Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

การยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม

โดย กองบรรณาธิการ

จากกระแสการผลักดันยกเลิกหนี้ กยศ.และข้อเรียกร้องเรียนฟรีถ้วนหน้าของศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ซึ่งกำลังล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาให้แก้ไขกฎหมาย ยกเลิกหนี้คงค้างนักศึกษาที่เรียนจบครบ 2 ปีและให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทน โดยมองว่าการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรขยายไปถึงระดับอุดมศึกษา และปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาที่การศึกษามีราคาแพงจน ทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดี ซึ่งพวกเสรีนิยมไม่เห็นด้วยจำนวนมาก และตอบโต้บนโลกออนไลน์อย่างร้อนแรง โดยมองว่าเป็นหนี้ก็ต้องชำระ ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้กู้รุ่นก่อนๆ

ต่อกรณีนี้ เรามองว่า การยกหนี้ของเงินกู้ยืม ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม ผิดธรรมชาติ หรือผิดวินัยทางการคลังแต่อย่างใด เช่น ในวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ที่มีการตั้งคณะกรรมการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับบริษัทเอกชน การยกหนี้ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) และหนี้ครัวเรือนอื่นๆ ไปจนถึงเพิ่มค่าจ้างแก่แรงงานท่ามกลางปัญหาวิกฤติเงินเฟ้อล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่ในสังคมเป็นหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ที่เกิดจากการที่รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เพื่อรักษาระดับคุณภาพชีวิตที่ดี คนที่วิจารณ์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะอ้างเรื่องวินัยการคลัง หรือเรื่องอื่นๆ มักจะมีจุดยืนว่า คนจนต้องพอเพียงและต้องช่วยเหลือตนเอง ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง

หนี้ต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ไม่ใช่เฉพาะคนที่เป็นหนี้ แต่สภาพสังคมโดยรวมดำรงชีวิตด้วยความกดดัน ตึงเครียด มีอาชญากรรมสูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง ดังนั้น การเสนอให้ยกเลิกเฉพาะหนี้ กยศ. และการเรียนฟรีถ้วนหน้าไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาให้กับคนจน และสร้างประสิทธิภาพในการสร้างสวัสดิการ เช่น เรียนฟรี แต่เด็กๆ ไม่มีที่ซุกหัวนอน จะเอาสมาธิที่ไหนมาเล่าเรียน หรือต้องไปช่วยพ่อแม่ที่ยากจนทำงาน นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวประเด็นเดียวจะทำให้สร้างแนวร่วมได้ไม่มากพอ ในขณะที่เราก็ต้องปะทะกับชนชั้นปกครองที่มีสรรพกำลังมาก

เราจึงต้องเชื่อมโยงประเด็นปัญหาอื่นด้วย เช่น ถ้าต้องการให้การศึกษาของเยาวชนมีประสิทธิภาพ ต้องฟรีและมีคุณภาพเท่าเทียมกันทุกแห่ง ประชาชนทุกคนต้องมีบ้านพักให้เช่าราคาถูกคุณภาพดี เด็กๆ มีเงินเดือนสำหรับการศึกษา ค่าจ้างของพ่อแม่และครูต้องมากพอสำหรับดูแลทั้งครอบครัว ชั่วโมงการทำงานต้องไม่มากจนเกินไป เป็นต้น ถ้าจะทำแบบนี้ได้ ก็ต้องมีการเรียกร้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าพร้อมกับการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากคนรวยบริษัทขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพราะงบประมาณปัจจุบันไม่เพียงพอในการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่จะต้องต่อสู้กับนายทุนทั้งชนชั้นที่ควบคุมอำนาจรัฐดังนั้น ถ้าไม่สามารถประสานความร่วมมือกันทั้งสังคมจะเอาชนะไม่ได้ การเชื่อมประเด็นต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น การแยกเคลื่อนไหวเป็นประเด็นย่อยๆ จะสร้างความอ่อนแอให้กับขบวนการต่อสู้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้ากับขบวนการแรงงานที่มีอำนาจแฝงในใจกลางของระบบทุนนิยม เช่น ต้องการมีการขนส่งฟรี เป็นการลดค่าใช้จ่ายแก่คนทำงาน การเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อทัน ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า จะไม่มีลูกจ้างคนไหนถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือการผลักดันให้คนทุกคนได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาล เงินชรา เฉกเช่นเดียวกับข้าราชการ สำหรับการณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อยกร่างกฎหมายใหม่และยื่นต่อรัฐบาลและพรรคการเมืองในสภา รวมถึงการเข้าไปพูดคุยเจราจากับนักการเมือง ที่เรียกว่า การล็อบบี้ ด้านหนึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการปล่อยให้รัฐบาลและพรรคการเมืองกระแสหลักตัดสินใจกันเอาเอง ซึ่งไร้พลังอำนาจในการกดดัน ในประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า สวัสดิการทางสังคมต่างๆ เช่น การเรียกร้องเงินสงเคราะห์การคลอดบุตร ,การต่อสู้เพื่อสิทธิในการลาคลอด 90 วัน,การประกันการว่างงาน หรือกฎหมายประกันสังคมมาจากการต่อสู้ของคนงาน ไม่ได้มาจากนายทุนยกให้ หรือที่สวีเดนในช่วงที่การรักเพศเดียวกันถือว่าเป็นอาการป่วยตามกฎหมาย มีการนัดหยุดงานโดยรายงานต่อที่ทำงานว่ารู้สึกเกย์นิดหน่อย จึงขอลาป่วย ซึ่งสามารถกดดันให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวได้

**************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com