำรวยกับชาวนายากจนมีมากขึ้น นอกจากนี้แล้วทำให้เกิดพวกพ่อค้ารุ่นใหม่ขึ้นที่ใครๆ เรียกว่า “พวกนายทุนเน๊พ” ซึ่งในที่สุดพวกนี้ก็เกิดความสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นของรัฐและพรรคบางคน
(๒) ยกเลิกการยึดผลผลิตเกษตรกรรม แต่เก็บภาษีแทน
(๓) มีการใช้ระบบคุมงานและกลไกตลาดในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพเสียประโยชน์
เลนิน เห็นว่านโยบายนี้จำเป็น แต่เป็นห่วงอย่างยิ่ง “นโยบายใหม่จะทำลายสังคมนิยมถ้าเราไม่ระวัง …. ใครเป็นคนกำหนดแนวทางของรัฐกันแน่? คนงาน หรือ กลุ่มผลประโยชน์?”
ในเดือน มกราคม 1924 เลนินเสียชีวิต ก่อนหน้านั้นเขาป่วยมาหลายเดือนหลังจากที่ถูกคนจากพรรคสังคมปฏิวัติลอบฆ่า เขาทำอะไรไม่ค่อยได้เพราะเป็นโรคเส้นโลหิตแตกในสมองด้วย ก่อนที่เลนินจะเสียชีวิต เขาได้เขียนบทความหลายบทความที่เตือนถึงภัยต่างๆ ที่กำลังเกิดกับการปฏิวัติกรรมาชีพในรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้คือ
(๑) นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะทำให้ทุนนิยมกลับมาได้
(๒) ปัญหากำลังเกิดขึ้นเพราะสหภาพแรงงานไม่ปกป้องผลประโยชน์ของแรงงาน
(๓) รัฐตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่ไม่ใช่แรงงานแล้ว
(๔) ผู้นำบางคน เช่น สตาลิน กำลังฟื้นฟูลัทธิชาตินิยม
(๕) เลนินเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรนำของพรรคเพื่อลดบทบาทของข้าราชการแดงลง
แต่ในช่วงนี้ เลนินไม่สามารถลงไปปลุกระดมความคิดในหมู่กรรมาชีพพื้นฐาน อย่างที่เคยทำในอดีตได้ เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอ ความคิดของเลนินจึงมีอิทธิพลน้อย
พินัยกรรมของเลนิน
“สตาลินไม่เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการของพรรคต่อไป สมาชิกพรรคควรหาทางปลดเขาออกจากตำแหน่ง” …. “สตาลินมีอำนาจมากเกินไปและผมไม่แน่ใจว่าเขาจะใช้อำนาจนี้ในทางที่ถูกหรือไม่”
ปัญหาการผูกขาดอำนาจโดยพรรคบอลเชวิค
หนึ่งปีหลังการปฏิวัติ 1917 พรรคบอลเชวิคผูกขาดอำนาจทางการเมือง สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เพราะมันไม่ใช่เป้าหมายของแกนนำพรรคบอลเชวิคแต่อย่างใด
ในช่วงปี 1917 เลนินและแกนนำพรรคบอลเชวิคย้ำอยู่เสมอว่าการปฏิวัติและการใช้อำนาจทางการเมืองต้องเป็นการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพผ่านสภาโซเวียต ไม่ใช่ว่าพรรคบอลเชวิคจะยึดอำนาจและปกครองสังคมเอง เลนินและแกนนำคนอื่นไม่เคยมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบพรรคเดียวในโซเวียต แต่สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มสร้างปัญหากับประชาธิปไตยเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองจากการส่งกองทัพมาปราบปรามการปฏิวัติถึง 14 กองทัพจากประเทศทุนนิยมรอบข้าง และการที่ฝ่ายนายทุนรัสเซียเองก่อตั้ง “กองทัพขาว” ขึ้นมา
เราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลโซเวียตที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 1917 มีความชอบธรรมในแง่ของประชาธิปไตยจากการที่รัฐบาลเกิดจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาโซเวียต
