Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

สัมภาษณ์ผู้ชุมนุม 10 สิงหา “ประชาธิปไตยต้องไปต่อ”

โดย สหายเข็มหมุด

เนย อสมา ตัวแทนนักศึกษา มธ.ขึ้นปราศรัยบนเวที วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ถูกแก้ไข แถมแย่ขึ้นมากกว่าเดิม และเมินเฉยต่อนักศึกษาที่ติดคดีการเมือง

ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงได้ขึ้นพูดบนเวทีว่า ชีวิตคนงานและประชาชนหาเช้ากินค่ำไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นเลย แย่ลงด้วยซ้ำ คนทำงานหนักมากขึ้นจากที่ข้าวของแพง น้ำมันแพงขึ้น แต่ค่าจ้างไม่ถูกปรับขึ้นให้สอดรับกับค่าครองชีพ

คำถาม: อยากทราบว่าคิดยังไงกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเทียบกับสองปีที่แล้ว?

เนย อสมา: เรามองว่า ม็อบ 10 สิงหานี้ เป็นม็อบที่จุดประกายความหวังของผู้คน ให้แสงที่มันริบหรี่ แทบจะดับไปแล้วกลับมาลุกขึ้นอีกครั้ง และเป็นการตอกย้ำว่าเรายังอยู่ในประเทศที่มีเผด็จการ อยู่ในประเทศที่ยังกดขี่ผู้คนอยู่ทุกๆ วัน อยู่ในประเทศที่มีคนฆ่าตัวตายอยู่ทุกๆ วัน

ศรีไพร นนทรีย์: ก่อนมีการพูดถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มันเหมือนเรามองออกไปข้างหน้ามันมีแต่ความมืดมิด มันมืดมิดแบบนี้มานานผ่านความกลัว แต่พอมีการพูดถึง 1 ความฝันจนมาถึงการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ณ วันนั้นมันทำให้เห็นแสงสว่าง และมันกลับสว่างมากขึ้นเรื่อย ๆ ใน 2 ปี มันส่องสว่างจนทำให้คนจำนวนมากไปค้นหาว่าที่ผ่านมันเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่าง ในส่วนของแรงงานนี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเยอะนะ คนงานเข้าใจได้ไวขึ้นว่า หากจะลดความเหลื่อมล้ำได้ ไทยต้องมีรัฐสวัสดิการ และเราจะมีรัฐสวัสดิการได้ก็ต้องมีการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรม ซึ่งจะทำให้คนยากจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทีนี้ลองหันกลับไปมองการจัดสรรงบประมาณมันสร้างความเลื่อมล้ำได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เลยนะในสิ่งที่รัฐเผด็จการกำหนด

คำถาม: มีแผนจะสู้กับเผด็จการ นายทุนยังไงต่อ

ศรีไพร นนทรีย์: แผนการต่อสู้ ตั้งกันไว้ว่าจะทำโรงเรียนการเมือง จำเป็นที่ต้องเรียนรู้ทฤษฎีไปพร้อมการปฏิบัติ จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คงเข้มข้นขึ้นภายใต้สถานการณ์การเมืองแบบนี้

คำถาม: คิดอย่างไรกับการชุมนุมม็อบสันติวิธี สไตรค์หยุดงาน?

ศรีไพร นนทรีย์: มันคือวิธีการต่อสู้ที่นักสหภาพแรงงานใช้กันทั่วโลก ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังคงใช้อยู่และก็สามารถทำให้บรรลุผล ซึ่งถ้าเราทำได้เราก็จะมีอำนาจการต่อรองสูงมากเช่นกัน ลองนึกภาพดูนะ เอาแค่คนทำงานขนส่งนัดหยุดงานแค่เพียงสัปดาห์เดียวจะเกิดอะไรขึ้น

คำถาม: มีวิธีอย่างไรในการรวมตัวนักศึกษา หรือแรงงาน

เนย อสมา: เราคิดว่าการรวมตัวของแรงงานหรือว่าการรวมตัวของนักศึกษา สิ่งที่สำคัญเลยคือ การสร้างอารมณ์ร่วมหรือว่าสร้างประสบการณ์ร่วม คือทุกครั้งที่เราอธิบายหรือว่าปราศรัยในม็อบ เราจะพูดประสบการณ์ที่เราเคยเจอและประสบการณ์ที่ทุกคนเคยเจอเหมือนกัน อย่างประเด็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อธิการบดี เราก็มองว่าทุกคนได้รับปัญหาและประสบพบเจอประเด็นเดียวกันทั้งหมด พอเราพูดในสิ่งที่เขาประสบพบเจอมา มันก็เป็นการสร้างกำลังใจ สร้างความหวังให้เขายังคงสู้ ให้เขายังคงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับเผด็จการ เผชิญหน้ากับสิ่งอยุติธรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา

ศรีไพร นนทรีย์: ถ้าต้องการบรรลุเป้าหมายไว ก็ต้องทำงานจัดตั้งให้หนักไม่ว่าจะอยู่ในขบวนนักศึกษา หรือแรงงาน ถ้าเราสู้แบบไปเป็นขบวน มันจะเหนียวแน่นกว่าการสู้แบบเดี่ยว

คำถาม: มองอนาคตชีวิตของแรงงาน นักศึกษาในประเทศในอีก 5 ปีนี้ไว้อย่างไร

ศรีไพร นนทรีย์: ถ้านับจุดเริ่มต้นจากปัจจุบัน นักศึกษากับแรงงานน่าจะสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันได้มากกว่านี้นะอีก 5 ปี จากที่เห็นคือ ลูกคนงานที่เรียนอยู่ประถม มัธยม พวกเขาเข้าใจสถานการณ์การเมืองเกินพ่อแม่ไปแล้ว ส่วนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในปัจจุบันก็จะก้าวไปเป็นคนทำงาน เด็กประถมโตขึ้นมาอยู่มัธยมปลาย เด็กมัธยมปลายไปอยู่มหาวิทยาลัย หรือไปเป็นคนทำงาน พื้นฐานความเข้าใจทางการเมืองจะอยู่ในระดับเดียวกัน มันก็ง่ายต่อการพูดคุยเรื่องการเมืองสู่การเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปได้สูง หรือถ้ายังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ขบวนการประชาธิปไตยมันก็ไปไกลเกิน กว่าที่จะกลับเข้าถ้ำเหมือนอย่างในอดีตแล้วหล่ะ ตอบสั้นๆ ก็นักศึกษากับแรงงานน่าจะเป็นเนื้อเดียวกันได้ เนื้อเดียวในการต่อสู้นะ แต่นับจากวันนี้พวกเราก็ต้องทำงานจัดตั้งให้หนักมากขึ้น

**************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com