Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

เสรีภาพที่ลวงหลอก : วัฒนธรรมไอดอลในร่มเงาทุนนิยม

โดย รุเธียร

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา วัฒนธรรมไอดอลเป็นสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลค่อนข้างสูงต่อคนหนุ่มสาวและชนชั้นแรงงานในเมือง ชุดความคิดอย่าง “ไอดอลที่คุณสามารถพบได้” หรือ “เด็กสาวข้างบ้าน” กลายเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างไอดอลและศิลปินทั่วไป โดยผ่านการคัดสรรสมาชิกที่มีความสามารถและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หลากหลาย และด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้แฟนคลับได้พบเจอกับไอดอลทำให้พวกเขาซึ่งเป็นผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสมาชิกและทิศทางของวง วงการไอดอลจึงถูกผลิตซ้ำในฐานะที่เป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ พร้อมกับที่บริษัทฉกฉวยกำไรไปอย่างมหาศาลจากกลุ่มแฟนคลับ

ถ้าหากศิลปะถูกรังสรรค์จากศิลปินอย่างเสรี หากพวกมันสะท้อนศักยภาพของศิลปินและยังให้ผู้เสพได้รับแรงบันดาลใจ แต่ในกรณีของไอดอล พวกเธอต้องแลกสิ่งใดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจนี้ เด็กสาวกลุ่มหนึ่งก้าวเข้าสู่วงเพื่อทำตามความฝันในโลกแห่งเศรษฐกิจที่บ้าคลั่ง นั่งอยู่ในตู้กระจกเพื่อเอาใจกลุ่มแฟนคลับที่รายล้อม ยืนอย่างอดทนเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อจับมือกับกลุ่มแฟนคลับที่ต้องเสียเงินแลกกับการจับมือ และกำลังแรงงานที่สูญไปอย่างเปล่าประโยชน์กับการตะกายจุดหมายที่ราวกับจะสงวนไว้โดยพฤตินัยให้กับคนที่มีฐานแฟนคลับหนาแน่นทั้งจำนวนคนและเงินทุน นี่คือปัญหาที่ต่างจากการเป็นศิลปินทั่วไป เพราะการเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพียงปัจจัยการผลิตนั้นแตกต่างอะไรจากการค้าบริการ

ในด้านหนึ่ง วัฒนธรรมไอดอลดทอนผู้หญิงให้กลายเป็นเพียงสินค้าโภคภัณฑ์ที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดภายใต้คำประโลมหลอกว่าด้วยเสรีภาพ เช่นเดียวกันกับการค้าประเวณีที่ระบอบทุนนิยมผลักไสพวกเธอที่ปราศจากทางเลือกให้ก้าวสู่อาชีพที่ไม่มั่นคงและถูกลดทอนเป็นเพียงวัตถุที่จะอยู่หรือลาลับก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บริโภค ถ้าหากสินค้าโภคภัณฑ์คือ “สิ่งที่มีคุณลักษณะอันสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” ซึ่งต้องประกอบทั้งมูลค่าใช้สอยและมูลค่าแลกเปลี่ยน มูลค่าใช้สอยของไอดอลก็คือการสนองตอบต่อความต้องการของกลุ่มแฟนคลับซึ่งเป็นผู้บริโภค ขณะที่มูลค่าแลกเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานต่อไอดอลซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องการผลิตซ้ำตัวเองในสังคมที่ถือเอาระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นพื้น อาจมีข้อโต้แย้งว่าเป็นเจตจำนงอิสระของไอดอลที่จะใฝ่ฝันและเป็นเสรีภาพในการใช้จ่ายเงินของกลุ่มแฟนคลับ แต่ความสมัครใจอย่างเต็มที่ที่จะขายตัวเองเป็นทาสและการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อทาสเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือเปล่า กับวัฒนธรรมที่ราวกับกำลังลดทอนศิลปินให้กลายเป็นเพียงวัตถุที่แลกมาได้ด้วยเงินตราเพื่อสนองโลกอันว่างเปล่าของทุนนิยม กับค่านิยมที่ผลิตซ้ำความใคร่โดยอ้อมในผู้บริโภคที่ปราศจากการเคารพในเกียรติของพวกเธอ ในขณะที่อุตสาหกรรมดังกล่าวกอบโกยกำไรไปจากการขูดรีดผู้หญิง นี่คืออาการปากว่าตาขยิบของอุดมคติแบบเสรีนิยม เมื่อเราเชิดชูความเป็นปัจเจกและเงินตราเป็นพระเจ้า เราก็สูญสิ้นซึ่งความเป็นมนุษย์ที่เสรี

ทั้งไอดอลจนถึงผู้บริการทางเพศ พวกเธอเป็นกรรมาชีพ พวกเธอต้องได้รับความเคารพอย่างเต็มเปี่ยมในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นั่นทำให้เราจำเป็นจะต้องตั้งคำถามกับวัฒนธรรมกระฎุมพีที่ผิดรูปผิดร่างและเป็นอันตรายต่อชนชั้นแรงงาน ในกรณีของไอดอล หากสังคมใหม่ผลิดอกออกผลบนความเท่าเทียม ศิลปะที่แท้จริงจึงจะสร้างขึ้นจากอิสรภาพ ไม่ใช่ด้วยการกดขี่บังคับหรือเงินตรา และไม่ใช่ด้วยการลดทอนผู้สร้างสรรค์ให้กลายเป็นเพียงปัจจัยการผลิต ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ในนามศีลธรรมจอมปลอมของชนชั้นสูง แต่ในนามของการต่อต้านการซื้อขายกำลังแรงงานในตลาดเสรีและการปลดแอกทางเพศ

******************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com