โดย วัฒนะ วรรณ
การแปรรูปรถเมล์เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ดำเนินผ่านหลายรัฐบาล หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ เมื่อรัฐบาลไทยจำเป็นต้องกู้เงินจาก IMF เพื่อแก้วิกฤติ และต้องเชื่อฟัง IMF ลดงบประมาณของรัฐ โดยเฉพาะงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมเพื่อให้มีเงินใช้หนี้ แนวคิดเบื้องหลังของเรื่องนี้เกิดจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ ที่มีอิทธิพลในองค์กรโลกบาลของทุนนิยม และมันสอดคล้องกับแนวคิดหลักของรัฐทุนนิยมไทยด้วย
แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) ที่คลั่งกลไกตลาดเสรี มองว่ากลไกตลาดมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ของสังคมดีที่สุด มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยคำว่าประสิทธิภาพถูกใช้เป็นข้ออ้างในการแปรรูปรถเมล์และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย
แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาสามารถใช้เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า “กลไกตลาด” ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงสำหรับการสร้างประสิทธิภาพในการบริหารสังคม สร้างความเท่าเทียม คุณภาพจะเน้นเฉพาะคนมีเงิน ส่วนคนส่วนใหญ่ที่ยากจนต้องทนใช้บริการขนส่งสาธารณะคุณภาพแย่ อันตราย
การที่บริษัทต่างๆ ที่ให้บริการขนส่งสาธารณะ มีความพยายามลดคุณภาพการบริการลงก็เพื่อปกป้องกำไรเป็นพื้นฐานหลัก กรณีรถเมล์การปรับขึ้นค่าโดยสารจะเป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนจะไม่พอใจได้ถ้ามีการขึ้นค่าบริการสูงมากเกินไป เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีเงินไม่มาก ค่าจ้างปรับเพิ่มช้า การลดคุณภาพงานบริการจึงเป็นทางเลือกในการรักษากำไรเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการผูกค้าจ้างพนักงานกับผลงาน ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันแย้งลูกค้าจนเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการใช้รถเก่า เป็นต้น
แต่ในภาพรวมที่กลุ่มทุนและพวกเสรีนิยมสนับสนันการแปรรูปบริการรัฐ ไม่ได้เพื่อหวังประโยชน์โดยตรงต่อการเข้าไปรับบริการแทนรัฐทั้งหมด แต่มาจากการลดงบประมาณรัฐในการบริการประชาชนลง มันช่วยไม่ให้รัฐพยายามที่จะเก็บภาษีจากบริษัทใหญ่ๆ และคนรวยมากๆ เพิ่ม มันส่งผลทางอ้อมต่อชนชั้นนายทุนทั้งระบบ
แต่จริงๆ แล้วภายใต้ระบบทุนนิยมการเดินทางมีความสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ เพราะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ ซึ่งจะไปช่วยลดต้นทุนทางการผลิตในอีกชั้นหนึ่ง เช่น อัตราการสูญเสียในการผลิตลดลง หรืออัตราการความเร็วในการทำงานสูงขึ้น เราจึงเห็นบางบริษัทจัดรถรับส่งพนักงาน เพื่อลดชั่วโมงการเดินทาง ลดการเหนื่อยล้าจากการเดินทาง และเข้าทำงานตรงเวลา ถ้าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่ามูลค่าสินค้าที่แรงงานผลิตเพิ่มได้
แต่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเพิ่มต้นทุนตรงนี้ จึงผลักภาระไปให้ลูกจ้างรับผิดชอบเอง ด้วยกังวลสภาพการแข่งที่ต้นทุนต้องเพิ่มขึ้น ในบางบริษัทที่มีสหภาพแรงงาน หรือมีการต่อรองกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง บริการรถรับส่งจึงเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งเพื่อเพิ่มสวัสดิการให้กับกรรมาชีพ
ดังนั้นการผลักดันให้เกิดบริการขนส่งสาธารณะฟรีในแต่ละบริษัทอาจจะทำได้ยากกว่าการผลักดันโดยรวมทั้งระบบผ่านรัฐ เนื่องจากชนชั้นนายทุนทั้งระบบจะไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนักในเรื่องต้นทุนเพิ่มขุ้นเมื่อต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
**********************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6