โดย แพรพลอย
จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2022 เหมือนกับในปี 2017 ผู้ที่ได้เข้ารอบชิงคือนายเอ็มมานูเอล มาครง จากพรรคอองมาร์ช (LREM) และนางมารีน เลอ แปน พรรค National Rally (RN) ด้วยคะแนน 27.84% และ 23.15% ตามลำดับ ตามมาด้วยนายฌอง ลุค เมลองชง จากพรรคฝ่ายซ้าย La France Insoumise (LFI) อันดับที่ 3 ด้วยคะแนน 21.95% ห่างจากนางเลอแปนเพียง 1.2%
การเลือกตั้งที่เริ่มไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ เนื่องด้วยจำนวนคนไม่ไปโหวตเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่มีการแก้รัฐธรรมนูญลดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 7 ปีเป็น 5 ปีในปี 2000 โดยในปี 2007, 2012, 2017 และ 2022 เป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี จำนวนคนไม่ไปโหวตอยู่ที่ 16.03%, 19.65%, 25.44% และ 28.01% ตามลำดับ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 สำนักโพล Opinion Way ได้เปิดเผยรายงานการสำรวจความเชื่อมั่นของคนฝรั่งเศสต่อระบอบการเมืองที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำร่วมกับ CEVIPOF ศูนย์วิจัยรัฐศาสตร์การปกครองประจำมหาวิทยาลัย Science Po พบว่า มีชาวฝรั่งเศสเพียงแค่ 35% เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่าระบอบการปกครองของตนเองทำงานได้ดี
โดยกลุ่มคนที่ไม่ไปโหวตมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 18-24 ปี (41%) ที่มีแนวโน้มเทคะแนนโหวตให้นักการเมืองฝ่ายซ้าย และกลุ่มคนที่ไปโหวตมากที่สุดคือกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปที่มีแนวโน้มเทคะแนนโหวตให้นักการเมืองฝ่ายขวา
จากผลการสำรวจโดยสำนักโพล Ipsos พบว่า กลุ่มคนที่เทคะแนนโหวตให้นายมาครงมากที่สุดคือกลุ่มคนอายุมากกว่า 70 ปี (41%) และกลุ่มผู้ที่มีรายได้มากกว่า 3,000€ ยูโรต่อเดือน (35%) ส่วนกลุ่มคนที่เทคะแนนให้นางเลอแปนมากที่สุดคือกลุ่มคนจนหรือผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 1,250€ ต่อเดือน (35%)
มารีน เลอ แปน ขวัญใจคนจน
Hayange เมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดชายแดนประเทศลักเซมเบิร์กและเยอรมนีที่ครั้งหนึ่งเคยมีอุตสาหกรรมเหล็กรุ่งเรืองและขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง ปัจจุบันโลกาภิวัตน์ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องปิดตัวลงเหลือทิ้งไว้แต่เพียงเมืองร้างประวัติศาสตร์ความเป็นซ้ายอันยาวนานนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ Hayange ได้ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรกเป็นอันต้องจบลง เมื่อผู้ชนะจากการเลือกตั้งผู้แทนครั้งล่าสุดในปี 2014 คือผู้แทนจากพรรค RN ของนางเลอ แปน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Hayange ก็ได้กลายเป็นเมืองฐานเสียงนางเลอ แปน
จากซ้ายจัดสู่ขวาจัด นาย Fabien Engelmann ผู้แทนจากเมือง Hayange ไม่ได้สมาทานแนวคิดขวาจัดมาตั้งแต่ต้น เขาเริ่มเข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรค LO (พรรคคอมมิวนิสต์สายทร็อตสกี) ก่อนย้ายไป NPA (พรรคต่อต้านทุนนิยมใหม่) และย้ายมาพรรคของนางเลอ แปน ในปี 2010
