โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ต้องพยายามพูดความจริงเรื่องสภาพการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการฟังหรือไม่ ความจริงที่เราต้องพูดตอนนี้คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรอบปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวมาถึงจุดพ่ายแพ้นานแล้ว ซึ่งความพ่ายแพ้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแกนนำไม่กล้าหาญและไม่พร้อมจะเสียสละแต่อย่างใด
เพื่อให้ความพ่ายแพ้นี้เป็นเพียงความพ่ายแพ้ชั่วคราว เราจะต้องมาสรุปบทเรียนจากการต่อสู้ที่ผ่านมา ในอนาคตเราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้กับเผด็จการรอบใหม่โดยมีความหวังว่าจะได้รับชัยชนะ
จากจุดสูงสุดของการต่อสู้ที่นำโดยคนหนุ่มสาวในเดือนสิงหาคม/กันยายน ๒๕๖๓ ที่มีมวลชนออกมาประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสนามหลวงเป็นหมื่นเป็นแสน ปัจจุบันเราเห็นแกนนำคนหนุ่มสาวหลายสิบคนติดคุกหรือติดคดีร้ายแรงโดยเกือบจะไม่มีการประท้วงใดๆ และถ้ามีก็แค่เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นหรือไม่ก็เป็นการออกมารำลึกถึงอาชญากรรมของรัฐทหารต่อคนเสื้อแดง หรือผู้ประท้วงในเหตุพฤษภา ๓๕
ก่อนอื่นเราต้องทบทวนดูภาพระยะยาวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและวิกฤตการเมืองในไทยตั้งแต่การก่อรัฐประหารต่อรัฐบาลทักษิณเมื่อ ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ซึ่งเป็น “รัฐประหารเพื่อคนรวย”
รัฐประหารครั้งนั้นนำไปสู่วิกฤตการเมืองที่ยังไม่จบ และเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นของชนชั้นนายทุนอนุรักษ์นิยมและอภิสิทธิ์ชน ต่อชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร และการโต้กลับของคนเสื้อแดง และในที่สุดของคนหนุ่มสาว ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นเช่นกัน
แต่การต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ “บริสุทธิ์” เพราะบ่อยครั้งในโลกจริงการต่อสู้ทางชนชั้นบริสุทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้น แต่มีเรื่องซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง
การต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน เกิดขึ้นหลังจากที่นักการเมืองนายทุนชื่อทักษิณ ชินวัตร พยายามนำคนระดับล่างเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเมืองประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และการปลดหนี้เกษตรกร ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับกรรมาชีพและเกษตรกร ในกรณีกรรมาชีพการที่ญาติพี่น้องของเขาได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องติดหนี้ มีประโยชน์มาก ทั้งๆ ที่กรรมาชีพเองมีประกันสังคมของตนอยู่แล้ว
แต่นโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชีวิตคนชั้นล่างดีขึ้นเท่านั้น มันเป็นนโยบายที่ทักษิณและพรรคพวกมองว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และที่สำคัญคือจะทำให้สังคมทุนนิยมไทยพัฒนาและทันสมัย เพื่อการแข่งขันในตลาดโลกที่ดีขึ้น การพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมที่พวกล้าหลังคัดค้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย มันเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับนายทุนสมัยใหม่
นโยบายเหล่านี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งกับชนชั้นนายทุนอนุรักษ์นิยม ซึ่งรวมพวกทหารระดับสูง มันสร้างความไม่พอใจกับชนชั้นกลางสลิ่มอีกด้วย พวกนี้พึงพอใจมานานกับสังคมล้าหลังที่กีดกันคนธรรมดา ไม่ให้มีส่วนร่วมหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรูปแบบการพัฒนาในอดีต ในกรณีสลิ่ม เขาไม่กล้าพูดตรงๆ ในเรื่องนี้ จึงต้องงัดเรื่อง “คอรัปชั่น” ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกับทหาร มีประวัติอันยาวนานในการโกงกินหรือใช้อิทธิพล อาจมากกว่าทักษิณอีก และพวกสลิ่มมักจะเงียบเรื่องอาชญากรรมรัฐที่รัฐบาลทุกรัฐบาลในอดีตรวมถึงไทยรักไทยเคยทำไว้ ส่วนฝ่ายทหารเผด็จการก็มักจะอ้างว่าปกป้องสถาบันสูงสุดเพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองเสมอ
