โดย สหายนาย
อย่างที่เรารู้ๆ กันดี ว่าแนวทางการเคลื่อนไหวสังคมของเราที่เป็นกระแสหลักนั้น คือแนวทางการ “ปฏิรูป” แต่ว่ามันตอบโจทย์เราจริงๆ หรือไม่ ? การเปลี่ยนแปลงสังคมทีละนิดทีละหน่อย โดยคิดว่าสักวันนึงจะมีอะไรดีขึ้น โดยการกำหนดทิศทางที่ทำให้ชนชั้นนายทุนได้รับผลประโยชน์ ได้ขูดรีด ได้ออกนโยบายของตนเองโดยที่ประชาชนและกรรมาชีพเป็นเพียงแค่คนเลือกตัวเทนไปนั่งในสภาและนั่งดูผลงานไปเรื่อยๆ ไม่มีสิทธิ์ออกนโยบายในการบริหารหรือการจัดสรรทรัพยากรของส่วนรวมโดยส่วนรวม
โจทย์ของเราคือ จะโค่นล้มระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างไร การต่อสู้เรียกร้องในปัจจุบัน ไม่ว่าจะมาจากภาคมวลชน หรือตัวแทนรัฐสภา เป็นการต่อสู้ที่ผลสำเร็จสุดท้ายของมันคือ การปฏิรูปสังคมทั้งสิ้น เช่น การยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพเช่น ม.112 ที่เป็นการตัดแขนขาบางส่วนของรัฐกระฎุมพี ยังไปไม่ถึงการยกเลิกระบบการขูดรีดที่รัฐนายทุนหรืออำนาจเบื้องบนที่ขูดรีดเรา หรือแม้แต่การสู้เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการของพรรคก้าวไกล ที่เสนอการนำทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ และงบทหารมาจัดทำสวัสดิการสังคม แต่เราอย่าลืมว่า ชนชั้นมันไม่ได้หมายถึงแค่สถาบันใดสถาบันหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงโครงสร้างอำนาจผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่มีมากกว่าคนอื่น นั่นก็คือชนชั้นนายทุน ที่ถูกค้ำยันโดยคนถืออาวุธ แต่กลับไม่มีการต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจริงๆ พูดถึงปัญหาของระบบทุนนิยม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นการปฏิรูปที่ว่ามาก็ควรจะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่า นั่นคือการปฏิวัติ
การเรียกร้องให้เก็บภาษีคนรวย เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างจริงจัง เป็นการเปิดศึกกับชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้น ซึ่งพวกเขาจะเสียประโยชน์ ร่ำรวยน้อยลง แต่กรรมาชีพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเงินมาพัฒนารัฐสวัสดิการได้มากขึ้น การจะได้มาซึ่งสิ่งนี้จะต้องมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างกรรมาชีพและนายทุนทั้งชนชั้น นี่คือการปฏิรูปที่ปูทางไปสู่การปฏิวัติ
การปฏิวัตินั้นไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนทรัพย์ปลายน้ำเท่านั้น ไม่ใช่แค่เปลี่ยนปลายทางของภาษีปัจจุบันให้มาสร้างคุณภาพชีวิตของส่วนรวม แต่ยังเปลี่ยนรูปแบบของโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตใหม่ จากเดิมที่คนส่วนใหญ่ต้องถูกบังคับให้ต้องรับจ้างเพื่อความอยู่รอดภายใต้ระบบการแข่งขันผลิตสินค้าและบริการของชนชั้นนายทุน เปลี่ยนมาเป็นการวางแผนผลิตโดยผู้ทำงานหรือชนชั้นกรรมาชีพเอง มันเป็นการปลดปล่อยการกดขี่แบบถาวร
การเคลื่อนไหวปัจจุบันในไทยมีการยกระดับมากกว่าเมื่อก่อนมากขึ้น คือ มีกรรมาชีพ มีชาวนาออกมาเรียกร้องผลประโยชน์เฉพาะหน้าของชนชั้นตนเอง ถึงแม้จะไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวที่ใหญ่เมื่อเทียบกับอดีต แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทำให้ทั้งขบวนการของเยาวชนและแรงงานมาบรรจบกันบ้าง เยาวชนเริ่มมีการเรียกร้องการขึ้นค่าแรง วันหยุด การยกหนี้ การเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่ได้เพียงแต่ทำให้ข้อเรียกร้องบรรลุ แต่เป็นการยกระดับจิตสำนึกทางชนชั้นที่สูงขึ้นเป็นลำดับขั้น การยกระดับจิตใจของกรรมาชีพหรือนักปฏิวัติ เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะคนที่ถูกกดขี่จากระบบมากๆ บางครั้งอาจจะหดหู่ขาดกำลังใจในการต่อสู้ที่มากพอจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรที่ใหญ่ หรือเป้าหมายที่สูงมากขึ้น การเรียกร้องสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเสริมกำลังใจในการต่อสู้ เป็นสิ่งที่จะทำให้แรงงาน ผู้ทุกข์ยากพอที่จะลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น มั่นใจมากขึ้น และมีกำลังใจในการต่อสู้เปลี่ยนแปลงสิ่งอื่นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวแนวทางปฏิรูปของไทยที่จะมีผลต่อชนชั้นแรงงานจริงๆ ยังถือว่าต่ำมาก ถ้าเปรียบเทียบกับประเด็นอื่นๆ ที่ปัจจุบันเป็นกระแสหลัก ส่วนมากจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง เพราะฉะนั้น เราควรร่วมมือกันขยายการต่อสู้และเชื่อมโยงกับชนชั้นแรงงานให้มากขึ้น เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าที่เรียกร้อง นั่นก็คือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองทั้งโครงสร้าง
****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6