โดย ปีกแดง
วิภาษวิธี (Dialectic) คือ ตรรกวิทยาของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของทุกสรรพสิ่ง ดำเนินไปบนกฎของการแปลงปริมาณไปสู่คุณภาพ กฎของความเป็นเอกภาพและความขัดแย้งภายใน และกฎแห่งนิเสธซ้อนนิเสธ ซึ่งจะนำเราไปสู่ผลเฉลยใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม จุดเริ่มต้นของมันอยู่ในกรีซโบราณและถูกทำให้แพร่หลายโดยนักปรัชญาพลาโต บทสนทนาของโสกราตีสในฐานะที่เป็นการอภิปรายโต้วาทีที่นำไปสู่การตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของเหตุผล และต่อมาเฮเกลและมาร์กซ์ในเยอรมนี แต่วิภาษวิธีไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในยุโรปเท่านั้น หากยังปรากฏในอินเดียในรูปของปรัชญาที่ผสมผสานเข้ากับพุทธศาสนา
เป็นช่วงเวลากว่าครึ่งสหัสวรรษก่อนคริสตกาลที่พุทธศาสนาเริ่มต้นขึ้นในอนุทวีป จากการเผยแพร่ธรรมของสิทธัตถะ อดีตเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ที่เบื่อหน่ายชีวิตทางโลกและตัดสินใจหันเหสู่ชีวิตนักพรต คำสอนของสิทธัตถะ คือความพยายามที่จะปฏิรูปแนวทางของศาสนาพราหมณ์อย่างถึงราก ทั้งในระบบวรรณะและความเชื่อในเทพเจ้าที่รองรับระบบวรรณะจนมนุษย์ละเลยศักยภาพของตนเอง ไปจนถึงการวิพากษ์อภิปรัชญาว่าด้วยพรหมและสัจธรรมสากล จนกระทั่งศาสนาพุทธแตกแยกเป็นหลายสำนักนิกายเนื่องจากความแตกต่างของการตีความทางธรรมวินัยภายใต้บริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเมือง ทั้งกลุ่มสงฆ์เก่าอย่างสถวีระ (หรือเถรวาท) รวมถึงกลุ่มสงฆ์ที่ใช้ภาษาสันสกฤตในการจดจารคัมภีร์อย่างสรวาสติวาทินซึ่งได้รับการอุปถัมภ์โดยกนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ ล้วนแต่มีทรรศนะในทำนองที่ยอมรับความสัจจริงในระดับสูงสุดบางอย่างซึ่งไม่นำไปสู่ความหลุดพ้นต่อการยึดมั่นถือมั่นในทวิภาวะของความมีและไม่มี ภิกษุนาคารชุนะ (Nagarjuna) อดีตพราหมณ์ที่หันหน้าเข้าสู่ร่มเงาพุทธศาสนาจึงได้วางรากฐานคำสอนแบบ “ศูนยตวาทิน” หรือ “มาธยมิกะ” หรือคำสอนว่าด้วยความว่างเปล่าและทางสายกลาง โดยอาศัยหลักวิภาษวิธีซึ่งยืนยันในความผันแปรไม่คงที่ของสภาวะธรรมทั้งปวงจนถึงเหตุผลทางญาณวิทยา เพื่อโต้แย้งความเห็นที่แตกต่างเหล่านั้นและเปิดประตูไปสู่ความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ แม้ว่าศาสนาพุทธจะมีคำสอนหลักว่า สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่ศาสนาพุทธก็มองว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นวัฎสังสารและมนุษย์ไม่สามารถหลุดพ้นวัฎสังสารได้
แม้วิภาษวิธีของนาคารชุนะจะเป็นปรัชญาอันลือเลื่องที่เคยนำไปสู่การโต้เถียงครั้งใหญ่ข้ามศาสนาข้ามนิกายในมหาวิทยาลัยนาลันทา ทั้งเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งของพุทธฝ่ายมหายาน และแม้ทุกวันนี้ในชุมชนสงฆ์ทิเบตจะยังคงมีศาสตร์วิภาษวิธีและการโต้วาทีที่ผู้บวชเป็นสงฆ์จะต้องฝึกฝนจนชำนาญ แต่วิภาษวิธีเช่นนี้ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเป็นไปเพื่อการโต้แย้งทางปรัชญาและเป็น “ยาฝิ่น” เพื่อประโลมโลกจากความบอบช้ำที่เกิดขึ้นจริง ถ้าหากนักปรัชญาไม่เพียงแค่ต้องตีความโลกในแบบต่าง ๆ หากแต่ต้องเปลี่ยนแปลงมัน มาร์กซ์คือผู้ที่ใช้ปรัชญาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุดในฐานะนักปฏิวัติ มาร์กซ์รับวิภาษวิธีมาจากเฮเกลซึ่งมองการเปลี่ยนแปลงของจิตมนุษย์ไปสู่จิตอันสัมบูรณ์ แต่เขากลับหัวกลับหางมันด้วยหลักคิดทางวัตถุนิยม มาร์กซ์ใช้วิภาษวิธีในการมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง จนได้เล็งเห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์บนภววิสัยทางวัตถุที่เป็นจริง เขาใช้วิภาษวิธีในการมองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมระหว่างผู้ใช้แรงงานทั้งมวลกับผู้ได้ดอกผลอันเปี่ยมล้นที่มีคนแค่หยิบมือเดียวได้รับ จนนำไปสู่ประโยคเปิดและบทสรุปอันลือเลื่องที่พลิกโฉมหน้าของโลกใบนี้ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ “ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น” และ “ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก จงสามัคคี”
****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6