พรรคคาเด็ด (Cadet) ซึ่งเป็นพรรคของชนชั้นนายทุนที่ต่อต้านสังคมนิยม มีจุดยืนเพื่อสร้างเผด็จการของนายทุนแทนระบบกษัตริย์ และพรรคได้ประกาศว่าพร้อมจะจับอาวุธสู้กับรัฐบาลโซเวียต ส่วนพรรคปฏิวัติสังคม (SR) และเมนเชวิค ซึ่งเป็นพรรคของชนชั้นกลาง นายทุนน้อย หรือเกษตรกรรายใหญ่ มีจุดยืนไม่ชัดเจน แกว่งไปแกว่งมาแล้วแต่สถานการณ์ในสงครามกลางเมือง ซีกขวาของพรรคปฏิวัติสังคมไม่ต่างจากพรรคคาเด็ดและเข้าไปทำแนวร่วมกับคาเด็ดเพื่อจับอาวุธต้านโซเวียต ส่วนซีกกลางและซ้ายไม่ชอบพวก “ขาว” แต่ไม่เข้ากับบอลเชวิค อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเหมือนสงครามไปในทิศทางฝ่ายขาว มีบางส่วนย้ายไปสนับสนุนคาเด็ด
ในสถานการณ์สงคราม แน่นอนรัฐบาลโซเวีตต้องแบนพรรคคาเด็ดและซีกขวาของพรรคปฏิวัติสังคม
พรรคเมนเชวิคในยุคแรกๆ หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม สนับสนุนรัฐบาลโซเวียต แต่ซีกขวาบางคนมีจุดยืนคล้ายพวกคาเด็ด จริงๆ แล้วพรรคเมนเชวิคพยายามหา “แนวทางที่สาม” ที่ไม่ใช่พวกขวาจัดและพวกบอลเชวิค แต่มาร์ทอฟ ผู้นำคนหนึ่งของพรรคยอมรับว่าหาแนวที่สามไม่ได้
ในต้นปี 1919 เมื่อเกษตรกรรายใหญ่ (Kulak) ลุกขึ้นกบฏต่อรัฐบาลและกองทัพขาวดูเหมือนจะเข้มแข็งขึ้น สมาชิกของพรรคปฏิวัติสังคมและเมนเชวิคตัดสินใจสนับสนุนการจับอาวุธต่อต้านโซเวียต รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะปราบทั้งสองพรรคนี้
E.H. Carr นักประวัติศาสตร์อังกฤษที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคฝ่ายค้านทั้งหลายไม่ยอมอยู่ในกรอบกฎหมายและพร้อมจะกบฏ
พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย ซึ่งเป็นพรรคของเกษตรกรรายย่อย ได้แยกตัวออกจากพรรคปฏิวัติสังคมกลุ่มหลักนานแล้ว และได้ร่วมรัฐบาลกับบอลเชวิคโดยถือตำแหน่งรัฐมนตรี 7 ตำแหน่งในขณะที่บอลเชวิคมี 11 ตำแหน่ง
แต่ในเดือนมีนาคมปี 1918 พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้ายลาออกจากรัฐบาล สาเหตุเพราะไม่พอใจกับข้อตกลงสันติภาพกับเยอรมัน ต้องการทำสงครามต่อ ไม่พอใจที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานของเกษตรกรยากจนในชนบท และไม่พอใจที่มีการส่งทีมกรรมาชีพไปในชนบทเพื่อยึดอาหารที่ขาดแคลนในเมืองและในกองทัพแดง บางส่วนของพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้ายใช้วิธีก่อการร้ายเพื่อต่อต้านบอลเชวิคด้วย แต่อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้
พวกอนาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับพรรคบอลเชวิคและรัฐบาลโซเวียต แต่มองว่าฝ่ายขาวน่ากลัวกว่า จึงแตกแยกและถกเถียงกันหนัก ส่วนใหญ่เลือกที่จะสนับสนุนรัฐบาลภายใต้คำวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงนั้น