อดีตสองประธานาธิบดีทั้งนายนิโคลาส์ ซาร์โคซี และนายฟร็องซัว ออล็องด์ ต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องชาว Hayange จากโลกาภิวัตน์และรักษาอุตสาหกรรมเหล็กในเมืองไว้ให้ได้แต่สุดท้ายก็กลายเป็นคำหลอกลวง
นาย Jean หนึ่งในคนที่เคยทำงานให้กับอุตสาหกรรมเหล็กนี้กล่าวกับสำนักข่าว Luxembourg Times ว่า “สิ่งที่ Hollande ทำมันโคตรแย่ เราเชื่อใจเขาเพราะเขาเป็นซ้าย”
นาง Véronique แม่ค้าวัย 57 ปีที่อาศัยอยู่ใน Hayange ผู้ที่ตลอดชีวิตเคยสนับสนุนฝ่ายซ้ายและตอนนี้หันมาสนับสนุนนาง Le Pen กล่าวว่า “เราต้องหยุดเอาผู้อพยพเข้ามา ที่นี่งานมันก็น้อยอยู่แล้ว พวกนั้นเข้ามากอบโกยแล้วก็จากไป”
จากรายงานของหนังสือพิมพ์ l’Opinion ในปี 2016 ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสสูญเสียงานอุตสาหกรรมกว่า 900,000 ตำแหน่งจากระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์
ความผิดหวังและความเหลื่อมล้ำแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธที่มีต่อผู้อพยพ ในวันที่ Hayange เป็นเมืองร้าง หลายคนตกงาน หลายคนถูกรัฐทอดทิ้ง ความผิดบาปทั้งหมดตกอยู่ที่ผู้อพยพจริงหรือ หรือตกอยู่ที่นายทุนและรัฐบาลที่ทอดทิ้งคนเหล่านี้ แล้วทำไมคนกลุ่มนี้ถึงคิดว่าความผิดนั้นเป็นของผู้อพยพ
สื่อนายทุนกับการเลือกตั้งฝรั่งเศส
แม้ฝรั่งเศสจะมีกฎหมายเคร่งครัดเกี่ยวกับการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดให้เหล่ามหาเศรษฐีห้ามซื้อสื่อ
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เหล่ามหาเศรษฐีฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นนาย Bernard Arnault เจ้าของเครือแบรนด์สินค้าหรู LVMH ชายผู้รวยเป็นอันดับ 3 ของโลก ในปี 2007 ก็หันมาจับจองเป็นเจ้าของสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ Les Echos และในปี 2015 ก็ได้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ Le Parisien และ Aujourd’hui en France
หรือนาย Vincent Bolloré มหาเศรษฐีเจ้าของเครือบริษัทโลจิสติกส์ที่หันมาจับธุรกิจสื่อเช่นกัน เข้าควบคุมกิจการสื่อเครือ Vivendi ในปี 2017 หรือตระกูล Bouygues เจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมที่ได้เป็นเจ้าของสื่อเครือ TF1 ในปี 1987 และปัจจุบันปี 2022 พยายามเข้าควบรวมกิจการสื่อกับเครือ M6 ที่มีตระกูล Mohn เจ้าของสื่อเยอรมันเป็นเจ้าของ
ความไม่เท่าเทียมของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายในระยะเวลาออกอากาศ
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีประจำปี 2022 จากการรายงานของสำนักพิมพ์ Le monde ช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2022 ถึง 3 เมษายน 2022 สื่อฝรั่งเศสทั้งช่องทีวีและวิทยุให้เวลาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝ่ายขวาออกอากาศรวม 930 ชั่วโมง 41 นาที ในขณะที่แคนดิเดตฝ่ายซ้ายมีเวลาออกอากาศรวม 348 ชั่วโมง 20 นาที
