โดย สหายดีดี
ปัจจุบันมีการกล่าวกันมากว่ามนุษย์เราได้ก้าวมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ อยู่ในยุคการปฺฏิวัติอุสาหกรรมครั้งที่ 4 แล้ว มีการเสนอว่ายุคนี้ระบบดิจิตอลมีส่วนสำคัญในการกำหนดทั้งพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต ความก้าวหน้าของการสื่อสารได้ทำให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการและผู้หาบเร่ออนไลน์ที่ก้าวหน้าและสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ไม่ยากนัก ปัจจัยการผลิตสำคัญที่ผู้ประกอบการในยุคดิจิตอลต้องการเป็นเจ้าของคือข้อมูลข่าวสาร ความรู้ความสามารถที่มากพอ และแพลตฟอร์มในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการยกระดับทางเศรษฐกิจสังคมรวมถึงทางการเมืองของตนผ่านโครงการอย่างเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เป็นต้น ถ้าจะมองการขูดรีดในมุมนี้ก็กล่าวได้ว่าผู้ที่ถือครองหรือเข้าถึงปัจจัยการผลิตแบบใหม่เหล่านี้เองคือผู้ขูดรีดในยุคดิจิตอล
ปัญหาที่ตามมาจากแนวการวิเคราะห์ข้างต้นคือมันได้บิดเบือนให้คนหันมาให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มอันเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนซื้อขายกระจายสินค้าไปสู่สังคมซึ่งผู้ที่กุมเวทีนี้มาโดยตลอดคือนายทุน ดิจิตอลได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่อาจเป็นกรรมกร ชาวนาหรือลูกหลาน พนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ ฯลฯ มีความหวังและทุ่มเทกำลังของตนลงไปบนแพลตฟอร์มที่นายทุนคุมอยู่ว่านั่นคือการประกอบการของตนอย่างเสรี และอาจจะประสบความสำเร็จได้จริง โดยปิดตาข้างหนึ่งที่นายทุนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าของแพลตฟอร์มที่แท้จริงยิ่งได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวมากกว่ามาก
ในขณะที่มีการให้ความสำคัญกับภาคส่วนของการแลกเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มของเศรษฐกิจแบบดิจิตอล แต่เมื่อหันกลับมามองถึงภาคส่วนของการผลิตที่แท้จริงของสังคมไทยกลับยังให้ความสำคัญกับการผลิตใน/นอกภาคการเกษตร การจัดแบ่งกลุ่มคนก็ยังใช้เกณฑ์แบ่งตามที่อยู่อาศัยใน/นอกเขตเทศบาล ส่วนปัจจัยการผลิตก็ยังเป็นแบบเดิมๆ เช่น ที่ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ โรงงาน แรงงาน เงินทุน เป็นต้น จากสถิติเท่าที่เผยออกมาก็พบว่าการถือครองหรือการเข้าถึงปัจจัยการผลิตในสังคมมีความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าผู้ที่ได้เปรียบในการถือครองปัจจัยการผลิตก็คือนายทุนนั่นเอง
ดังนั้นแม้จะอยู่ในยุคดิจิตอลแล้วก็ตามแต่การขูดรีดก็ยังเป็นไปตามลักษณะเดิมๆของทุนนิยม ในประเทศไทยเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้เริ่มต้นมาอย่างน้อยตั้งแต่สนธิสัญญาบาวริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วจนถึงปัจจุบันนับเวลาได้เกินกว่าศตวรรษครึ่งไปแล้ว นานพอที่จะทำให้ทุกคนตกอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการผลิตและถูกขูดรีดอย่างสาหัสจากระบบทุนนิยมโดยถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกเขตเทศบาล ไม่ว่าจะอยู่ในคราบของเกษตรกรหรือกรรมกรซึ่งจากสถิติของทางการก็พบว่าปัจจุบันคนไทยที่อยู่ในภาคเกษตรลดลงจนมีจำนวนพอๆกับในภาคเกษตรและมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
ถ้ามองอย่างรวบรัดจากรูปลักษณ์ภายนอกของผู้เสียเปรียบในระบบทุนนิยมในไทยในยุคดิจิตอลก็กล่าวได้ว่า ได้มีผู้ทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิตอลเพิ่มขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งจากเดิมที่เคยมีแต่กลุ่มกรรมกรและชาวนา ทั้งสามกลุ่มนี้กลุ่มกรรมกรยังเป็นด่านหน้าเชิงโครงสร้างในการต่อสู้กับระบบทุนนิยม สิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปก็คือจะทำให้ทั้งสามรวมตัวกันได้อย่างไร ขณะนี้แต่ละภาคส่วนยังแยกกันอยู่ เกษตรกรและกรรมกรอาจเรียกร้องกับรัฐและถูกเบี้ยวข้อตกลงอยู่เสมอ ส่วนผู้ที่เคลื่อนไหวบนโลกดิจิตอลก็พบกับการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร การแยกกันอยู่ทำให้คิดฝันกันคนละทาง ขาดพลัง และไปเห็นด้วยกับแนวทางของการขับเคลื่อนเพียงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือมากสุดก็แค่การลดเพดานการแก้ปัญหาทั้งระบบให้เหลือเพียงแค่ร่วมมือกับนายทุนเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยของนายทุนให้ได้ก่อน ทั้งที่ทุนนิยมอยู่กับสังคมไทยมานานแล้ว ถ้าเห็นว่าโลกดิจิตอลได้ทำให้โอกาสของทุกคนมีเท่ากันก็ถึงเวลาที่กรรมกร ชาวนา และผู้ทำงานบนโลกดิจิตอลจะรวมตัวกันสร้างประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ท้าทายชนชั้นนายทุน เช่น ผ่านการเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการ และก้าวสู่สังคมนิยมต่อไปได้
********************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6