Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ปัญหาค่าจ้างถูกแช่แข็งกับการต่อสู้ของอดีตคนงานไก่สดเซนทาโก้

โดย สหายเข็มหมุด

ก่อนที่จะเราประสบวิกฤติโควิด-19 ระบบเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะเดินไปตามปกติ แท้จริงขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานและการดิ้นรนเพื่อค่าจ้างที่เป็นแค่เศษเงินของกำไรเจ้าของโรงงาน มีกรณีหนึ่งที่สะเทือนใจผู้เขียนเป็นอย่างมากคือการเรียกร้องค่าเดินทางเพิ่มแค่ 10 บาท ในขณะที่ค่าจ้างถูกแช่แข็งมานับยี่สิบปี นั่นคือกรณีคนงานไก่สดเซนทาโก้ (จรรยา ยิ้มประเสริฐ. แรงงานอุ้มชาติ 2555) นายจ้างไม่เคยเพิ่มค่าจ้างเลยแม้แต่น้อย แต่มีกำไรมากขึ้นๆ สร้างตึกหลายตึก ในขณะที่คนงานก็สูงวัยขึ้นแต่ค่าจ้างยังเท่าเดิม ไม่เคยมีพอเก็บ อีกทั้ง สภาพการทำงานยังเลวร้าย นายจ้างให้เดินขึ้นบันไดทั้งที่มีลิฟต์ จำกัดการเข้าห้องน้ำ เหล่าคนงานจึงได้ออกมาเรียกร้องต่อสู้กันอย่างหนัก และนายจ้างก็ฟ้องร้องดำเนินคดีคนงานถึง 102 คน เมื่อปี 2548

พวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและพวกฝ่ายขวาที่ชอบท่องว่า ค่าจ้างขึ้นทำให้เงินเฟ้อและเป็นสาเหตุให้สินค้าราคาสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ค่าจ้างเป็นต้นทุนการผลิตที่มีสัดส่วนไม่มากเท่าต้นทุนอื่น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุดิบ อาจไม่จริงในกรณีแบบเดียวกันนี้ กล่าวคือ จากบทสัมภาษณ์เรื่องการแช่แข็งค่าจ้าง จะเห็นว่าแรงงานอดทนทำงานให้นายจ้างมาหลายสิบปีโดยที่ไม่เรียกร้องค่าจ้างเลย บริษัทก็รวยเอาๆ ในระยะเวลาเพียง 3 ปี บริษัทมีกำไรเกือบ 200 ล้านบาท โดยแรงงานแต่ล่ะคนก็ได้บอกเล่าเกี่ยวกับค่าแรงของตนว่า

“ทำงานมา 6 ปี ก็ได้ค่าแรง 175 บาท ป้าเขาก็ต่างกันนิดเดียว ส่วนพี่หนูก็ได้ 175 บาทเหมือนกัน แต่เขาทำงานมา 16 ปี”

“ทำงานโรงไก่มา 18 ปี ก็ได้ค่าแรง 181 บาท” “อยู่มา 25 ปี ตอนนี้กินค่าแรง 238 บาท”

ในส่วนของสถาณการณ์ความเป็นอยู่ ค่าแรงกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไรนั้น คนงานตอบว่า “ก็เดือนชนเดือน วีคชนวีคอย่างนี้ วีคนึงได้แค่สองพันกว่าบาท ถ้ามีทำโอก็สามพันบาท“

คนงานจึงจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในปี 2537 เพื่อเรียกร้องเรียกร้องสวัสดิการและค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยใช้สิทธิจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ระบุว่า ลูกจ้างสามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของตนโดยเสนอข้อต่อรองกับนายจ้างได้ ทว่ากระบวนการตามกลไกกฎหมายดังกล่าว นายจ้างปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย การยื่นข้อเรียกร้องครั้งแรกมี 4 ข้อ ได้แก่ 1) บรรจุพนักงานที่ผ่านการทดลองงาน 4 เดือน เป็นลูกจ้างประจำ 2) จ่ายเบี้ยขยันตามอายุงาน 3) จ่ายค่าเดินทางวันละ 5 บาท และ 4) ชุดทำงานปีละ 2 ชุด และผ้ากันเปื้อนปีละ 1 ชุด

สหภาพแรงงานไก่สดเซ็นทาโก้ ยื่นข้อเรียกร้องในปี 2545 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะสหภาพยอมยุติการเจรจา เพื่อแลกกับการให้บริษัทรับสมาชิก 9 คน ที่ถูกเลิกจ้างระหว่างการเจรจากลับเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานต่อสู้เรียกร้องค่าเดินทางและสวัดิการต่างๆ มาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง เมื่อ 10 พ.ค. 48 สามปีต่อมาก็ยังไม่ได้ข้อตกลงใดๆ จากนายจ้าง แม้มีการปิดงานและนัดหยุดงานเป็นระยะ จนวันที่ 29 ส.ค. 48 บริษัทก็ประกาศให้พนักงานเริ่มทำงาน แต่บริษัทก็ได้โยกย้ายตำแหน่งงาน เปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน ทั้งยังกีดกันสมาชิกสหภาพแรงงานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งกล้องวีดีโอ กล้องวงจรปิด หรือแม้แต่ให้ชายฉกรรจ์มายืนคุมงาน

ขณะที่ตัวแทนสหภาพแรงงานเซ็นทาโก้ออกมาแสดงความเห็นว่า “ขณะนี้ยังไม่เข้าใจว่าแรงงานสัมพันธ์คืออะไรกันแน่ หรือคือการที่ลูกจ้างต้องยอมรับอำนาจของนายจ้าง แม้จะมีการเจรจาก็จริง แต่ผู้รับมอบอำนาจเต็มมาเพื่อมาเจรจานั้นมีอำนาจเฉพาะแค่วันนั้น แต่ไม่มีอำนาจไปพิจารณาต่อได้ สำหรับการเจรจาที่ผ่านมา 22-23 ครั้ง นายจ้างก็บอกอย่างเดียวว่าให้ไม่ได้”

จะเห็นได้ว่า คนงานติดกับดักค่าจ้างราคาถูกมานาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องนายจ้างให้ขึ้นค่าจ้างไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานายจ้างทำทุกวิถีทางเพื่อบีบคนงาน ทั้งทางกฎหมาย บีบให้ออก ใช้ความรุนแรง ละเมิดสิทธิแรงงาน แต่รัฐไทยกลับนิ่งเฉยและเข้าข้างนายทุนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่เคารพการรวมตัวของคนงานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวจัดตั้งและเจรจาต่อรองร่วม เพราะรัฐไทยส่งเสริมระบบทุนนิยมและ คนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจก็มีอำนาจการเมืองในระบบนี้ด้วย เช่นนี้แล้วการที่คนหยิบมือเดียวเข้าถึงอำนาจทางการเมืองจะเรียกว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร แรงงานหรือสหภาพแรงงานไม่อาจเรียกร้องค่าจ้างสวัสดิการที่เป็นธรรม หากไม่ทำให้โครงสร้างการเมืองการบริหารเป็นประชาธิปไตยอย่างถึงราก

*******************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com