Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ขบวนการแรงงานสู่ขบวนการสังคมนิยมสากลที่ 1

โดย พัชณีย์ คำหนัก

เนื่องด้วยขบวนการแรงงานมีความหมายทางประวัติศาสตร์ คือ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน ที่รวมเอาพรรคการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นแรงงาน สถาบันต่างๆ เช่น สหกรณ์ ธนาคารแรงงาน โรงเรียน วิทยาลัย สถาบันสุขภาพ สถาบันวัฒนธรรม องค์กรผู้หญิง เยาวชนคนงาน แม้แต่กองกำลังของแรงงาน จึงไม่เพียงแต่ปกป้องช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกด้วย ทั้งนี้มีค่านิยมพื้นฐานร่วมกันคือ ความมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และทุกคนเท่าเทียมกันซึ่งนำไปสู่การสร้างความยุติธรรรมและเสรีภาพจากการถูกกดขี่ทุกรูปแบบ และปลดแอกชนชั้นแรงงานและมนุษยชาติจากเผด็จการทั่วโลก ฉะนั้น ขบวนการนี้จึงมีความเป็นสากลนิยม มีลักษณะข้ามชาติ ตามลักษณะของทุนที่มุ่งสะสมทุนจากทุกแห่งบนโลกใบนี้ ซึ่งเราควรรักษาจิตวิญญาณนี้

ขบวนการแรงงานสมัยใหม่ก่อกำเนิดมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ต้นศตวรรษที่ 19 แล้วแต่ประเทศ ศูนย์กลางเริ่มที่อังกฤษ ถัดมาคือฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี สหรัฐอเมริกา การรวมตัวของแรงงานเกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับความอดอยาก ต่อต้านสงคราม รัฐทุนนิยมที่กดขี่ขูดรีด ค้าทาส ใช้แรงงานเด็ก และเสนอรูปแบบสังคมนที่ยุติธรรมในลักษณะปฏิรูปและปฏิวัติโค่นล้มระบบทุนและระบอบการปกครองเผด็จการ เช่น สหพันธ์สากลเพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมาชีพ ในทศวรรษ 1830, กลุ่มศึกษาแนวคิดคอมมิวนิสต์ ปี 1845 ซึ่งหนึ่งในนี้คือ คาร์ล มาร์คซ์ นักสังคมนิยม และยังทำงานใกล้ชิดกับเฟรดเดอริก เองเกลส์ ให้คำปรึกษาแก่กลุ่มศึกษาแนวคิดคอมมิวนิสต์

การประชุมร่วมกันของผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ครั้งแรกเกิดขึ้นที่ลอนดอนเมื่อพฤศจิกายน 1847 ระหว่างกรรมกรชาวฝรั่งเศส เยอรมัน สวิส อิตาลี รัสเซีย และปัญญาชน และร่วมกันก่อตั้งสันนิบาตคอมมิวนิสต์ (Communist League) และมาร์คซ์ได้รับมอบหมายให้เขียนแถลงการณ์ในเดือน ธ.ค.1847 และกลายเป็นคำประกาศแห่งคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1848 (พ.ศ.2391) ซึ่งอยู่ในช่วงการปฏิวัติของกรรมกรในฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี อิตาลี

คำประกาศแห่งคอมมิวนิสต์ได้ตั้งเป้าหมายแรกของการปฏิวัติคือ เอาชนะ ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หมายถึง สังคมนิยมนั้นจะเกิดขึ้นไม่ใช่การกระทำจากบนลงล่าง หรือจากการสมคบคิดกระทำการของชนชั้นนำไม่กี่คน แต่ต้องมาจากชนชั้นกรรมาชีพทั้งหมด โดยต่อสู้อย่างมีการจัดตั้งขององค์กรที่เป็นประชาธิปไตย และจบด้วยการเรียกร้องให้กรรมาชีพทั่วโลกจงรวมตัวกัน ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและทรงอิทธิพลที่สุดจนกลายเป็นคู่มือเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในยุคต่อมา

การกำเนิดของขบวนการสังคมนิยมสากลที่ 1: ความเป็นสากลนิยมของขบวนการแรงงานสังคมนิยมทั่วโลกกับความขัดแย้งกับกลุ่มลัทธิย่อย