เมื่อเทียบกันระหว่างตัวแทนขวาจัดอย่างนางมารีน เลอ แปน และนายเอริค เซมมูร์ ที่มีนโยบายหลักกีดกันผู้อพยพ กับฝ่ายซ้ายจัดอย่างนาย Philippe Poutou จากพรรคต่อต้านทุนนิยมใหม่และนาง Nathalie Arthaud จากพรรค LO ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สาย Trotskyist จะเห็นว่า ฝั่งขวาจัดมีระยะเวลาออกอากาศรวม 344 ชั่วโมง 44 นาทีในขณะที่ฝ่ายซ้ายจัดมีระยะเวลาออกอากาศรวม 43 ชั่วโมง 53 นาที
นอกจากนี้ การที่นาง Le Pen และนาย Zemmour มีเวลาออกอากาศมากแสดงให้เห็นว่า หัวข้อข่าวส่วนใหญ่ในสื่อฝรั่งเศสมุ่งเน้นไปที่การโจมตีผู้อพยพ
หากนับรวมระยะเวลาของแคนดิเดตที่มีนโยบายแนวเสรีนิยมใหม่ ตัดงบสวัสดิการ และเพิ่มอายุเกษียณอย่างนาย Emmanuel Macron นาง Valérie Pécresse นาง Marine Le Pen และนาย Eric Zemmour เข้าด้วยกันจะมีระยะเวลาในการออกกาศทั้งหมด 793 ชั่วโมง 33 นาที ในขณะที่แคนดิเดตที่มีนโยบายสนับสนุนรัฐสวัสดิการ ออกจากระบบทุนนิยม และลดเวลาการทำงานอย่างนาย Jean-Luc Mélenchon นาย Fabien Roussel นาย Philippe Poutou และนาง Nathalie Arthaud มีระยะเวลาในการออกอากาศรวมกัน 250 ชั่วโมง 5 นาที
อคติฝ่ายซ้ายจากโพล
หลายเดือนก่อนการเลือกตั้ง โพลหลายสำนักของฝรั่งเศสอาทิ Opinion Way, Ifop, Elabe, Ipsos และ Harris ต่างทำนายคะแนนโหวตของแคนดิเดตฝ่ายขวาหลายคนสูงกว่าความเป็นจริงในขณะที่ให้คะแนนแคนดิเดตฝ่ายซ้ายต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น โพลของ Opinion Way ประจำวันที่ 4 เมษายน 2022 ซึ่งเป็นโพลสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง คาดการณ์ว่านาง Valérie Pécresse และนาย Eric Zemmour ฝ่ายขวาจะทำคะแนนได้ 9% ในขณะที่คะแนนจริงที่ทำได้คือ 4.78% และ 7.07% ตามลำดับ ส่วนนาย Jean-Luc Mélenchon ฝ่ายซ้าย คาดว่าจะได้ 17% ทำคะแนนจริงได้ 21.95% หรือโพลของ Harris ที่ออกมาในวันเดียวกัน คาดว่านาง Pécresse และนาย Zemmour จะทำคะแนนได้ 9.5% และคาดว่านาย Mélenchon จะทำได้ 17%
นอกจากนี้ สำนักโพลเหล่านี้ต่างได้รับเงินสนับสนุนจากสื่อที่เหล่ามหาเศรษฐีเป็นเจ้าของ เช่น สำนักโพล Opinion Way ได้รับเงินสนับสนุนจากหนังสือพิมพ์ Les Echos ของนาย Bernard Arnault สำนักโพล Elabe ได้รับเงินสนับสนุนจาก BFMTV ของนาย Patrick Drahi หรือสำนักโพล Harris ได้รับเงินจากเครือนิตยสาร Perdriel ของนาย Claude Perdriel ที่มีนาย Bernard Arnault ถือหุ้นอยู่ 40%
ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสำนักโพลและสื่อที่มีเหล่ามหาเศรษฐีเป็นเจ้าของเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามเพราะทั้งสองสิ่งนี้มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง นอกจากที่จะต้องตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของสื่อและโพลแล้ว ยังคงต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปล่อยให้มหาเศรษฐีเหล่านี้เข้าเป็นเจ้าของกิจการเหล่านี้ได้อย่างหน้าตาเฉย
***************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6