การที่ชนชั้นกลางสลิ่มสนับสนุนเผด็จการพิสูจน์ว่าทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยของพวกเสรีนิยมที่เน้นชนชั้นกลางใช้ไม่ได้
นโยบายของทักษิณและพรรคพวกทำให้ฐานเสียงของไทยรักไทยและพรรคการเมืองอย่างเช่นเพื่อไทย มีความมั่นคงจนพรรคอนุรักษ์นิยมเช่นพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถแข่งได้ มันไม่มีวิธีที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเอาชนะถ้าไม่โบกมือเรียกทหาร
เราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตนี้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่บิดเบี้ยว เพราะฝ่ายคนชั้นล่างยอมรับการนำจากนายทุนอย่างทักษิณ และหลังจากที่ทักษิณต้องออกจากประเทศ ก็มีเศรษฐีนายทุนอีกคนหนึ่งคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามามีบทบาท สาเหตุสำคัญที่นายทุนได้รับการยอมรับแบบนี้ คือการล่มสลายก่อนหน้านั้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และกระแสฝ่ายซ้ายทั่วไป มันจึงมีสุญญากาศทางการเมืองของฝ่ายซ้าย
สุญญากาศของฝ่ายซ้ายมีผลทำให้พวกล้าหลังเสื้อเหลืองสามารถสร้างอิทธิพลในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การก่อตั้งของขบวนการเสื้อแดงจนถึงการขึ้นมาของขบวนการคนหนุ่มสาวในภายหลัง การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญๆ กับสถาบันต่างๆ ในสังคมไทย ตั้งแต่สถาบันสูงสุดไปถึงศาลและกองทัพ และนำไปสู่การตั้งคำถามกับระเบียบวินัยต่างๆ จากยุคเผด็จการ เช่น ทรงผมนักเรียน
และสิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ ฝ่ายทหารเผด็จการกับพรรคพวกต้องใช้เวลาถึง ๑๓ ปีหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา เพื่อเปลี่ยนกติกาการเมืองก่อนที่มันจะครองอำนาจผ่านการเลือกตั้งจอมปลอมได้
จุดเด่นของขบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้ โดยเฉพาะในยุคเสื้อแดง คือการสร้างขบวนการมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และหลังการล่มสลายของคนเสื้อแดง ขบวนการคนหนุ่มสาวก็ดึงมวลชนออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน
แต่เราต้องศึกษาจุดอ่อนที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุด
ประเด็นแรกที่เราต้องศึกษาคือ ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ เพราะทั้งเสื้อแดงกับคนหนุ่มสาว ไม่ว่าเขาจะประกาศอ้างอะไร ก็ล้วนแต่ใช้ยุทธศาสตร์มวลชนสลับกับการตั้งความหวังในรัฐสภาทุนนิยม คือไม่มีเป้าหมายในการ “ล้มระบบ”
ในรูปธรรม การที่นักเคลื่อนไหวบางคนเสนอว่า สถาบันกษัตริย์มีอำนาจเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถือว่าเป็นการเสนอให้ “ล้มระบบ” เพราะนอกจากจะไม่จริงแล้ว ยังเป็นการปล่อยให้ทหารผู้มีอำนาจจริงลอยนวล
ในกรณีเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ต้องการกดดันให้พรรคการเมืองของทักษิณกลับมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาและตั้งรัฐบาลได้ เสื้อแดงจัดตั้งกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ทักษิณมีอิทธิพลการนำทางการเมืองสูง ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งเสื้อแดง และในหลายช่วงทักษิณก็พยายามบอกเสื้อแดงให้ “นิ่ง” โดยหวังจะประนีประนอมกับชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ในกรณีขบวนการคนหนุ่มสาว ถึงแม้ว่าหลายคนมองว่าตนเองเป็นพวกอนาธิปไตยหรือฝ่ายซ้าย และไม่ได้ปลื้มนายทุนใหญ่อย่างทักษิณหรือแม้แต่ธนาธร ในที่สุดเมื่อการชุมนุมซ้ำๆ ของมวลชนไปถึงทางตัน คือไม่สามารถเขย่าอำนาจเผด็จการพอที่จะล้มมันได้ ก็หันมาชุมนุมแบบ “สร้างสรรค์” ที่ไร้พลัง เช่นการใช้เป็ดพลาสติกเป็นต้น และเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลเช่นกันและทางเผด็จการรุกปราบด้วยการใช้กฎหมาย ม.112 ก็เหลือแค่การตั้งความหวังกับพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยในรัฐสภา แต่ทั้งสองพรรคนี้ไม่ยอมยกเลิก 112 ไม่ยอมพูดเป็นรูปธรรมเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ยอมปลุกมวลชน และมักยอมรับกติกาประชาธิปไตยจอมปลอมของประยุทธ์ ที่มัดมือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย
