Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ลดเวลาการทำงานในยุโรปเป็นเรื่องปาหี่

โดย แพรพลอย

สำหรับกรรมาชีพในโลกแห่งทุนนิยม “งาน” นั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพราะ1.ระบบทุนนิยมบังคับให้เราทำงาน ถ้าเราไม่ทำงาน เราก็อดตาย และ 2.แม้ว่าระบบทุนนิยมจะบังคับให้เราทำงานโดยอัตโนมัติแต่ไม่มีกฎหมายบังคับให้นายทุนต้องจ้างคนงานทุกคน เสรีภาพในการเลือกที่นายทุนมอบให้เราในระบบอันป่าเถื่อนนี้ คือตัวเลือกระหว่างทำงานหนักแต่ได้ค่าแรงน้อยต่อไปหรือลาออกแล้วอดตาย

ชีวิตและงานในระบบทุนนิยม ทำให้กรรมาชีพไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองปรารถนา ณ ตอนนี้เรากำลังยืนอยู่ในศตวรรษที่ 21 ยุคที่โตโยต้าใช้เวลาในการประกอบรถ 1 คันไม่เกิน 1 นาที ยุคที่การติดต่อสื่อสารกันจากซีกโลกหนึ่งถึงอีกซีกโลกหนึ่งใช้เวลาพริบตาเดียวจากที่เคยใช้เวลาเป็นเดือน จอห์น เมย์นารด์ เคนส์ เคยทำนายไว้ในบทความชื่อ “ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจสำหรับลูกหลานของเรา” ที่ออกมาในปี 1930 ว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยให้มนุษย์ทำงานน้อยลงเหลือ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ทว่าปัจจุบันค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานมาตรฐานตามกฎหมายในโลกกลับอยู่ที่ 40-44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งนับว่าไกลจากสิ่งที่เคนส์เคยทำนายไว้มาก

สองปีที่ผ่านมาหลังเกิดโรคระบาด โควิด-19ไม่ได้เป็นเพียงแค่ไวรัส แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เปิดเผยเนื้อแท้ของโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ ความรุนแรง และความเหลื่อมล้ำ การระบาดโควิดทำให้หลายคนต้องทำงานจากที่บ้าน ฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร การทำงานจากที่บ้านที่ไม่ต้องฝ่ารถติดเช้าเย็นไปทำงานเป็นความฝันของใครหลายๆ คนด้วยซ้ำ แต่ความเป็นจริงได้พิสูจน์แล้วว่านโยบายนี้ที่มาจากนายทุนทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “ชีวิตการทำงาน” และ “ชีวิตส่วนตัว” ของพนักงานค่อยๆ หายไปอย่างช้าๆ กรรมาชีพแทบจะไม่มีเวลาส่วนตัว การทำงานหลังชั่วโมงการทำงานกลายเป็นเรื่องปกติ จนในที่สุด “ปัญหาหมดไฟในการทำงาน” ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่หลังโควิด

นายทุนในหลายประเทศได้ลองลิ้มชิมรสกับปัญหาการลาออกระลอกใหญ่ ในขณะเดียวกันก็หาคนเข้ามาทำงานใหม่ยาก และเป็นเหตุให้รัฐบาลเสรีนิยมในหลายประเทศนำนโยบายลดเวลาการทำงานขึ้นมาพิจารณา

แสร้งว่าซ้ายในเบลเยียม

เบลเยียมเป็นประเทศที่รัฐบาลพึ่งรับนโยบายลดจำนวนวันทำงานจาก 5 วันเป็น 4 วันลงไปหมาด ๆ โดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มสมดุลในชีวิตส่วนตัวและการทำงานของพนักงาน (Work life balance) และเพิ่มผลิตภาพการทำงาน (Productivity) ฟังดูแล้วเหมือนจะดี แต่กรรมาชีพชาวเบลเยียมยังคงต้องทำงานเต็มเวลาเท่าเดิม ว่ากันอย่างง่าย ๆ แทนที่กรรมาชีพชาวเบลเยียมจะต้องทำงาน 40 ชั่วโมงภายใน 5 วัน กฎหมายใหม่อนุญาตให้ทำงาน 40 ชั่วโมงภายใน 4 วันหรือ 10 ชั่วโมงต่อวันแทน เพื่อแลกกับวันหยุดประจำสัปดาห์เพิ่มขึ้นหนึ่งวัน และหากนายจ้างมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ก็สามารถเขียนอธิบายเหตุผลแจ้งกับทางรัฐได้ แต่ปัญหาคือ “จำนวนชั่วโมงการทำงาน” ไม่ใช่ “จำนวนวัน” ดังนั้นนโยบายนี้จึงเพียงแค่ละครปาหี่

สเปนและฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มองต่างออกไป ปัญหาคือชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ดังนั้นก็ต้องลดชั่วโมงการทำงานไม่ใช่ลดวัน 3 ปีก่อนบริษัทซอฟต์แวร์ Delsol ในสเปนได้ทดลองลดเวลาการทำงานลงเป็น 32 ชั่วโมง (8 ชั่วโมงต่อวัน 4 วันต่อสัปดาห์) โดยไม่ลดเงินเดือน ปรากฏว่าอัตราการลางานลดลง 20% ขณะเดียวกันบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 20% ทำให้หลายบริษัทในสเปนเริ่มทำการทดลองแบบเดียวกันและมีผลไปในทางบวก และทำให้ในปีนี้รัฐบาลสเปนจึงรับพิจารณานโยบายลดเวลาการทำงานลงเหลือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ของพรรค Más País พรรคฝ่ายซ้ายและสหภาพแรงงาน โดยจะเริ่มอัดฉีด 50 ล้านยูโรให้แก่ 200 บริษัทที่เข้าร่วมในการทดลองนี้เป็นเวลา 3 ปี