ขบวนการสากลที่ 1 (The First International) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 1864 ณ กรุงลอนดอนหรืออีกชื่อคือ สมาคมกรรมกรสากล (The International Working Men’s Association-IWMA) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นนักสังคมนิยม กรรมาชีพชาวอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ มีสำนักงานใหญ่ที่ลอนดอน บริหารโดยคณะมนตรีทั่วไป (general council) มีสมาชิกสาขาย่อยทั่วยุโรป เป็นกรรมกรทุกระดับ รวมองค์กรจัดตั้งทุกรูปแบบของชนชั้นแรงงานเพื่อขับเคลื่อนทางการเมืองต่อต้านระบบทุนทั่วโลก ต่อต้านการแบ่งแยกและปกครองแรงงานในอังกฤษ ฝรั่งเศสกับแรงงานอพยพ และแสดงความสมานฉันท์กับการต่อสู้เพื่อเอกราชในโปแลนด์ อิตาลี ต่อต้านการค้าทาสในสงครามกลางเมืองอเมริกา ณ ขณะนั้น การก่อตั้งสากลที่ 1 จึงสะท้อนความเชื่อมั่นในการต่อสู้ของคนงานในยุโรป

ในบรรดาผู้สนับสนุนสากลที่ 1 ของอังกฤษนั้นมีทั้งผู้นำสหภาพแรงงานที่เป็นสาวกของโรเบิร์ต โอเวน นักสังคมนิยม (ผู้คัดค้านการนัดหยุดงาน) และอดีตชาวชาร์ติสท์ ชาวอิตาลีที่อยากจะปฏิวัติแต่แท้จริงเป็นพวกชาตินิยมและพลพรรคของจูเซปเป้ มาซซินี ยังมีสาวกของปรูดอง อนาธิปปัตย์นายทุนน้อยชาวฝรั่งเศส เช่น โตแลง นักสังคมนิยมยูโทเปียอย่างฟูริเยร์และคาเบต์ รวมทั้งผู้สนับสนุนนักปฏิวัติออกุสท์ บลังกี เข้าร่วมประชุมจัดตั้งคณะมนตรีทั่วไปมาบริหาร มีตัวแทนจากประเทศต่างๆ รวม 34 คนและมาร์คซ์เป็นตัวแทนจากเยอรมัน

การประชุมครั้งแรกจัดที่กรุงเจนีวา ปี 1866 จากนั้นขบวนการแรงงานก็เติบโตอย่างรวดเร็ว มีสหภาพแรงงานใหม่ๆ ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และมีการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมในประเทศต่างๆ ได้แก่ เยอรมันปี 1869 ในเนเธอร์แลนด์ ปี 1870, เดนมาร์ก ปี 1871, โบฮีเมีย 1872, สหรัฐอเมริกา 1876

ไม่แปลกใจที่มาร์คซ์จะเป็นผู้นำการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวแรงงานสากลในฐานะนักสังคมนิยม และหนังสือว่าด้วยทุนเล่ม 1 ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1867 อีกด้วย เขายังช่วยร่างข้อบังคับให้แก่ขบวนการสากลเพื่อให้สามารถเปิดรับคนงานอย่างกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงด้วย ดังที่มาร์คซ์เขียนถึงสหายเยอรมันคนหนึ่งว่า “การปฏิวัติสังคมอันยิ่งใหญ่จะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากผู้หญิง และความก้าวหน้าทางสังคมสามารถวัดได้จากการมีตำแหน่งทางสังคมของคนทุกเพศอย่างยุติธรรม”

จากการที่มาร์กซ์และเองเกลส์ต้องคอยต่อสู้กับแนวคิดปฏิรูปของผู้นำสหภาพแรงงานฉวยโอกาสซึ่งมักจะโน้มเอียงไปร่วมมือทางชนชั้นและการประนีประนอมกับพวกนายทุน เช่น เขามักถูกท้าทายจากพวกซ้ายจัด/ลัทธิอนาธิปไตยในขบวนการ คือศิษย์ของมิคาอิล บาคูนิน และปิแอร์ โจเซฟ ปรูดอง ซึ่งมีอิทธิพลในยุโรปตอนใต้ อย่างในอิตาลี สเปน กล่าวคือ แนวคิดสังคมนิยมเชื่อเรื่องการยึดอำนาจรัฐผ่านการกระทำทางการเมืองของขบวนการแรงงาน แต่พวกอนาธิปัตย์มองรัฐไม่ว่ารูปแบบใดก็เป็นเผด็จการ จึงต้องล้มล้างและแทนที่ด้วยระบอบสหพันธ์ที่มีชุมชนบริหารจัดการ สหภาพแรงงานแทนที่รัฐได้และมีศักยภาพในการปกครองชุมชน รอยร้าวของการแตกแยกระหว่างเจ้าลัทธิย่อยต่างๆ พวกฉวยโอกาสกับมาร์คซ์นำไปสู่การล่มสลายของสากลที่ 1 ในปี 1876

