โดย สหายกลั่น
สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565 มวลชนในซูดานจำนวนมากได้ทำการลงถนนครั้งใหญ่ที่สุดในซูดานนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2564) อันเป็นผลจากการสะสมการต่อสู้จากการนัดหยุดงานของสาขาอาชีพต่างๆ ตั้งแต่ปี 2562 มวลชนทั่วซูดานต่างยืนหยัดโดยท้าทาย ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิต 9 ราย จากการปราบปรามที่ใช้ทั้งปืนฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนจริง มีการสร้างสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันการสลายการชุมนุม มีการสร้างทางเลือกต่างๆ แทนที่วิถีชีวิตเดิมๆ ตัวอย่างเช่น “โรงละครปฏิวัติ” และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ มีการตั้งเครือข่ายประสานงานคณะกรรมการการประท้วงแห่งเมืองคาร์ทูม โดยมีโครงสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่นที่รวบรวมนักเคลื่อนไหวและจัดตั้งการต่อต้านกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่ประสานสภาการประท้วงในที่ต่างๆ มี
การถกเถียงกันระหว่างคณะกรรมการการประท้วงในประเด็นหลัก เรื่อง กฎบัตรปฏิวัติเพื่ออำนาจของประชาชน ซึ่งรับรองโดยคณะกรรมการประท้วงใน 15 รัฐ รวมถึงแผนงานในการจัดตั้งรัฐบาล สิ่งนี้จะริเริ่มด้วยการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นในทันทีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการรัฐประหาร และยังเป็นภาพแทนของการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตแทนที่ชนชั้นปกครอง แต่องค์กรดังกล่าวยังคงจำกัดตัวเองให้อยู่ในระบบเศรษฐกิจภาครัฐ-เอกชน ซึ่งจะทำให้โครงสร้างความมั่งคั่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงอยู่
ถึงแม้ว่ากองทัพจะประกาศว่าไม่เข้าร่วมการเจรจาและปล่อยให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน แต่สมาชิกเครือข่ายประสานงานฯ ได้กล่าวไว้ว่าจะไม่หยุดการต่อสู้บนท้องถนนและไม่ประนีประนอมต่อชนชั้นปกครอง เพราะการถอยของกองทัพยังเป็นการถอยเพื่อตั้งสภาสูงสุดแห่งกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไว้ใช้กดดันรัฐบาลพลเรือนอีกทีหนึ่ง
ล่าสุดที่ศรีลังกา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 มวลชนต่างหลั่งไหลเข้าร่วมการประท้วงต่อระบอบตระกูลราชปักษากันอย่างล้นหลาม มีการนัดหยุดงานกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การนัดหยุดงานของครูและนักเรียนในการเรียกร้องความยุติธรรมต่ออาชญากรรมสงครามที่กระทำต่อชาวทมิฬ จนถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เลวร้าย ที่ชนชั้นแรงงานต้องใช้ชีวิตอย่างอดอยากปากแห้ง ในขณะที่ชนชั้นปกครองกินหรูอยู่สบาย
การนัดหยุดงานอย่างต่อเนื่องนี้ที่ขยายไปสู่สาชาอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะภาคขนส่ง ที่มีการนำพาหนะขนส่งมาใช้สำหรับอำนวยความสะดวกมวลชน สามารถกดดันจนถึงการเดินขบวนไปคฤหาสน์ให้ตระกูลราชปักษาลาออกจากคณะบริหารทีละคนๆ
มีการสร้างเครื่องกีดขวางโดยมิได้นัดหมาย เพื่อสกัดกั้นตำรวจและทหาร พวกเขายังยึดปืนฉีดน้ำ โยนพวกตำรวจออกจากรถฉีดน้ำและเขียนว่า “คืนเงินของเราที่ขโมยไป” ไว้ด้านข้างรถ
ผู้ประท้วงยังได้ทุบทำลายรถบรรทุกทหารอีกด้วย จนประธานาธิบดี โคฐาภยะ ราชปักษา ต้องหนีออกนอกประเทศ ภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่มวลชนบุกเข้าไปในคฤหาสน์ของประธานาธิบดี ผู้ประท้วงบางคนกำลังว่ายน้ำในสระ ขณะที่คนอื่นๆ ออกกำลังกายในโรงยิมหรือพักผ่อนในห้องนอน ผู้ประท้วงคนหนึ่งแสดงสิ่งที่เขากล่าวว่าเป็นกางเกงในของประธานาธิบดีอย่างภาคภูมิใจ
การต่อสู้ใน 2 ประเทศนี้มีความหมายอย่างไรต่อเรา? ขบวนการประชาธิปไตยของเราต่างผ่านการต่อสู้มาอย่างไม่ไหวหวั่น แต่เราจะหวังพึ่งพาพรรคการเมืองกระแสหลักไม่ได้ ขบวนการประชาธิปไตยของเราต้องสร้างขบวนการแรงงานขึ้นมา ต้องมีการไปพูดคุยกับคนงาน ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร พนักงานโรงงาน ไรเดอร์ พนักงานขนส่งสาธารณะ กรรมกรห้องแอร์หรือพนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ ฯลฯ และเครือข่ายแรงงานที่มีอยู่ เพื่อเป็นกำลังในการนัดหยุดงานทั่วไป สิ่งนี้ไม่ง่าย แต่เป็นไปได้เสมอ และเมื่อวันนั้นมาถึง เราจะต้องให้อำนาจแก่ชนชั้นกรรมาชีพร่วมกันจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ฝากชิ้นผลของชัยชนะไว้กับพรรคนายทุน
***************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6