เทคโนโลยีช่วยให้นายทุนจ้างคนน้อยลงและทำให้งานหลายงานต้องหายไปอย่างต่อเนื่องในนามของผลกำไร เช่น ในปี 2020 อะเมซอนเปิดตัวซุปเปอร์มาร์เก็ตไร้แคชเชียร์เป็นครั้งแรก และเพิ่มเป็น 42 สาขาภายในปีเดียว ปัจจุบันนายทุนหลายเจ้าก็กำลังเอาอย่างอะเมซอน กรรมาชีพไม่มีปัญหากับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ทุ่นแรงงานหรือทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น ปัญหาของเราคือการที่รัฐทอดทิ้งและให้เผชิญชะตากรรมโดยลำพังอย่างไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ ทร๊อตสกี้ เสนอในงาน “นโยบายระยะเปลี่ยนผ่าน” (The transitional program) ว่าในการต่อสู้กับปัญหาคนตกงาน ชนชั้นแรงงานต้องแบ่งงานกันทำ ลดเวลาในการทำงานลง ในขณะที่ค่าแรงต้องเท่าเดิม และค่าจ้างจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของราคาอย่างเคร่งครัด

ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ประสบกับปัญหาเดียวกันนี้ ดังนั้นสหภาพแรงงานและฝ่ายซ้ายหลายคนจึงเสนอไอเดียแบ่งงานกันทำ โดยเคยมีการเสนอให้ “ลดเวลาการทำงานลง 10% เพื่อเพิ่มงานในระบบขึ้น 10%” ข้อเสนอนี้กลายเป็นกฎหมายในปี 2000 ส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานตามกฎหมายเปลี่ยนจาก 39 ชั่วโมงเป็น 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่โดยค่าเฉลี่ยแล้วในปัจจุบันคนฝรั่งเศสกลับทำงานประมาณ 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในปี 2004 มิเชล อูสซง นักสถิติและนักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เปิดเผยสถิติที่เก็บได้หลังการปฏิรูปชั่วโมงการทำงานที่แสดงว่าการเปลี่ยนผ่านนั้นมีปัญหาอยู่หลายจุดและประนีประนอมกับนายทุนมากเกินไป

ประการแรกการลดเวลางานลง 10% ทำให้มีงานเพิ่มจริงแต่ไม่ถึง 10% ตามที่คาด เพราะพนักงานในบริษัทขนาดเล็กที่มีความยืดหยุ่นน้อยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้ และการที่กฎหมายเปิดช่องว่างให้อนุญาตให้ทำโอทีจุดนี้ถือเป็นจุดอ่อนของนโยบาย เช่น บริษัทผลิตรถยนต์เปอโยต์ เมื่อรัฐกำหนดให้เวลาในการทำงานต่อสัปดาห์เป็น 35 ชั่วโมงแต่ยังคงมีโอทีอยู่ สิ่งที่เปอโยต์ทำไม่ใช่การจ้างงานเพิ่มตามที่รัฐคาด แต่เป็นการบริหารจัดการพนักงานที่ตนเองมีอยู่เสียใหม่ ทำให้เวลางานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เปอโยต์ไม่ได้นับชั่วโมงการทำงานเป็นรายสัปดาห์แต่เป็นรายปี กล่าวคือ ในช่วงที่มีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก พนักงานต้องทำงานมากกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และบริษัทเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวในช่วงที่มีคำสั่งซื้อลดลง ทำให้ในภาพรวมรายปีพนักงานทำงานโดยเฉลี่ย 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันบริษัทไม่ต้องจ้างคนเพิ่มและประการสุดท้ายนายทุนใช้ช่องว่างจากการที่รัฐอนุญาตให้ทำโอทีนี้ จ่ายค่าโอทีพนักงานแทนการขึ้นเงินเดือน ด้วยเหตุนี้สำหรับพนักงานแล้วการทำโอทียังคงเป็นสิ่งจำเป็น

ลดเวลาการทำงานเป็นไปได้ ปัจจุบันกฎหมายไทยกำหนดให้กรรมาชีพทำงานได้สัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง หรือ8 ชั่วโมงต่อวัน และให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ๆ ละ1 วัน ซึ่งทำให้นายจ้างสามารถออกกฎให้พนักงานทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ได้ และด้วยค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่พอใช้ทำให้ลูกจ้างต้องจำใจยอมทำโอที และส่งผลให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไปอย่างมาก กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าการทำงานหนักไม่ได้ทำให้กรรมาชีพรวยขึ้น การลดชั่วโมงงานและแบ่งงานกันทำโดยได้เงินเดือนเพียงพอต่อการดำรงชีวิตไม่ใช่แค่ฝันกลางวัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

*******************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com