Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

NGOs, CSOs และองค์กรนอกภาครัฐ

โดย สหายดีดี

ปัจจุบันเรามักจะเห็นการใช้คำว่า CSOs (civil society organizations) หรือองค์กรภาคประชาสังคมแบบตรงๆโดยไม่ได้ใส่วงเล็บคำเต็มภาษาอังกฤษหรือแปลไทยกำกับไว้ด้วยบ่อยขึ้น อันแสดงถึงความคุ้นเคยกับคำนี้มากพอสมควรในหมู่ผู้ที่สนใจ แต่สำหรับคนทั่วไปคำนี้คงจะยังไม่เป็นที่รับรู้เท่ากับคำว่าเอ็นจีโอ(NGOs : Non-governmental Organizations) ที่ใช้กันมานานจนแทบจะเป็นคำไทยไปแล้ว ในที่นี้ผู้เขียนจึงจะพิจารณาถึงการปรับใช้คำว่าเอ็นจีโอมาสู่ CSOs ที่มีมากขึ้น

ในระดับสากล องค์กรนอกภาครัฐมีบทบาทมานานแล้ว เมื่อมีการตั้งองค์การสหประชาชาติหรือ UN ขึ้น UN ก็ได้ส่งเสริมให้องค์กรนอกภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสอดรับกับคำประกาศของประธานาธิบดีทรูแมนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มใช้ ”การพัฒนา” เป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลไปทั่วโลกและได้ปฏิบัติตลอดช่วงสงครามเย็น อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวขององค์กรนอกภาครัฐในช่วงสงครามเย็นก็มีข้อจำกัดจากการกลัวว่าอาจถูกป้ายสีโดยรัฐบาลทุนนิยมว่าเป็นแนวร่วมของพวกคอมมิวนิสต์ได้เช่นกัน เมื่อสงครามเย็นจบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและชัยชนะของอเมริกา ระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ได้กลายเป็นกระแสหลักของโลก องค์กรนอกภาครัฐก็ยิ่งเกิดขึ้นอย่างคึกคัก ในช่วงทศวรรษ 1990 จึงได้มีการศึกษาบทบาทขององค์กรนอกภาครัฐอย่างจริงจัง

ในไทย เอ็นจีโอได้เพิ่มจำนวนอย่างมากเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงปลายของสงครามเย็น พคท.กำลังจะหมดบทบาทลง และเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เริ่มขยายตัว สังคมทั่วไปเริ่มรู้จักองค์กรเหล่านี้ในชื่อว่า “เอ็นจีโอ”ที่ทำงานในด้านให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เช่น ความยากจน เด็ก เยาวชน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เป็นต้น ต่อมาบทบาทได้ขยายมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์และขัดแย้งกับรัฐแหลมคมขึ้น เช่น การเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรอย่างที่ดิน น้ำ ป่า ผลกระทบต่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ปัญหาราคาพืชผล สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการเสนอความคิดทางการเมือง เป็นต้น เมื่อเอ็นจีโอแสดงบทบาทวิพากษ์วิจารณ์รัฐมากขึ้นก็ทำให้คำว่าเอ็นจีโอมีภาพลักษณ์เป็นลบในสายตาของรัฐและผู้สนับสนุน

การที่มีความพยายามยกคำว่า CSOs ขึ้นมาเป็นคำหลักมากขึ้น และอ้างว่า CSOs เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับกระแสโลก นับเป็นการสร้างหรือเน้นความสำคัญของคำใหม่อย่าง CSOs ขึ้นมา พร้อมทั้งขีดวงว่าองค์กรนอกภาครัฐที่พึงประสงค์นั่นคือองค์กรแบบ CSOs โดยอ้างว่าสอดคล้องกับระเบียบสากลของ UN อย่าง SDGs (Sustainable Development Goals)หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การพยายามนำคำว่า CSOs มาแทนที่ นับว่าเป็นการรุกพื้นที่โดยรัฐและทุนนิยมต่อผู้ที่เห็นต่างอีกก้าวหนึ่ง ก้าวต่อไปก็คือการออกกฎหมายมาควบคุม “เอ็นจีโอ”ที่ตั้งคำถามกับรัฐมากๆ ดังที่รัฐบาลได้พยายามเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. อยู่ในขณะนี้ ในที่สุดก็จะเหลือเพียงองค์กรนอกภาครัฐแบบ “CSOs” ที่ทำหน้าที่รักษาโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันเอาไว้

สำหรับนักเคลื่อนไหวผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับโครงสร้าง ปัจจุบันนี้คงยังจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจรวมตัวกันอยู่ใน CSOs หรือ NGOs รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จึงจำเป็นต้องหาช่องทางให้กลุ่มผู้เดือดร้อนเหล่านั้นสามารถวิเคราะห์และร่วมกันก้าวข้ามพ้นจุดอ่อนเหล่านั้นไปสู่การแก้ปัญหาระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองอันเป็นต้นตอปัญหาที่แท้จริงได้

*****************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com