โดย คิริฮาระ
นักมาร์กซิสต์มองว่าศาสนาเป็นเพียงปรัชญาหนึ่งที่สร้างขึ้นมาโดยมนุษย์เอง หากเรามองไปที่ศาสนาต่างๆ ก็จะพบว่าศาสนาทุกศาสนาล้วนมีคำสอนเกี่ยวกับความเมตตา ความรักใคร่และไม่สนับสนุนการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ทุกอย่างตั้งอยู่บนอุดมคติที่บอกให้แค่คุณเชื่อและทำตามด้วยศรัทธาจริง คุณก็จะพบกับความสุขโดยแท้
คาร์ล มาร์กซ์มองว่ามนุษย์สร้างศาสนาขึ้นมาจากความเป็นจริงที่เบี่ยงเบน พยายามสร้างสวรรค์ในโลกจริงที่เป็นนรก
มาร์กซ์เคยเขียนว่า “ความทุกข์ของมนุษย์ที่มีรูปแบบออกมาทางศาสนาคือความทุกข์จริง ศาสนาคือการประท้วงต่อความทุกข์จริง คือการถอนหายใจของผู้ถูกกดขี่ คือหัวใจในโลกที่ไร้หัวใจ คือวิญญาณในสภาพไร้วิญญาณ คือฝิ่นของประชาชน”
จะเห็นได้ว่าศาสนาคือแนวคิดจิตนิยมที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของโลกความเป็นจริงเท่าไหร่นัก เพราะปัจจัยในการใช้ชีวิตของมนุษย์หลัก ๆ ไม่ใช่ “ศรัทธา” ซึ่งจับต้องไม่ได้ในเชิงวัตถุ หากแต่คือการทำมาหาเลี้ยงชีพซึ่งเป็นสภาพทางวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ชนชั้น สภาพเศรษฐกิจและสังคม มันสะท้อนว่าศาสนาเกิดมาในยุคที่มีการผลิตไม่ได้ซับซ้อน การขูดรีดเกิดขึ้นแบบซึ่ง ๆ หน้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป การผลิตซับซ้อนขึ้น ศาสนากลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของชนชั้นปกครอง คำสอนของศาสนาจากชนชั้นปกครองมักบอกให้เรายอมจำนนและยอมรับต่อสภาพที่เป็นอยู่ ให้เชื่อว่ามันเป็นผลกรรมจากชาติก่อนหรือเป็นลิขิตจากพระเจ้าผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ศาสนาจึงเป็นพลังอนุรักษ์นิยมที่ป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการสร้างจิตสำนึกผิดๆ ให้คำมั่นสัญญาเรื่องชีวิตหลังความตายทำให้ผู้คนตั้งตารอนั่นเอง
คนส่วนใหญ่อาจคิดว่ามาร์กซิสต์ต้องการ “ทำลายศาสนา” “จับพระมาไถนา” “เผาวัด” นี่คือข้อกล่าวหาของฝ่ายขวา แม้ว่าการเผาวัดเผาโบสถ์อาจเคยเกิดขึ้นจริง มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับแนวคิดมาร์กซิสม์ แต่เป็นเพราะสถาบันศาสนาในประเทศเหล่านั้นกดขี่ขูดรีดประชาชนและใช้ความรุนแรงในการกระทำดังกล่าว
ถึงเราจะไม่ได้ต้องการจะจับพระสงฆ์มาไถนาหรือเผาโบสถ์ แต่อาจจะกล่าวว่าเราไม่ยอมรับศาสนาได้ในมุมมองปรัชญา ศาสนาทุกศาสนาเป็นเพียงปรัชญาที่ไม่สามารถแก้ปัญหาในโลกปัจจุบันได้ เรามองว่าศาสนาเกิดจากมนุษย์ ดังนั้น ศาสนาถูกสร้างมาจากจิตสำนึกของมนุษย์เอง ซึ่งมนุษย์สร้างมันขึ้นเพื่อพยายามแก้ปัญหาในแง่ต่าง ๆ ในสมัยต่าง ๆ นั่นแสดงว่าความเชื่อทางศาสนาเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย มนุษย์ในยุคแรก ๆ ที่ไม่เข้าใจดินฟ้าอากาศจึงเชื่อในเทพเจ้าหรือเชื่อถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติรอบ ๆ ตัว ในยุคต่อ ๆ มาที่มนุษย์ไม่ต้องพึ่งธรรมชาติมาก มนุษย์ก็พัฒนาความเชื่อให้พ้นกรอบความกลัวต่อธรรมชาติและมีการใช้เหตุผลมากขึ้น ศาสนาในกระแสหลักจึงเกิดขึ้น ในอนาคตศาสนาอาจหายไปจากสังคมได้หากความคิดวิทยาศาสตร์มาแทนที่ มนุษย์ไม่ใช่ปัจเจกโดดเดี่ยวแต่เป็นส่วนหนึ่งของสายใยสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม เราและความคิดของเราเป็นผลผลิตของสังคมนี้ ศาสนาก็เป็นผลผลิตของสังคมที่ใช้กล่อมเกลาคนในสังคมอีกทีหนึ่ง ศาสนาจึงไม่ได้มาจากธรรมชาติและเราดัดแปลงหรือแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม นักมาร์กซิสต์มองว่า ผู้ถูกกดขี่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือต่อต้านและท้าทายความทุกข์บนโลกจริง เพราะมันถามทุกข์ ถามว่าทำไมเราถึงทุกข์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เรายอมรับว่าศาสนามีบทบาทในเชิงบวกเล็กน้อย คือศาสนาเป็นการประท้วง เป็นการสร้างทางเลือกที่ดีกว่าชีวิตปัจจุบัน ซึ่งอาจจะอยู่บนสวรรค์หรืออาจจะอยูในอนาคต แต่จินตนาการถึงทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับชีวิตปัจจุบันของคนเราในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตนี้ ศาสนากล่าวว่าชีวิตนี้ไม่ดีเท่าที่ควร แท้จริงชีวิตนี้เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง
กระนั้น ศาสนาใช้วิเคราะห์โลกทุนนิยมไม่ได้ เพราะศาสนามักให้เราเริ่มต้นจากการวิจารณ์ตนเองก่อน หลังจากนั้นเราก็จะเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นทำตาม แต่มันไม่ได้อธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ของสังคมเลย มันคือการมองเรื่อง “ความดี” หรือ “ความชั่ว” ของมนุษย์ แต่ในโลกจริงเราต้องพิจารณาถึงระบบเศรษฐกิจ สภาพสังคมชนชั้น การมองแบบนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าที่นายทุนต้องการแสวงหากำไรอย่างบ้าคลั่งจนต้องกดค่าจ้างและกดขี่แรงงานที่ไม่ได้มาจาก “ความชั่ว” ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด ปัญหามาจากกลไกของระบบตลาดเองที่บีบให้นายทุนแข่งขันกัน เพื่อขยายกิจการ เพื่อกำไร ผลิตล้นเกินท่ามกลางความยากจน กดขี่ขูดรีด เพื่อปกป้องประโยชน์สืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่นของชนชั้นปกครอง ด้วยเหตุนี้ การปลุกจิตสำนึกการต่อสู้ทางชนชั้น และการรวมตัวกันของชนชั้นแรงงานผู้ถูกกดขี่ ประท้วงนัดหยุดงานจึงสมเหตุสมผลกว่าการใช้ศาสนา
****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6