จุดอ่อนประเด็นที่สองของทั้งเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาว คือไม่ยอมศึกษาพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ จึงไม่มีการลงไปจัดตั้งนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพในขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่ พคท. และฝ่ายซ้ายอื่นเคยทำ ซึ่งจุดอ่อนนี้ทำให้ไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อไล่เผด็จการและเปลี่ยนระบบอย่างที่เราเห็นในประเทศอื่น เช่นฮ่องกง เกาหลีใต้ หรือซูดาน ดังนั้นเรื่องมักจะจบลงที่รัฐสภาแทน และพรรคในรัฐสภาไม่สามารถทำอะไรได้มากและยังอาจโดน “รัฐประหาร” จากทหารหรือศาล ถ้าทำอะไรมากเกินไปอีกด้วย
การหันหลังให้กับขบวนการกรรมาชีพก็เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลเข้าไปดึงนักสหภาพแรงงานเข้ามาในกระบวนการรัฐสภาด้วย แทนที่จะปลุกระดมการต่อสู้ทางชนชั้น
ในเรื่องจุดอ่อนประเด็นที่สาม การที่ขบวนการเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาวไม่มีเป้าหมายในรูปธรรมที่จะล้มระบบ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย เพราะตอนนั้นและตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองสังคมนิยมปฏิวัติ ที่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะเสนอการนำแข่งกับสายความคิดอื่น เช่นสายความคิด “ปฏิรูป” ของพรรคก้าวไกลหรือพรรคกระแสหลักอื่นๆ และแนวคิดอนาธิปไตยอีกด้วย
การที่เราจะสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ต้องผ่านการ “เปลี่ยนระบบ” โค่นอำนาจอนุรักษ์นิยมของทหารและนายทุน ดังนั้นต้องมีการพิจารณาแนวปฏิวัติสังคมนิยมที่เน้นพลังประชาธิปไตย “จากล่างสู่บน” เราใช้ความคิดของพรรคการเมืองกระแสหลักไม่ได้ เพราะพรรคเหล่านี้จะเน้นการทำงานในกรอบของสังคมที่ดำรงอยู่เสมอ
แนวคิดอนาธิปไตยก็ไม่สามารถท้าทายอำนาจเผด็จการอย่างจริงจังได้อีกด้วย ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดนี้ในไทยคือ การอ้างโดยแกนนำคนหนุ่มสาวว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” และการสร้าง “สหภาพคนทำงาน”
ในกรณีการอ้างว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” เป็นการใช้คำขวัญที่หวังดี คือให้คนนำกันเองแทนที่จะให้คนอย่างทักษิณ ธนาธร หรือนักการเมืองกระแสหลักอื่น เข้ามานำ แต่ถ้าไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อให้มีการนำแบบรากหญ้าอย่างจริงจัง เช่นผ่านการตั้ง “สภาการประท้วง” และการเลือกแกนนำเป็นประจำ มันจะกลายเป็นแค่คำขวัญนามธรรม และในรูปธรรมแกนนำเดิมจะผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ และการทำโพลทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการถกเถียงเรื่องแนวทางแบบต่อหน้าต่อตา จะไม่แก้ไขปัญหาการผูกขาดการนำ
การสร้างสหภาพคนทำงาน โดยแนว “ลัทธิสหภาพอนาธิปไตย” เกิดจากความต้องการของคนหนุ่มสาวบางคนที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระจายลงไปในขบวนการกรรมาชีพ และเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการนัดหยุดงานต้านเผด็จการ แต่พวกเขามองว่าในสหภาพแรงงานโดยทั่วไปไม่มีการสร้างกระแสการเมืองก้าวหน้าเพียงพอและสร้างไม่ได้อีกด้วย
สหภาพคนทำงาน ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กร สหภาพคนทำงานจึงไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานเพื่อสร้างกระแสนัดหยุดงานทางการเมืองได้ มันใช้แทนการสร้างพรรคไม่ได้
ภาระของเราชาวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ(หรือเตรียมพรรค)ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้มีอิทธิพลเพียงพอจะที่จะเสนอแนวทางการต่อสู้และช่วยประสานการเคลื่อนไหวระหว่างขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแรงงาน ขบวนการต้านเผด็จการ ขบวนการปกป้องนักโทษทางการเมือง ขบวนการสิทธิทางเพศ ขบวนการแก้ปัญหาโลกร้อน และขบวนการของสิทธิชาวบ้าน ฯลฯ เราจะได้เรียนรู้สรุปบทเรียนจากการต่อสู้และเสียสละของนักเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในอดีต และนำมาใช้ในการต่อสู้รอบต่อไป เราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้และปกป้องไม่ให้การต่อสู้ของเพื่อนเราในอดีตจบแบบเสียเปล่า
*******************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6