ในที่สุดโซเวียตและสังคมรัสเซียอยู่ภายใต้อำนาจผูกขาดของพรรคบอลเชวิค ซึ่งแกนนำพรรคมองว่าเป็นมาตรการชั่วคราวที่มีข้อเสียแต่จำเป็น ถ้าบวกกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ และการที่กรรมาชีพตกงาน ย้ายกลับไปชนบท หรือล้มตายอันเนื่องจากการเป็นแกนนำในการสู้รบกับฝ่ายขาว เราจะเห็นว่ามันนำไปสู่สภาพที่รัฐบาลพรรคบอลเชวิคปกครองในนามของชนชั้นกรรมาชีพ แทนที่กรรมาชีพจะเป็นอำนาจปกครองหลัก เลนินเตือนว่ารัฐบาลลอยอยู่เหนือชนชั้นกรรมาชีพที่หมดสภาพชั่วคราว แต่ทุกคนหวังว่าการปฏิวัติในเยอรมันจะมาช่วยแก้สถานการณ์ให้ภายในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติเยอรมันล้มเหลวในปี 1923 เพราะพรรคปฏิวัติเยอรมันต่างจากบอลเชวิคเพราะพึ่งแยกออกจากพรรคปฏิรูปและก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นาน จึงขาดประสบการณ์
ในที่สุดการปฏิวัติรัสเซียก็พ่ายแพ้เมื่อสตาลินขึ้นมาครองประเทศอำนาจด้วยเผด็จการโหดและทำลายความก้าวหน้าทั้งหมดที่บอลเชวิคและโซเวียตเคยสร้างไว้ พร้อมกันนั้น สตาลินฆ่าและจำคุกสมาชิกเดิมของบอลเชวิคมากมายเพื่อกลบพลังปฏิวัติ
เลนินกับทรอตสกีย้ำเสมอว่า การปฏิวัติในรัสเซียจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศพัฒนาในตะวันตก สังคมนิยมสร้างในประเทศเดียวไม่ได้
โรซา ลัคแซมเบอร์ค ผู้นำพรรคปฏิวัติเยอรมัน สนับสนุนการปฏิวัติรัสเซียและรัฐบาลบอลเชวิคเต็มที่ แต่วิจารณ์การผูกขาดอำนาจของบอลเชวิค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โรซา ลัคแซมเบอร์ค สรุปว่าบอลเชวิคไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกแนวทางอื่นในสถานการณ์ตอนนั้น
ความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติ 1917 และนโยบาย “เศรษฐกิจใหม่” นำไปสู่การขยายตัวของ “ข้าราชการแดง” ที่เข้ามาแทนที่สมาชิกพรรคที่เป็นกรรมาชีพปฏิวัติ การเสียชีวิตของเลนิน ทำให้ฝ่ายปฏิวัติในพรรคอ่อนลง และทั้งๆ ที่ทรอตสกีพยายามค้านสตาลินอย่างถึงที่สุด และเลนินเคยเตือนให้พรรคปลดสตาลินออกจากตำแหน่ง สตาลินสามารถยึดอำนาจในฐานะตัวแทนของข้าราชการแดงได้ และต่อจากนั้นเขาก็ลงมือสร้างระบอบเผด็จการของ “ทุนนิยมโดยรัฐ”
ความล้มเหลวของการปฏิวัติสังคมนิยมโดยชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียไม่ได้มาจากความผิดพลาดของเลนิน หรือการที่พรรคบอลเชวิคนำการปฏิวัติแต่อย่างใด และไม่ได้มาจากนโยบาย “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ของพรรคบอลเชวิคอีกด้วย แต่เกิดจากการที่กรรมาชีพรัสเซียไม่สามารถแพร่ขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปที่พัฒนามากกว่ารัสเซียในโอกาสนั้น ความพยายามของกรรมาชีพรัสเซียที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ที่จบลงในที่สุดด้วยความพ่ายแพ้และเผด็จการของสตาลิน เพียงแต่เป็นรอบแรกในการต่อสู้เพื่อล้มระบบทุนนิยมของกรรมาชีพโลก อนาคตของสังคมนิยมยังแจ่มใส ถ้าเราเรียนบทเรียนจากการทำงานของเลนิน
[อ่านเพิ่ม: “วิธีการสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” สำนักพิมพ์ กปร. ๒๕๔๒]
*******************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6