บาคูนินมองว่า มาร์คซ์พูดถึงความสำคัญของชนชั้นกรรมกรเกินจริง ในขณะที่เขาเห็นว่าปัญญาชน นักศึกษา ชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นกลางที่เป็นตัวแทนของระบอบประชาธิปไตยแบบกระฎุมพีมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวแทนการปฏิวัติมากกว่า ด้วยเหตุนี้ บาคูนินจึงเริ่มกิจกรรมของเขา ไม่ใช่ในขบวนการแรงงานสากล แต่ในองค์กรชนชั้นนายทุนในสวิตเซอร์แลนด์ที่เรียกว่าสันนิบาตเพื่อสันติภาพและเสรีภาพ เขาได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลาง เขาคิดว่าเขาสามารถครอบงำองค์กรนี้และใช้ขับเคลื่อนลัทธิอนาธิปไตยของเขาได้ แต่และแล้ว ณ ที่ประชุมสันนิบาตที่กรุงเบิร์น เขาล้มเหลวและแยกตัวออกไป

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ล่มสลายคือ การปราบปรามหลังจากการล่มสลายของคอมมูนปารีส (ชุมชนปกครองโดยกรรมาชีพ ปี 1871) ความพ่ายแพ้ทางทหารที่นักเคลื่อนไหวแรงงาน นักสังคมนิยมเสียชีวิต และลี้ภัยนับหมื่นๆ คน ส่งผลต่อสากลอย่างมากจากการถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกต่อต้านจากรัฐบาลทุนอย่างหนัก กับการเติบโตของทุนและการสร้างประชาติประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของคอมมูนปารีสคือเป็นการกระทำของกรรมาชีพที่มีศักยภาพในการสร้างรัฐและก้าวหน้าทางการเมืองอย่างมาก ส่วนจุดอ่อน คือการไม่เข้ายึดอำนาจรัฐส่วนกลางจนรัฐบาลเดิมสามารถสั่งสมกำลังและกลับมาล้างแค้นได้สำเร็จ และปฏิวัติอย่างโดดเดี่ยว ยังไปไม่ถึงสังคมนิยมปฏิวัติที่มาร์คซ์อยากเห็น คือกรรมาชีพยึดอำนาจรัฐและใช้อำนาจการเมืองนี้ยึดทุนทั้งหมดของชนชั้นนายทุนและจัดตั้งระบอบสังคมใหม่

ประเด็นที่ก้าวหน้าของสากลที่ 1 คือ การทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง กรอบแนวคิดทางการเมือง ทฤษฎีการเคลื่อนไหวให้แก่ขบวนการของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก การปลดแอกประชาชาติและสิทธิการเลือกตั้งของกรรมกร ที่โดดเด่นคือ คำขวัญที่สื่อถึงความเป็นสากลนิยมของขบวนการแรงงานทั่วโลก แม้สากลที่ 1 จะสลายตัว แต่มาร์คซ์และเองเกลส์ยังคงเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงาน และขบวนการแรงงานขยายสมาชิกมากขึ้นนับล้านคน อีกทั้ง มีการก่อตั้งของพรรคสังคมนิยมในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องไปไกลถึงออสเตรเลีย อาเจนตินา ญี่ปุ่น แคนาดา จีน บราซิล ตามลำดับ แม้จะถูกคุกคามจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยมทุนนิยมก็ตาม (ติดตามเรื่องราวของขบวนการสากลที่ 1 เพิ่มเติมและสากลที่ 2 ได้ใน podcast ปลายเดือนก.ค.นี้)

*******************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com