Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

นักมาร์กซิสต์คิดอย่างไรกับกฎหมายแรงงาน

โดย สมทรง ตรีแก้ว

ปรากฎการณ์ไข้หวัดโควิดได้เปิดโปงความคิดของชนชั้นนายทุนให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ชนชั้นนายทุนพร้อมที่จะทอดทิ้งแรงงานให้อดตายเมื่อพวกเขาไม่มีกำไรจากการทำธุรกิจ เรามักจะเห็นบริษัทต่างๆ เลิกจ้างคนงานอยู่เป็นจำนวนมาก การตกงานเป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดและลำบากให้กับชีวิตคนงานเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตในแต่ละครั้ง ชนชั้นแรงงานได้สร้างผลกำไรให้กับนายทุนอย่างมหาศาล

โดยสภาพแล้วระบบทุนนิยมมันมีกลไกบังคับให้ทุกคนต้องทำงาน เพราะถ้าไม่ทำงานก็จะไม่มีเงิน แต่รัฐในระบบทุนนิยมไม่ได้บังคับให้ชนชั้นนายทุนจ้างคนงานทุกคน แม้ว่ารัฐได้บัญญัติกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อมิให้นายจ้างปฎิบัติกับลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ห้ามนายจ้างเลิกจ้างหากลูกจ้างมิได้กระทำความผิด (นั่นหมายความว่า ถ้าลูกจ้างทำผิดกฎหมายหรือข้อบังคับแล้ว นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้) และถ้าเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายแรงงานฟ้องให้นายจ้างรับกลับเข้าไปทำงานได้ หรือถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือเลิกจ้างเพราะปรับปรุงกิจการ กฎหมายแรงงานบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงาน

กรรมาชีพล้วนต้องการงานที่มั่นคง และรายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เมื่อเจ็บป่วยไม่ว่าเจ็บป่วยจากการทำงาน หรือจากสภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมไปตามเวลา ก็ไม่อยากให้นายจ้างเลิกจ้าง และอยากได้รับการคุ้มครองไม่ว่าจากนายจ้างหรือรัฐให้มีงานทำ

รัฐทุนนิยมมักจะปลอบประโลมเราอยู่เสมอว่า รัฐช่วยเหลือให้คนงานได้รับความยุติธรรมด้วยกฎหมายแรงงานคุ้มครองลูกจ้าง แต่เมื่อเราพิจารณาจากฎหมายแรงงานที่มีอยู่ในสังคมไทย อ่านแล้วดูดีราวกับว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานปกป้องคนงานไม่ให้นายจ้างปฎิบัติต่อคนงานอย่างไม่เป็นธรรม แน่นอนว่ามันช่วยเราได้ในแค่บางส่วน แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว กฎหมายแรงงานนี้ไม่ได้บังคับให้นายจ้างต้องจ้างลูกจ้างทุกคน และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มันคุ้มครองแรงงานเพียงว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด เช่น กำไรน้อยลง ลดต้นทุน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น การเลิกจ้างของนายจ้างเป็นสิทธิของนายจ้างอยู่เสมอ ไม่ว่าเขาจะประสบวิกฤตหรือไม่ก็ตาม อีกทั้งการจ้างงานก็เป็นสิทธิของนายจ้างมากกว่าสิทธิของลูกจ้างที่จะทำงาน (Right to work)

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นักมาร์กซิสต์ จึงมองว่า แม้ว่ากฎหมายแรงงานที่มีอยู่จะช่วยคุ้มครองลูกจ้างได้บ้าง แต่เมื่อเทียบกับกำไรที่นายจ้างได้รับจากแรงงานของคนงานแล้วถือว่าน้อยมาก และกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ก็ยังทำให้ นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้อยู่ดี ซึ่งส่งผลให้งานของลูกจ้างไม่มั่นคง การที่ลูกจ้างจะรักษาตำแหน่งงานให้ได้ตลอดจนวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งจะทำให้สังคมอ่อนแอ

แต่แรงงานจะขจัดปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงานได้ และมีสภาพชีวิตที่ดี ต้องรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง แต่สหภาพแรงงานจะต้องไม่พูดแค่เรื่องปัญหาปากท้อง หรือค่าจ้างขั้นต่ำ หรือสวัสดิการในบริษัทเท่านั้น เพราะหากนายจ้างปิดกิจการ สิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น สหภาพแรงงานต้องยกระดับเรื่องปากท้อง สวัสดิการการจ้างงาน ให้เป็นประเด็นการเมืองเพื่อความมั่นคงของชนชั้นแรงงานทั้งชนชั้น

****************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com