แปลและเรียบเรียงโดย ไทเคโกะ ยูกิ
นักสังคมนิยม มารี เอกี มองว่า สังคมนิยมคือจุดที่เชื่อมรอยต่อระหว่างการปลดแอกสตรี มาตรฐานชีวิตทีดีขึ้น และสิทธิของแรงงาน
มารี เอกี “ราชินีแห่งบอลเชวิค” และ “หญิงที่ถูกเกลียดชังที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ” คือ ฉายาของแพทย์หญิงนักสู้เพื่อการปฏิวัติและสิทธิสตรี เธอเกิดปี ค.ศ.1872 ในครอบครัวผู้อพยพในเมืองนิว เบดฟอร์ด มลรัฐแมซซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา และเริ่มทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยอายุเพียง 8 ขวบ ซึ่งเธอได้หลบหนี และย้ายไปยังมลรัฐโอเรกอนกับเพื่อนสาวคู่รักของเธอ เบสส์ โฮลคอล์ม จนได้เข้าศึกษาวิชาแพทย์ตามใจปรารถนา
หลังจบการศึกษาในปี 1903 เธอได้ตั้งศูนย์อนามัยขึ้นมาในเมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานเด็กและสตรีโดยเฉพาะ แม้ว่าการทำแท้งขณะนั้นผิดกฎหมาย เธอก็ยอมเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีเพื่อให้บริการแก่ผู้หญิงชนชั้นล่าง เธอต้องต่อสู้กับขนบธรรมเนียมและแนวคิดต่อต้านเพศวิถีที่แตกต่าง และไม่เคยหลบซ่อนว่าเธอนั้นเป็นเลสเบียน เธอและคู่รักของเธอ แฮร์เรียต สเปกการ์ท ครองชีวิตอยู่ด้วยกัน 15 ปี และรับอุปถัมป์ลูกสาวคนหนึ่ง มารี เอกี อุทิศตัวเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งสำหรับผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนรณรงค์ “สิทธิเลือกตั้งเพื่อสตรีพอร์ทแลนด์” ในปี 1912
เธอเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวหน้า( the Progressive Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่เป็นอันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกาในช่วงสั้นๆ เอกี เชื่อว่าการปฏิรูป คือหนทางที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งความคิดนี้ได้เปลี่ยนไปในปี 1913 หลังจากที่เธอได้ร่วมประท้วงกับคนงานโรงงานผลไม้กระป๋อง คือ คนงานของบริษัทบรรจุภัณฑ์โอเรกอนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถูกขูดรีด ได้รับค่าแรงต่ำมาเป็นเวลานาน ในเดือนมิถุนายน 1913 กรรมกรหญิงประมาณ 50 คนสไตรค์นัดหยุดงาน และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลก (IWW) แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามทำร้าย เหตุการณ์นี้ทำให้แนวคิดทางการเมืองของเอกีก้าวหน้าขึ้น
เธอเขียนบทความว่า “มีกรรมกรหญิงชาวอินเดียนแดงคนหนึ่ง (นางโอคอนเนอร์) กำลังก้าวขึ้นเวทีเพื่อกล่าวปราศรัยก็มีตำรวจม้ากระโดดลงจากหลังม้า กระแทกใส่หัวกรรมกรชายในกลุ่มผู้ประท้วง แล้วฝ่าฝูงชนขึ้นไปลากตัวกรรมกรหญิงคนนั้นลงมา และนั่นทำให้ฉันเลือดเดือด ไฟแห่งการต่อสู้ปะทุขึ้นในใจของฉัน ฉันปรี่ขึ้นไปบนเวที กล่าวกับกลุ่มผู้ประท้วงก่อนที่จะตามตำรวจที่ลากกรรมกรหญิงนายนั้นไปศาล”
หลังจากการประท้วงครั้งนั้น เอกีได้ประกาศตนเป็นนักสังคมนิยมและอุทิศตนเพื่อจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวก้าวหน้าในเมืองพอร์ตแลนด์ เธอสู้เพื่อสิทธิของบุคคลไร้บ้านไปจนถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติและแรงงานที่ไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน สำหรับเอกีการเมืองแบบสังคมนิยมคือสายโซ่ที่นำทางการต่อสู้เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานให้ดีขึ้น สิทธิในที่อยู่อาศัย และสิทธิทำแท้ง การเมืองในสายตาของเอกีขับเคลื่อนให้เธอลุกขึ้นต่อต้านจักรวรรดินิยมในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังเตรียมตัวเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
หลังจากที่เธอถูกจับกุมในการจัดตั้งขบวนการต่อต้านสงครามในเมืองพอร์ตแลนด์ เธอย้ำเตือนเจตนารมณ์โดยปีนขึ้นไปบนเสาไฟและคลี่ป้ายแบนเนอร์ “สงครามจักรวรรดินิยมจงพินาศ” ทันทีที่ถูกปล่อยตัว การต่อต้านสงครามทำให้เธอขัดแย้งกับภาครัฐ ซึ่งได้ตั้งข้อหาเธอว่ายุยงปลุกปั่นในปี 1918
อัยการคนหนึ่งกล่าวว่า “ธงแดงแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังปลิวไสวอยู่เหนือดินแดนรัสเซีย เยอรมัน ภูมิภาคยุโรปอีกหลายๆ ประเทศ และมันจะระบาดไปทั่วโลกแน่ๆ หากเราไม่รีบจับสตรีนางนี้เข้าคุก “หลังจากนั้นเอกีก็ได้ใช้ชีวิตหลังลูกกรงอยู่เกือบปี ทำให้สุขภาพอ่อนแอลงและกดกระแสการเคลื่อนไหวของเธออย่างหนัก ในปี 1952 เธอเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเมื่ออายุ 80 ปี
การแสดงสัญลักษณ์เชิงต่อต้านครั้งสุดท้ายของเธอ คือการประกาศตนว่า “ฉายาของเธอคือราชินีแห่งพรรคบอลเชวิค” ท่ามกลางกระแสการล่าแม่มดลัทธิคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพยายามปลุกผีขึ้นมา สำนักงานตำรวจเมืองพอร์ตแลนด์ประกาศบัญชีรายชื่อคอมมิวนิสต์ในเมือง ซึ่งเอกีประกาศกร้าวว่าเธอต้องการจะอยู่บรรทัดบนสุดของรายชื่อนั้น
ที่มา Marie Equi – women’s champion, class warrior. 27 ก.พ. 65. ในเว็บไซต์พรรคแรงงานสังคมนิยมอังกฤษ
********************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6